ต้อนรับทีมงานโรงพยาบาลร้องกวาง


ถ้าหน่วยงานไหน เจ้าหน้าที่สามารถทำงานไปได้โดยอัตโนมัติและสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าแล้วก็ถือว่าเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้แล้ว

            ผมได้รับการติดต่อจากพี่ทศเทพ ผอก. รพ.ร้องกวาง จ.แพร่ ว่าจะนำทีมงานโรงพยาบาลร้องกวาง มาทำกิจกรรมโอดี ที่เขื่อนภูมิพลและก่อนกลับจะแวะมาเยี่ยมเยียนโรงพยาบาลบ้านตาก ในวันที่ 18 ธันวาคมซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ผมก็ตอบตกลงไป

            วันนี้ 18 ธันวาคม ผมตื่นสายหน่อยประมาณ 7 โมงเช้า ก็ได้เข้าอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งบันทึกจนถึง 8 โมงครึ่ง ก็ได้ทานอาหารเช้าแล้วก็ไปที่คลินิก ประมาณ 9.30 น. ภรรยาได้โทรบอกว่า ทีมงานของโรงพยาบาลร้องกวางมาถึงแล้ว ผมก็เลยปิดคลินิกเพื่อมาต้อนรับ

                ทางโรงพยาบาลร้องกวาง มาแวะเยี่ยมเยียนถึง 103 คน นำโดยท่านผอก.โรงพยาบาล โดยทางศูนย์คุณภาพได้จัดทีมต้อนรับไว้ 5 คน มีเอ้ ป้อม ปู ยอมและพี่เจ๊ก ก็ได้มีการพูดคุยเล่าสู่กันฟังสั้นๆในห้องประชุม ทราบว่าทางโรงพยาบาลร้องกวางผ่านHAได้ 1 ปีแล้ว การมาครั้งนี้จึงมาเหมือนการทำBenchmarkingกัน

                ผมเองได้เล่าเกี่ยวกับโรงพยาบาลบ้านตากสั้นๆ และได้ทราบว่าทางร้องกวางอยากรู้ว่ามีการกระตุ้นอย่างไรไม่ให้กิจกรรมคุณภาพตกลงหลังจากได้รับการรับรองแล้ว ซึ่งผมก็ได้เล่าถึงที่อาจารย์หมอรณชัย ได้บอกไว้ว่า Internal Surveyor มีความสำคัญมากในการคงสภาพกิจกรรมคุณภาพ และผมก็เน้นย้ำในเรื่องการเขย่าองค์กรอย่าให้หยุดนิ่งด้วยการนำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆเข้ามาร่วมเช่นKM, TQA, Benchmarking เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอก็คือกิจกรรม 5 ส ที่แท้จริงที่ไม่เน้นFormat แต่เน้นผลที่ลงลึกถึงเนื้องานประจำ

                พี่ทศเทพ เล่าให้ฟังว่า โรงพยาบาลร้องกวาง เป็น รพ.ขนาด 30 เตียง มีเจ้าหน้าที่ 160 คน อยู่ไม่ห่างจากตัวจังหวัดนัก เจ้าหน้าที่เกือบครึ่งเป็นคนอำเภอเมือง  สภาพอำเภอไม่ค่อยเป็นชนบทนัก พี่เขาบอกว่าดูแล้วของบ้านตากดูชนบทกว่า(บ้านนอกกว่า)  บริบทอื่นๆของร้องกวางก็คล้ายๆกับบ้านตากแต่เราเป็น 60 เตียง มีเจ้าหน้าที่ 155 คน อยู่ห่างเมืองแค่ 24 กิโลเมตร

                มีคำถามจากเจ้าหน้าที่ รพ.ร้องกวางเกี่ยวกับการทำระบบPaperless ว่ามีปัญหาอะไรไหม ผมตอบว่า ไม่ว่าจะทำอะไร มีปัญหาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เรามองที่ปัญหาที่เกิดหรือมองที่ผลดีที่ได้ และมีคำถามเกี่ยวกับองค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ซึ่งผมได้บอกสั้นๆว่า ถ้าหน่วยงานไหน เจ้าหน้าที่สามารถทำงานไปได้โดยอัตโนมัติและสร้างสรรค์ผลงานที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าแล้วก็ถือว่าเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้แล้ว

                ประมาณ 10.35 น. ก็ได้พาทีมเดินดูโรงพยาบาล บางส่วนก็เข้าประจำตามฝ่ายที่เขาต้องการ ประมาณ 11.00 น. ก็เดินทางกลับ

                ผมก็เดินทางไปพิษณุโลก โดยขับรถไปเอง ถึงพิษณุโลกประมาณบ่ายโมงครึ่ง ไปเตรียมขึ้นเครื่องบินเพื่อไปกรุงเทพฯและต่อไปหาดใหญ่เพื่อบรรยายและร่วมกิจกรรมการจัดการความรู้ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีก 10 นาทีก็จะขึ้นเครื่อง ได้รับโทรศัพท์จากเลขานุการคณบดีว่าขอเลื่อนไปก่อนเนื่องจากน้ำท่วมหาดใหญ่ ผมก็เลยรีบไปขอบกเลิกการเดินทางและเลื่อนไปก่อน แต่ถ้าช้าไปสัก 10 นาที ผมคงได้บินไปกลับกรุงเทพฯ-พิษณุโลกแน่ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ฉุกเฉินและคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และก็ดีไปอย่างเพราะถ้าผมเดินทางไปหาดใหญ่จริง แม่และภรรยาคงนอนไม่ค่อยหลับแน่ ผมเลยขับรถไปร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือเรื่องThailand Stand up ของ ดร. สุวิทย์เพราะหาซื้อที่ตากแล้วไม่มีขาย แล้วก็ขับรถกลับมาถึงตาก 16.30 น.

               ดร.สุวิทย์ เมษินสีห์ เป็นเภสัชกร แล้วไปจบMBA นิด้า เป็นศิษย์ของ ดร.สมคิดและจบปริญญาเอกที่อเมริกา เป็นศิษย์เอกของอาจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ทางด้านการตลาดที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 10263เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท