คุณพินิจ
พินิจนันท์ phinitnan เนื่องจากอวน

อนุทิน 22599


คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

อนุทิน

สัปดาห์ที่ 3 (2 - 6 มิถุนายน 2551)

นางสาวพินิจนันท์  เนื่องจากอวน

นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 2   สาขาการสอนวิทยาศาสตร์

วิชา  159529   การปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์

 

                สัปดาห์นี้ งานที่ได้รับมอบหมาย เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง คือ การสอนนักเรียนเป็นจำนวน 1 คาบเรียน นี่นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่ได้สอนนักเรียนแบบนี้ ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นและเป็นกังวล แต่เมื่อได้เตรียมการสอนแล้ว ก็ช่วยทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลงไปบ้าง และเมื่อสอนเสร็จ ดิฉันก็พบว่า มีปัญหาอีกหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น นักเรียนชวนคุยออกนอกเรื่องที่เรียน  นักเรียนไม่ยอมเข้าเรียน (พอรู้ว่าดิฉันจะสอน)  และ เมื่อเข้าเรียนก็เดินไปมาให้ขวักไขว่ไม่นั่งประจำที่ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เขียนมานี้ อย่างที่ดิฉันคิดไว้และได้ปฏิบัติก็คือ ต้องวางตัวให้ดุและเข้มงวดก่อนในคาบแรก แต่พอผ่านไปซัก 15 นาที นักเรียนก็กลับมาเสียงดังเหมือนเดิม ดิฉันจึงยืนเงียบเฉยๆ จนกว่าทั้งห้องจะหยุดคุยแล้วค่อยสอนต่อ ซึ่งนั่นก็ทำให้นักเรียนทั้งห้องค่อยๆเงียบเสียงลง ....แล้วอีกไม่นาน หัวโจกของห้องก็ชวนดิฉันคุยนอกเรื่อง แล้วทั้งห้องก็พร้อมใจกันเสียงดังอีก ซึ่งทั้งหมดนั่น ทำให้การสอนฟิสิกส์เนื้อหาที่คิดว่ายาก กลับยากลงไปอีก ถ้าคะแนนเต็ม 4 การสอนในครั้งนี้ ดิฉันคงให้ตัวเอง 1.5 ติดลบ หลังจากการเรียนการสอนคาบนั้นหมดลง ดิฉันก็ได้รับคำแนะนำกับอาจารย์พี่เลี้ยงว่า ตนเองต้องเสียงดังกว่านี้ หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ อาจต้องใช้ไมค์โครโฟน

                เท่าที่สังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน พบว่า พฤติกรรมนักเรียนมักจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วง 15 นาทีแรก ตั้งใจเรียนมาก และจดจ่อกับสิ่งที่ครูพูด  ช่วงที่สอง เริ่มลดความใจจดจ่อลง และประมาณ 15 นาทีก่อนเลิกเรียน นักเรียนก็อยากจะออกจากห้อง ขาดสมาธิ หลุกหลิก โดยเฉพาะ ถ้าเรียนคาบสุดท้าย ความรู้สึกอยากจะออกจากห้อง จะเพิ่มมากกว่า 15 นาที ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับชั่วโมงที่ได้รับมอบหมายให้เข้าสอน ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความลำบาก ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่า วิชาคำนวณ ไม่ควรจัดให้นักเรียน ได้เรียนตอนบ่าย หรือ คาบท้ายๆ และดีอย่างยิ่ง ถ้าได้เรียนคาบแรก นักเรียนมักจะมีความพร้อมและตั้งใจเรียนมากกว่า

                จากอนุทินฉบับที่แล้วที่ได้รับคำถามว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนที่ตนเองบอกว่า บางอย่างก็เป็นอุดมคติเกินไป ใช้ได้กับห้องเรียนไม่หมด อาจารย์บอกว่า ไม่ควรสรุปเหตุการณ์เมื่อได้พบเจอในครั้งเดียว นั่นก็อาจจะจริงว่าไม่ควรสรุป  ...ส่วนเหตุผลที่ดิฉันบอกไปว่า อุดมคติ เกินไป ก็ขอขยายความตรงนี้ ด้วยตัวอย่าง เช่น การสอนฟิสิกส์ กับ ธรรมชาติของฟิสิกส์ ซึ่งธรรมชาติของฟิสิกส์แล้ว บางเรื่องฟิสิกส์ก็มีความเป็นคณิตศาสตร์และนามธรรมสูง แต่ด้วยความเป็นครู กับหน้าที่และความรับผิดชอบในการเรียนการสอนนั้น เมื่อต้องการให้นักเรียนมีความเข้าใจ ครูจึงได้พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เข้าใจยากเหล่านั้น ให้เข้าเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่าง ที่นักเรียนพอจะเข้าใจได้ ซึ่งนั่น ก็อาจจะทำให้กฎหรือทฤษฎีบางอย่างถูกบิดเบือนไป นอกเหนือจากนี้ บริบทอันเป็นอุปสรรคที่ดิฉันรู้สึกได้เมื่อเข้ามาสังเกตการณ์สอนเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ สภาพอากาศ  เสียง  ไม่ได้เข้ามาในโรงเรียนนานแล้ว และเมื่อเข้ามาอีกที ดิฉันรู้สึกว่า ในโรงเรียน ทำไมวุ่นวายกันแบบนี้ ทั้งเสียงดัง  นักเรียนเดินกันขวั่กไขว่  อากาศร้อน นักเรียนนั่งอัดกันเต็มห้อง (ที่โรงเรียนอื่น 50 คนต่อห้องก็มี) ที่เขียนมา อาจฟังดูไร้สาระหรือ เป็นสิ่งที่ดิฉันจะพร่ำบ่นหรือเปล่า แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่คนนอกอย่างดิฉันรู้สึกได้ว่ามีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่น้อยเลย

                อย่างไรก็แล้วแต่ ดิฉันไม่ค่อยเป็นห่วงกับโรงเรียนสาธิตฯ หรือโรงเรียนที่มีความพร้อมสูงเช่นเดียวกันนี้ เพราะถ้าเทียบสัดส่วนแล้ว ในประเทศไทยคงมีไม่มาก แต่ที่ดิฉันนึกไปถึงกลับเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญออกไป  บริบทที่อาจเป็นปัญหาอาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ บางทีก็เกินกว่าจะคาดเดาได้ อย่างที่เคยได้ยินจากโรงเรียนคุณพ่อ ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนก็ได้เรียนกับครูที่ไม่ได้จบวิทย์มา เรียกว่า ขาดครูตรงสาขาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ส่วนมากก็เรียนไปตามหนังสือเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจด้วยว่า ถ้าพูดถึง Constructivism หรือ Nature of Science จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่เกิดอะไรขึ้นแม้แต่น้อย...

                ท้ายสุดนี้ ในเรื่องการเขียนแผนการสอนระยะยาว ที่ได้รับคำถามว่า ทำไมจึงเขียนแผนการสอน 6 คาบต่อสัปดาห์ในบางสัปดาห์ ทั้งๆ ที่บอกว่าเป็นวิชา 2.5 หน่วยกิต 5 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะการสอนในบางเรื่อง จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าที่จะจัดคาบเรียนให้ลงตัวเพื่อให้อยู่ในสัปดาห์เดียวกันได้ หรือ การเรียนการสอนบางเรื่อง ดิฉันก็ไม่อาจทราบได้อีกว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนการสอนจะไปจบลงที่ตรงไหน ดังนั้นดิฉันจึงเขียนเผื่อไว้ว่า อาจจะต้องจบการสอนลงไม่สัปดาห์แรกก็จะเป็นในสัปดาห์ถัดไป และถ้าอาจารย์สังเกตก็จะพบว่า ต่อจากสัปดาห์ที่เป็น 6 คาบ ดิฉันก็จะลดชั่วโมงในสัปดาห์ในคาบต่อไปเสมอ

                               

               

               

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท