อนุทิน 24027


กวิน
เขียนเมื่อ

สุนัย เศรษฐบุญสร้าง แสดงทรรศนะส่วนตัวไว้ในบทความที่ชื่อ คำให้การกรณีสันติอโศก ปรากฎอยู่ในท้ายเล่มของหนังสือ "การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพุทธศาสนาในสังคมไทย" หน้า 163-164 ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ความว่า

ความรู้ที่เป็นการคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์) พระพุทธองค์ตรัสบรรยายถึงถึงลักษณะของความรู้ที่สูงขึ้นไป ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบของสมมุติสัจจะ และเข้าใกล้สัจจะความจริงมากขึ้นในระดับนี้ไว้ว่า "เมื่อเขากล่าวว่า ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้ มีความเห็นถูกอย่างนี้ มีการเล่ามาอย่างนี้ มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้ มีความเห็นตามทฤษฎีของตนอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเขายังคุ้มครองสัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นอย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งสิ้น) ไม่ได้ก่อน ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ชื่อว่ามีการคุ้มครองสัจจะ" (สมณะโพธิรักษ์ เรียกความรู้ในระดับนี้ว่า ความรู้ในความจริง) ความรู้ในระดับที่เป็นการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธิ) พระพุทธองค์ตรัสบรรยายลักษณะของความรู้ที่เข้าใกล้สัจจะความจริงขึ้นไปอีกในระดับนี้ว่า เมื่อได้ยินข่าวว่า "มีภิกษุเข้าไปอาศัยในหมู่บ้าน หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คหบดีก็ดี บุตรคหบดีก็ดีเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะ ว่า ท่านผู้นี้มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุ ครอบครองจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า รู้ ทั้งที่ไม่เห็นว่า เห็น หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ หรือไม่ เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ อนึ่ง ท่าน ผู้นี้มีกายสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรกะ ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ ธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่คนโลภะจะแสดงได้ง่าย เมื่อใดเขาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ ในธรรมจำพวกโมหะฯ เมื่อใดเขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกพวกโมหะแล้ว คราวนั้นเขาย่อม ฝังศรัทธาลงในเธอ เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหาก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งใกล้ก็เงี่ยโสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลงก็ได้สดับธรรม ครั้นสดับแล้วก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ ก็เห็นชอบด้วยธรรมตามที่ (ทนต่อการ) คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อเห็นชอบด้วยกับข้อธรรมที่เพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดฉันทะก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้วก็เอามาทบทวนเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้เห็นแจ้งแก่ตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่าการหยั่งรู้สัจจะ" (สมณะโพธิรักษ์ เรียกความรู้ในระดับนี้ว่า ความจริงในความรู้) ความรู้ที่เป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) พระพุทธองค์ตรัสบรรยายถึงักษณะการเข้าถึงความรู้ที่เป็นสัจจะความจริงโดยสมบูรณ์ในระดับสุดท้ายนี้ไว้ว่า "การ อาเสวนา การเจริญ การกระทำให้มากซึ่งธรรม (ตามสัจจานุโพธิ) ที่กล่าวมา เท่านั้นแหล่ะ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ" (สมณโพธิรักษ์เรียกความรู้ในระดับนี้ว่า ความจริงในความจริง) (1)

อ้างอิง
(1) สุนัย เศรษฐบุญสร้าง. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของพุทธศาสนาในสังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1.--กรุงเทพฯ ; ฟ้าอภัย,2542.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท