อนุทิน 25099


wwibul
เขียนเมื่อ

นั่งดูฟายน์แมนเล็กเชอร์เรื่อง QED เป็นรายการที่เขาไปพูดที่นิวซีแลนด์ (1979) แล้วมีการอัดบันทืกเป็นวีดิโอไว้ แบ่งเป็นสี่ตอน เพิ่งดูไปได้ราวหนึ่งชั่วโมง แล้วแสบตาจนต้องหยุดพักไว้ก่อน แต่เป็นรายการบรรยายที่มันส์มาก เขาสะท้อนทัศนคติของการเป็นผู้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง

เขาออกตัวว่า QED เป็นหัวข้อที่ยากมาก แม้เขาเองสร้างทฤษฎีที่ช่วยให้คำนวณได้แม่นระดับเลขนัยสำคัญสิบกว่าหลัก (จนได้รางวัลโนเบลจากทฤษฎีนี้) แต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจเพิ่มหรอกว่า ธรรมชาติเบื้องหลังว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น เขาเพียงแต่ค้นพบหลักการคำนวณเท่านั้นเอง

ผลคือ เวลาเขาสอนเรื่องพวกนี้ นักศึกษาก็จะบ่นว่า โห เรียนเกือบตาย ทำไมยังไม่เข้าใจซักทีว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะปลอบว่า อย่าว่าแต่พวกคุณไม่เข้าใจเลย ผมสอนเกือบตาย ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน (ฮา)

เขายกตัวอย่างเรื่องชนเผ่ามายา (ฟายน์แมนมีงานอดิเรกเรื่องการอ่านจารึกระบบคณิตศาสตร์ของชาวมายา)

เผ่านี้ หมกมุ่นกับดาวพระศุกร์มาก ระบบตัวเลขทางดาราศาสตร์ของเผ่านี้วนเวียนเกี่ยวข้องกับดาวพระศุกร์ เฝ้าดูดาวพระศุกร์ ดูเช้า ดูเย็น ดูจนทำนายได้ว่าวันไหนจะเห็นตรงไหน เห็นเวลาเท่าไหร่ ทุกกี่สิบกี่ร้อยปีต้องมีการปรับแก้ความคลาดเคลื่อนยังไง ทำนายได้หมด แต่ท้ายสุด ก็ไม่ได้อธิบายอะไรเลยว่า ทำไมดาวพระศุกร์จึงประพฤติตัวพิลึกแบบนั้น

เผ่ามายาคล้ายกับเผ่าไทยสยามยังไงก็ไม่รู้ หมกมุ่นกับดาวพระศุกร์พอกันเลย ฉายกี่รอบ ๆ ก็รอเฝ้าดู จอเงินจอแก้ว ดูกันได้ดูกันดี :)

(ผมขอทำนายไว้ตรงนี้เลยว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะมีดาวพระศุกร์ลงจอแก้วโคจรมาให้ดูอีกรอบ...)

ฟายน์แมนบอกว่า หากเรารู้สึกขัดใจว่า เอ ทำไมธรรมชาติมีพฤติกรรมพิลึก ๆ ทำไมไม่ใช้กฎธรรมชาติที่ไม่ซับซ้อน เราก็มีทางเลือกไม่กี่ทางเท่านั้นเอง คือ ปิดหูปิดตาไม่สนใจพฤติกรรมที่พิลึก ๆ ที่ว่า  หรือหนีไปอยู่จักรวาลอื่นที่ธรรมชาติตรงไปตรงมาไม่พิลึกอย่างนั้น ... หรือไม่ก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นอย่างนี้ ช่วยไม่ได้ ทำใจให้สนุกที่จะเรียนรู้มัน แล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

เป็นข้อคิดที่เอาไว้ใช้เวลาเจอกับ persona non grata ได้ดีทีเดียว

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท