อนุทิน 24214


กวิน
เขียนเมื่อ

สวัสดีครับ คนไม่มีราก  @24164 + 217109 

บทความทางวิชาการเรื่อง มายาคติในความหมายของความยากจน ตอนที่ 1 ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ สามชาย ศรีสันต์ (เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4 เป็นบทความลำดับที่ 1371) ท่อนที่ว่า

"ก่อนสังคมอุตสาหกรรม การมอง ความยากจน นั้น เป็นการช่วยเหลือคนจนด้วยความเมตตา เป็นการ ทำบุญ ให้ทาน ซึ่งคนจนพึงได้รับจากสังคม ระบบค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อรับเอาการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มาใช้ คนจนกลายเป็นคนที่สมควรได้รับการตำหนิ เป็นคนที่ไม่รู้จักพอ ไร้ศีลธรรม เป็นคนบาป และเป็นผู้ถูกลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งเป็นมุมมองในตอนต้นของสังคมทุนนิยม แนวคิดนี้ทำให้ คนจนเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่สมควรคบหาสมาคมด้วย โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดกลุ่มทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ ที่มองว่าคนยากจนคือคนที่บกพร่องในการทำหน้าที่ต่อสังคม เป็นบุคคลที่ไม่ทำงาน ขี้เกียจ และสมควรจะถูกลงโทษหรือขจัดให้หมดสิ้นไปจากการเลือกสรรโดยสังคม อันมีพื้นฐานจากแนวคิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในสังคม (social Darwinism) ผู้ที่แข็งแรงกว่า ขยัน ฉลาด คือผู้สมควรสืบทอดเผ่าพันธุ์ และผู้ที่จน โง่ ขี้เกียจก็ไม่สมควรอยู่ (Feagin and Feagin 1997, pp. 97) การสร้างความหมายให้กับคนยากจนจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่สมควรได้รับความช่วยเหลือด้วยความเมตตา หรือความมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป"

บทความทางวิชาการเรื่อง มายาคติในความหมายของความยากจน ตอนที่ 1 ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ สามชาย ศรีสันต์ สะท้อนภาพให้เราเห็น และเข้าใจ คำว่า ความยากจน/คนยากจน ได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ภาพสะท้อนของการ พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ปรากฎให้เห็นแก่ตาของกวิน เมื่อครั้งที่ห้าง BigC กำลังก่อสร้างที่เมือง นครสวรรค์ กวินได้แต่งโคลงสะท้อนภาพ นั้นเอาไว้ ว่า

Big Cancer@184470

เสาเข็มเต็มตรอกสร้าง          บิ๊กซี (Big Cancer)
เสียงปะทะปถพี-                  ภพก้อง
บอกบ่ง*ว่าทุนนี-                  ยมรุ่ง..เรืองแฮ
โชห่วยโหมไห้ต้อง               หมดเนื้อหมดตัว

คน..มัวเมาเค่าห้าง               อาบแอร์
คน..มากหนอจอแจ              จ่ายซื้อ
คน..โตโธ่ตอแหล                 รักชาติ
คน..ใหญ่ใจซื่อบื้อ                บ่คุ้มครองไทย

พิษภัยเศรษฐกิจล้น               เรื้อรัง
ควรใคร่ครวญระวัง               ค่ำเช้า
สาวเอยหนุ่มเอยยัง               มีเรี่ยว..แรงเอย
อย่าย่อกายกราบเท้า            ฝรั่งแล้วลืมเมือง

*บอกบ่ง-บ่งบอก

สมัยก่อนกวิน เคยเป็นนักศึกษาฝึกงาน โดยเลือกฝึกงานที่ สำนักงานประชาสงเคราะห์ประจำจังหวัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด การที่เราต้องลงพื้นที่ ทำให้เราได้รู้จักกับความยากจน ได้เห็นคนยากจน ทำให้ชีวิตเกิดความตระหนักรู้ เวลาที่ได้กินอาหารดีๆ ก็จะฉุกคิดในใจว่า ในขณะที่เรามีกินนี้ ยังมีคนที่ไม่มีข้าวจะกินหนอ? ที่เคยชอบเที่ยวผับเที่ยวบาร์ ก็ทำให้เบื่อๆ ไม่อยากเที่ยว จากที่เคยชอบไปดูหนัง ฟังเพลง ดูคอนเสิร์ต ก็ไม่ชอบไปเหมือนแต่ก่อน ต่อๆ มา ก็สามารถ ลดละเลิกได้ในที่สุด จนกระทั่งปีนี้ทั้งปียังไม่ได้เข้าผับเข้าบาร์เลย เสื้อผ้าที่เดี๋ยวซื้อๆ ก็ไม่ค่อยซื้อ มีอะไรก็ใส่ๆ ไปตามมีตามเกิด เพราะฉุกคิดอยู่ในใจตลอดว่า ยังมีคนยากคนจน อีกมากที่เขา ใส่เสื้อผ้าปอนๆ มอมๆ แมมๆ เวลาจะซื้อเสื้อผ้าก็จะเห็นภาพคนยากคนจน มาเตือนสติทุกครั้ง ทุกวันนี้ได้มีโอกาสเดินเข้าห้าง อยู่เหมือนกันแต่ไม่บ่อย เดินในห้างแล้วก็สะท้อนใจว่า เออ คนสมัยนี้ (รวมทั้งตัวเองด้วย) มีเวลาเข้าห้าง แต่ไม่มีเวลาเข้าวัด หนอ? 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท