อนุทิน 25172


กวิน
เขียนเมื่อ

จากพระคาถา ปราภวสุตตปาฐะ มีท่อนหนึ่งบาลีกล่าวเอาไว้ว่า สุวิชา โน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว แปลว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม ใน คัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค กล่าวไว้ว่า ทุชฺชาโน สมโณ ทุชฺชาโน พรฺาหฺมโณ สมัยก่อนแปลว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม  แต่ท่าน ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) เสนอว่า

คำบาลี ในพระไตรปิฎกฉบับ ทยฺยรฏฺฐสฺส สงฺคีติเตปิฏกํ คำว่า สุวิชา โน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว ได้แก้ใหม่เป็น สุวิชา โน ภวํ โหติ สุวิชาโน ปราภโว และพระไตรปิฎกฉบับหลวง พิมพ์ครั้งที่ 4 ก็ได้แปลว่า ผู้เจริญก็รู้ง่าย ผู้เสื่อมก็รู้ง่าย คณะกรรมการชำระพระไตรปิฎกได้ตรวจทานกับพระไตรปิฎกภาษาบาลีของประเทศอื่นคือฉบับของศรีลังกา ฉบับของพม่า และฉบับของ สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) และตามแนวคำอธิบายของอรรถกถาแล้ว จึงได้แก้ไขคำบาลีที่ว่า ทุวิชาโน ปราภโว เป็น สุวิชาโน ปราภโว ทั้งนี้เพราะตามหลักไวยากรณ์แล้วคำว่า สุวิชาโน จะแปลว่า ผู้รู้ดี และ ทุวิชาโน จะแปลว่า ผู้รู้ชั่ว ไม่ได้ คำว่า สุวิชาโน จะต้องแปลว่า อันบุคคลรู้ได้ง่าย หรือ ความรู้ดี เท่านั้นและ คำว่า ทุวิชาโน จะต้องแปลว่า อันบุคคลรู้ได้โดยยาก หรือ ความรู้ชั่ว (ไม่มีความรู้) ถ้าแปลคำว่า ทุวิชาโนว่า ผู้รู้ชั่ว หากไปพบคำบาลีลักษณะนี้เช่นใน คัมภีร์ทีฆนิกายสีลขันธวรรค ที่ว่า ทุชฺชาโน สมโณ ทุชฺชาโน พรฺาหฺมโณ ก็ต้องแปลว่า ผู้รู้ชั่วเป็นสมณะ ผู้รู้ชั่วเป็นพราหมณ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะถ้าแปลอย่างนี้ปัญหาก็จะมีว่า แล้วผู้รู้ดีจะเป็นอะไรเล่า คำบาลีในที่นี้จะต้องแปลว่า สมณะรู้ได้ยาก พราหมณ์ก็รู้ได้ยาก  การที่จะรู้ว่าใครคือสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ที่แท้นั้น ต้องอยู่ใกล้ชิดนานๆ ดังคำบาลีที่ว่า ทุชฺชาโน สมโณ ทุชฺชาโน พรฺาหฺมโณ สมณะรู้ได้ยาก พราหมณ์ก็รู้ได้ยาก นากจากนั้นคำในบาลีใน อรรถกถา มัชฌิมนิกาย ที่ว่า เอวํ ทุชฺชานา อาวุโส อริยา แปลว่า อริยบุคคลทั้งหลายรู้ได้โดยยาก แต่ถ้าแปลคำว่า ทุชฺชาโน (เอกพจน์) ทุชฺชนา (พหูพจน์) ว่าผู้รู้ชั่ว ก็ต้องแปล บาลีนี้ว่า พระอริยบุคคลเป็นผู้รู้ชั่ว (ไม่มีความรู้) หรือ ผู้รู้ชั่ว (ไม่มีความรู้) เป็นพระอริยบุคคล หรือคำบาลีใน อรรถกถา อังคุตนิกาย ที่ว่า กุทฺธา นาม สุวิชานา โหติ ธรรมดาว่าคนที่โกรธแล้ว เป็นผู้ที่ใครๆก็รู้ได้โดยง่าย (คนโกรธมีอาการหน้าแดง คิ้วขมวด ตาแข็งกร้าว พอมองเห็นก็รู้ว่าโกรธนั่นเอง) ถ้าแปล สุวิชาโน (เอกพจน์) หรือ สุวิชานา (พหูพจน์) ว่า ผู้รู้ดี ข้อความในบาลีประโยคนี้ก็ต้องแปลว่า ผู้รู้ดีเป็นผู้มักโกรธ หรือ ผู้มักโกรธเป็นผู้รู้ดี ซึ่งเป็นการแปลที่ไม่ถูกต้อง สรุป สุวิชาโน ต้องแปลว่า อันบุคคลรู้ได้ง่าย ไม่ใช่แปลว่า ผู้รู้ดี ทุวิชาโน ต้องแปลว่า อันบุคคลรู้ได้โดยยาก ไม่ใช่แปลว่า ผู้รู้ชั่ว การที่คระกรรมการผู้ตรวจทานพระไตรปิฏกได้แก้ไขคำบาลีที่ว่า ทุวิชาโน ปราภโว เป็น สุวิชาโน ปราภโว นั้นถูกต้อง แล้ว แม้ในพระไตรปิฎกของไทยเองก็ไม่ตรงกันคือ ฉบับทองทึบ จารึกอักษรขอมลงบนใบลาน ถอดเป็นไทยได้ว่า สุวิชาโน ภวํ โหติ สุวิชาโน ปราภโว แต่ ฉบับล่องชาด (ทาสีแดง) ได้จารอักษรขอมถอดเป็นไทยว่า สุวิชาโน ภวํโหติ ทุวิชาโน ปราภโว แม้ของไทยเองก็ไม่ตรงกัน แต่เมื่อได้เทียบกับของฉบับศรีลังกา พม่า และของสมาคมบาลีปกรณ์ คณะกรรมการผู้ตรวจชำระสอบทานพระไตรปิฏกจึงได้แก้ไขคำบาลีเป็น สุวิชาโน ปราภโว และแก้ไขคำแปลเป็น ผู้เสื่อมก็รู้ง่าย

กวินไม่เห็นด้วยกับทรรศนะของ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) ที่แปลพระคาถาบาลีใหม่เช่นนี้ เพราะจะทำให้ คนสมัยนี้ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี และมักง่ายๆ หรือมองเพียงง่ายๆ ว่าใครคือผู้เจริญ และใครคือผู้ที่เสื่อมจากความเจริญ เท่านั้น

แต่ก็ยังดีที่ท่านยกพระคาถาบาลีบทที่ว่า กุทฺธา นาม สุวิชานา โหติ มาประกอบด้วย อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผู้อ่านได้ อนุสติ ที่ว่า โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่าจะได้ไม่บ้าไม่โง่

กวินตระหนักดีว่า กวินนั้นเป็นเพียง นักวิชาการศึกษา ธรรมดาๆ คนหนึ่ง จึงยังไม่มี บารมีแก่กล้า พอที่จะไปเถียงกับ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้เป็น ราชบัณฑิต (ปล. บารมีแก่กล้า ถึงกวินจะยังไม่ แก่ แต่ก็ยังพอมีความ กล้า นะเออ นับได้ว่า มี 1 ใน 3 แล้ว)



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท