อนุทิน 158642


ธิ
เขียนเมื่อ

ราว ๓ เดือน/ครั้ง มาเจอกับเพื่อน ๆ ต่างอำเภอนำร่อง ตลอด ๒ ปี (จาก ๑๔ เหลือ ๑๐ อำเภอ)

คิดว่าจะเป็นวันปิดท้ายโครงการฯ กลายเป็นต้องมาเฟส ๒ อีก ๓ ปี

ตราบจนกว่าการดูแลพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพช่องปาก (Self care) ของคนไทยวัยทำงาน

จะทะลุผ่านข้อจำกัดของระบบการศึกษาเมืองไทยในปัจจุบัน

ฝันใหญ่ เริ่มจุดเล็กจุดหนึ่งที่อำเภอเราเอง … ถึงพร้อมของความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก (Oral Health Literacy)

สานต่อความฝันไปด้วยกันนะคะ ^_,^



ความเห็น (2)

คุณหมอครับจากที่ รพ.มาตรวจสุขภาพช่องปาก จากการสังเกตุเด็กที่ รร.90% ต้องอุดฟัน ถอนฟัน.ครอบครัวมีส่วนในการดูแลมากน้อยเท่าไรครับ

ขอบคุณสำหรับข้อสังเกตและคำถามค่ะอาจารย์ เท่าไหร่เป็นคำถามเชิงปริมาณ คงไม่มีข้อมูลพอจะตอบเป็นตัวเลขได้ ค่อย ๆ อ่านช้า ๆ หลาย ๆ รอบนะคะ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวโดยแท้ค่ะ อาจจะถูกหรือผิดก็ได้

คงตอบหมือนกับคำถามว่า เด็กรู้หนังสือ เด็ก ป. 6 (ที่ไม่ใช่เด็กพิเศษ, LD หรือมีข้อจำกัดอื่น ๆ) อัตราการอ่านออกเขียนได้ ….% ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล …. อย่างไร น่าจะสำคัญมากนะคะ

การดูแลเท่าไหร่ ในแง่ระยะเวลาที่ครอบครัวใช้ดูแลเด็กก็สำคัญ ครอบครัวที่ใช้เวลาดูแลเด็กมากกว่า เด็กน่าจะเอาใจใส่ดูแลสุขภาพช่องปากตัวเองมากกว่า ใช่ไหมคะ แต่การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งไม่ง่าย ตรงไปตรงมาอย่างนั้น

เด็กที่เข้าโรงเรียนอาจารย์ ระดับการศึกษาของพ่อแม่ ชุดความรู้ มุมมอง ความเชื่อ ทัศนคติที่เป็นพื้นฐานในการเลี้ยงดูเด็กเป็นอย่างไร จะส่งผลต่อวิธีการที่ใช้เลี้ยงดูเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมดูแลสุขภาพช่องปาก สุขภาพทั่วไปของลูกหลาน ส่งผลเป็นเด็กฟันดี หรือฟันผุของนักเรียนอาจารย์ด้วยค่ะ

เด็ก ๆ ที่ไหนก็ชอบกินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลมนะคะ ไม่แปลก เพราะสารความหวาน (และน้ำตาล) ให้พลังงาน กินแล้วสดชื่น มีความสุขทันที แต่ครอบครัว คนเลี้ยงดู คนที่ทำหน้าที่กล่อมเกลา คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก ที่บ่มเพาะสร้างนิสัยเด็กมาตั้งแต่เล็ก มีความรู้ในจุดนี้พอไหม มีความสามารถในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กเพียงพอที่จะตัดสินใจเลือกอาหาร หรือจัดอาหารให้เด็กอย่างเหมาะสมไหม เคยเห็นไหมคะ พอเด็กเริ่่มร้องไห้จะเอาอะไร (ลูกอม ขนมถุง) ร้องไห้ปฏิเสธไม่อยากให้ผู้ใหญ่แปรงฟันให้ พ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่อยากเห็นเด็กร้องไห้ ก็ยอมเด็กทุกอย่าง จนกลายเป็นลูกหลานเทวดา … ยังไม่รวมพ่อแม่ที่ไม่รู้ว่า เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องแปรงฟันซ้ำให้เด็กที่ยังแปรงฟันไม่สะอาดนะคะ เหมือนยังต้องตัดเล็บ ขัดเล็บดำ ๆ ของเด็กให้ขาวสะอาด อย่างไรอย่างนั้นค่ะ … ซับซ้อนกว่านั้น ยายก็แก่ ตาก็เฒ่า เจ็บออดแอด พ่อแม่อยู่กรุงเทพฯ ใคร?ทำหน้าที่

ความรู้ว่าปริมาณน้ำตาลในนมหวาน นมเปรี้ยว น้ำอัดลม ลูกอม ท็อฟฟี่ คาราเมล แป้งกรุบกรอบก็เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ขณะอยู่ในปาก ปริมาณน้ำตาลเหล่านี้ที่ค้างในช่องปาก ยิ่งเยอะยิ่งค้างบ่อยยิ่งไม่ดี ถ้าทำความสะอาดช่องปาก แปรงฟันได้ไม่สะอาดพอ ระยะเวลาหนึ่งผ่านไป เชื้อโรคในช่องปากจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดค้างบนตัวฟัน รอบ ๆ ฟัน ผิวฟันจะถูกกรดทำลาย จากเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จนเป็นจุดขาวขุ่น จุดดำ รูดำใหญ่ขึ้น ๆ กลายเป็นรูผุ

ถึงขนาดปวดฟัน พ่อ แม่ ครอบครัวมีส่วนร่วมแน่นอน แต่อาจจะมีส่วนร่วมเมื่อสายเกินไปแล้วก็ได้

การมีส่วนร่วมของครอบครัวตัดวงจรโรคฟันผุ อย่างน้อยที่เป็นไปได้ คือ

1) กินน้ำตาล กินแป้งเมื่อไหร่ อย่าปล่อยให้น้ำตาลค้างในปาก ควรแปรงฟันทันที ใช้ยาสีฟันมีฟลูออไรด์เป็นสารเสริมความแข็งแรงให้ผิวเคลือบฟัน พ่อแม่ครอบครัวจะมีวิธีการค่อย ๆ สอนลูกหลานได้ไหม ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน ครอบครัวทำได้ไหม

2) ปากสะอาดแล้ว ต้องยืดเวลาที่ปากสะอาดไปนาน ๆ อมเชื้อโรคน้อย ๆ ดีกว่าปากสาก ๆ ขี้ฟันเยอะเขรอะเต็มไปหมด เด็กที่กินจุบจิบ กินบ่อยไม่รู้ตัว ดูโทรทัศน์ก็กิน กดเล่นเกมโทรศัพท์ก็กิน เล่นเกมไม่กินข้าวอาหารที่มีประโยชน์ เล่นไปกินแต่ขนมถุงไป … พ่อ แม่ ครอบครัวรู้ไหมว่าตัวเองบ่มเพาะสิ่งไม่ดีอะไรให้ลูกบ้าง พ่อแม่รังแกฉันไม่รู้ตัว … หรือเปล่า?

สรุป ครอบครัว คือ สถาบันพื้นฐาน สถาบันแรกที่มีหน้าที่ขัดเกลาทางสังคม ที่ให้การเลี้ยงดูเด็กพอเหมาะพอควรที่จะเป็นพื้นฐานต่อช่วงวัยต่อไป ต่อไปก็แล้วแต่ว่าเด็กไปที่ไหนนะคะ สถานที่รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แล้วค่อยโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาล แล้วแต่ค่ะ หรือเด็กที่ครอบครัวปล่อยให้เติบโตมาพร้อมจอโทรศัพท์ จอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ หน้าจอเหล่านี้ได้ทำหน้าที่แทนสถาบันครอบครัวไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท