อนุทิน 28925


วิทยุชุมชนคนพลังงาน 100.25
เขียนเมื่อ

ประวัติตำบลผาปัง

            จากการค้นคว้าประกอบกับประวัติตำบลผาปังเดิมของอาจารย์ไพบูลย์ คันธะชมพู อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านผาปังฯ ได้เล่าไว้ในแว่นส่องผาปังหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพของหลวงพ่อพระครูวิจิตรพัฒนคุณอดีตเจ้าอาวาสวัดผาปังหลวง ได้เล่าไว้ว่า

            ตำบลผาปัง เป็นตำบลเล็กๆที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาอย่างโดดเดี่ยวและเป็นทางตันที่ไม่อาจเดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อจะผ่านไปยังอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนได้ทั้งที่อยู่คนละฟากของภูเขา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ดอยอานม้า และ ดอยหลวง ขุนเขาทั้งสองลูกนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของผาปังและเชื่อกันว่า เหตุที่ชื่อผาปังก็สืบเนื่องมาจากขุนเขาที่เป็นภูเขาหิน เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากเหตูแผ่นดินไหวหรือฝนตกซะพื้นดินมากๆ จึงทำให้หินกร่อนและเมื่อถูกนี้กัดเซาะนานวันเข้าจึงได้พังทลายลงมา (ปัง เป็นภาษาคำเมือง หมายถึง พัง)

            ตำบลผาปังมีเนื้อที่ประมาณ ๘๑ ตารางกิโลเมตร มีลำห้วยแม่ปุรวมกับห้วยผาปัง ไหลผ่านหมู่บ้าน ลำห้วยแม่วอดไหลผ่านทิศเหนือ ห้วยแม่ขยากไหลผ่านทิศใต้ มีประชากรทั้งสิ้น ๑๙๖๘ คน (สำรวจเมื่อปี ๔๙) มีวัด ๓ วัด มี ๕ หมู่บ้าน และมี ๑ โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีถนนสายเถิน-ผาปัง ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตรติดต่อกลับตลาดในอำเภอเถินและใช้เป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปเมืองใหญ่ ตำบลผาปังอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่พริกไปทางทิศเหนือ ๒๔ กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกทางลาดยางตลอดสาย มีทางเข้าออกอยู่สองเส้นทาง คือ ทางอำเภอแม่พริก-ตำบลผาปังและตำบลผาปัง-อำเภอเถิน

            ตำบลผาปังจึงบริสุทธิ์ด้วยสภาพอากาศที่ดีเยี่ยม มีทิวทัศน์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยหลายแห่งที่ถือเป็นจุดขายของตำบลผาปังและประการสำคัญพื้นที่ในตำบลผาปังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดโคน เห็ดเผาะ และเห็ดอีกหลายชนิดที่ทำให้เศรษฐกิจของผาปังดีขึ้นรวมไปถึงสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่จัดว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ อึ่ง แย้ อีกทั้งผักป่าพื้นบ้านเมื่อฝนโปรยปรายลงมา อาหารจากฟ้าประเดประดังมาให้ชาวผาปังต้องมีร้อยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุขจากอาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกก้าน ผักหวาน ผักก้อแก้ ผักบอนเต่า ฯลฯ

            แม้ผาปังจะอยู่ในหุบเขา แต่ทว่าเทคโนโลยีมีมาถึงหุบเขาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต สถานีวิทยุชุมชนคนพลังงาน คลื่นเอฟเอ็ม ๑๐๐.๒๕ เมกะเฮิทซ์ เปิดรับฟังได้เมื่อคุณเดินทางมาถึงปากทางเข้าเขื่อนภูมิพล คนผาปังส่งเสริมการศึกษาให้นักเรียนมีการเรียนต่อร้อยเปอร์เซ็นต์ คนผาปังชอบเรียนหนังสือมีฝีมือในการทำงาน พ่อแม่นิยมส่งลูกๆ ไปเรียนต่อในระดับประถมจนถึงระดับปริญญาเอก คนผาปังจึงมีความสุขอยู่ท่ามกลางธรรมชาติตามอัตภาพ

            จากการเล่าต่อๆกันมาของบรรพบุรุษว่า รากเหง้าของคนผาปังมาจากคนบ้านท่าหลวง อำเภอเถิน แล้วคนบ้านท่ามาจากไหน บ้างก็บอกว่ามาจากเชียงใหม่ ตอนปลายสมัยอยุธยาหรือต้นธนบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงขับไล่พม่าออกจากอาณาจักรล้านนาแล้วกวาดต้อนผู้คนจากเชียงแสน,จากสิบสองปันนา (ไทลื้อ) มาไว้แถบลำปาง เชียงใหม่ เถิน ฯลฯ เป็นต้น

คนรุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลผาปัง ที่มาจากบ้านท่าหลวงชื่อ เจ้ากุ เจ้าสาดและส่วนหนึ่งที่มากตั้งรกรากอยู่ที่วัดห้วยไร่ (มีประวัติอยู่ที่วัด สันนิฐานว่าพวกนี้มาอยู่ก่อนคนตำบลผาปังหมู่ 2)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท