ThaiLivingWill
โครงการ ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

อนุทิน 38747


ThaiLivingWill
เขียนเมื่อ

เราจะตายกันอย่างไร

drops

 

 

อาจเป็นคำถามที่ใครหลายคนไม่อยากตอบ ซ้ำไม่อยากแม้กระทั่งจะได้ยิน แต่ความตายเป็นกระบวนการหนึ่งของการมีชีวิต ดังปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าว่า “หากเราโอบกอดชีวิต เราจำต้องโอบกอดความตายด้วย เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”


ในช่วงหนึ่งของเวทีรับฟัง ฯ จึงมีกิจกรรม “ชวนคิดชีวิตในวาระสุดท้าย” เพื่อชวนให้ผู้เข้าร่วมหันกลับมามองความตายในตัวเอง โดยลองพินิจดูว่า หากเรารู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน จะรู้สึกอย่างไร และหากเลือกได้ เราปรารถนาจะจบชีวิตลงด้วยภาวะและความรู้สึกเช่นไร

ในวาระสุดท้ายของ ชีวิตที่กำลังจะปลิดปลิว ดูเหมือนว่าสิ่งที่เหลือให้ยึดเหนี่ยวไว้ คือ ศาสนาธรรม ความดีที่เคยทำ ความรู้สึกอิ่มใจในบางเรื่อง

ผู้เข้าร่วมจำนวนมากสะท้อนความปรารถนาที่จะจากไปอย่างสงบมีสติ ไม่ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ หลายคนยังระบุอีกด้วยว่า ต้องการการจะเสียชีวิตที่บ้านในบรรยากาศที่สงบและอบอุ่นท่ามกลางหมู่ญาติ มิตรที่คุ้นเคย ได้มีโอกาสสั่งเสีย ล่ำลา ขอขมาลาโทษกัน

อีกหนึ่งความปรารถนาที่พูดถึงกันมากในวงสนทนา คือ ไม่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อยื้อชีวิต เช่น การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจในกรณีที่สภาพร่างกายไม่ไหวแล้ว การใส่ท่อต่างๆ ตามร่างกายเพื่อให้อาหาร ดูแลการขับถ่าย ทั้งหมดทั้งปวงเพียงเพื่อยื้อสัญญาณชีพไว้ แต่ละเลยมิติทางจิตใจ หลายคนยังย้ำอีกด้วยว่า ไม่ต้องการนอนอยู่ในห้อง ไอซียู จนสิ้นลมเพราะบรรยากาศในนั้นโดดเดี่ยว อ้างว้าง อยู่ท่ามกลางเครื่องมือทางการแพทย์ และบุคคลที่ไม่คุ้นเค

คุณ เสาวนีย์ ข้าราชการเกษียณซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกในชมรมไทเก๊ก หาดใหญ่ เป็นคนหนึ่งที่เลือกปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิต “พี่สาวของเพื่อนดิฉันซึ่งอยู่ในวัยชราแล้ว ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหาร เมื่อการเข้าสู่ระยะสุดท้าย พี่สาวเธอบอกว่า พร้อมจะตายแล้ว น้องสาวซึ่งดูแลกันอยู่มานานเข้าใจและเคารพเจตนารมณ์ของพี่ จึงดูแลกันตามอาการ ไม่ไปหาหมออีกให้รั้งหรือยื้อชีวิตไว้ เพราะเท่ากับยื้อความทรมานกาย พี่สาวจากไปในระยะเวลาไม่นาน ไม่ทุกข์ทรมานมาก”

ในอดีต การตายมักเกิดขึ้นที่บ้าน ปู่ย่าตายายจากไปท่ามกลางลูกหลาน มีพระสวดเทศน์นำทาง แต่ในปัจจุบันคนเราไม่ได้ตายง่ายดายเช่นนั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้ชีวิตเรายืนยาวขึ้น หลายครั้งช่วยกู้ชีวิตในยามวิกฤต เช่นอุบัติเหตุ แต่หลายกรณี เทคโนโลยีอย่างเดียวกันนี้กลับยื้อความตาย ความทุกข์ทรมานให้ยาวนานออกไป สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาล บางครอบครัวถึงกับต้องเป็นหนี้สินหรือล้มละลาย

รศ. นพ. เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมีกล่าวถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิตว่า ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์หรือไม่จำเป็นเสียทีเดียว คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายว่า เรายื้อชีวิตไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร

“การ ใส่ท่อช่วยหายใจยื้อชีวิตไปอีกหนึ่งวัน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคนสำคัญได้เจอกัน ล่ำลา ก็มีประโยชน์และมีความหมายสำหรับผู้ป่วยและญาติคนนั้น แต่การยื้อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความหมายอาจเพิ่มความทรมานกายและใจให้ผู้ป่วยและญาติได้” รศ. นพ. เต็มศักดิ์ กล่าว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท