อนุทิน 156690


Witsarut Aonpreaw
เขียนเมื่อ

แก้ตัวหรือแก้ที่ตัว

มนุษย์มีสัญชาติญาณปกป้องตนเอง เพื่อเอาตัวรอดจากอันตรายที่จะมากระทบกับชีวิต ของตน การปกป้องตนเองมีหลายรูปแบบ การแก้ตัวถือว่าเป็นแบบหนึ่งของการเอาตัวรอด 

การแก้ตัวช่วยให้ตนเองพ้นคำตำหนิหรือพ้นโทษได้ ถ้าคำแก้ตัวฟังขึ้น มีเหตุผลและ พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง แต่ถ้าคำแก้ตัวเป็นเพียงเพื่อกลบเกลื่อนความผิด ความบกพร่องที่ตนเป็นอยู่ และถ้าถูกจับได้ เขาอาจได้รับโทษ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเรื่อง ผิดศีลธรรมก็จะนำความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาสู่ตนเองและวงศ์ตระกูล 

แต่การแก้ไขข้อบกพร่องเมื่อได้รับคำสอนหรือคำเตือนสติ จะช่วยให้ชีวิตของผู้นั้นดีขึ้น พระธรรมสุภาษิตให้คติธรรม เรื่องนี้ไว้หลายตอน แต่จะคัดมาบางตอนดังนี้ 
"คนโง่ดูหมิ่นคำสั่งสอนของพ่อแม่ ผู้ที่รับฟังคำเตือนแสดงถึงความฉลาด" 
"… ผู้ที่ชังคำตักเตือนจะพบอันตราย" 
"... ผู้ที่รับฟังคำตักเตือนก็ได้ความเข้าใจ" 

คนฉลาดเห็นคุณค่าคำตักเตือนและรีบแก้ไข คนฉลาดย่อมระลึกได้เสมอว่าไม่มีมนุษย์ ปุถุชนคนใดเพรียบพร้อมโดยไม่มีที่ติ ฉะนั้นถ้าจะมีใครให้ความสว่างทำให้เห็นความบกพร่องของตน ทำให้เราแก้ไขหรือกำจัดสิ่งนั้นก่อนที่มันจะกลายเป็นเนื้อร้ายทำลายชีวิตเราภายหลัง 

คนที่หยิ่งผยอง คนที่รักหน้าแต่ไม่รักตัว พวกเขาเกลียดและต่อต้านวินัยชีวิต และเกลียด คำเตือนสติ แต่คนฉลาดเป็นบุคคลที่ถ่อม มีสติและมีปัญญา ไม่ตอบโต้แต่ตอบสนองด้วยพินิจ พิเคราะห์ ถ้าสิ่งใดจริง สิ่งใดดี สิ่งใดมีคุณค่าเขาจะรับไว้ และถ้าสิ่งใดไม่ดีเขาก็จะทิ้งมันเสีย 

คนฉลาดและมีความเข้าใจ เขาแก้ที่ตัว ไม่ใช่ แก้ตัว เพราะการแก้ที่ตัวเรานั้นง่ายกว่า การแก้ตัวหรือไปแก้ที่คนอื่น ถ้าเราทุกคนเปิดใจ ถ่อมใจรับการแก้ไขจากคำเตือนสติที่มาจากผู้มี ปัญญาและปราชญ์ทั้งหลาย ชีวิตเราก็จะดีและสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท