อนุทิน 14763


กวิน
เขียนเมื่อ

ขอบคุณครับพี่ Little Jazz   @14746 ทรรศนะของพี่มีประโยชน์มากๆ นะครับ ทำให้ได้ฉุกคิดเรื่องการแฝงนัยยะทางการเมือง  สำหรับบทความเรื่อง สวรรคชั้นเจ็ด นั้นผมเขียนโดยยึดขอสังเกตของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ.กรุงเทพมหานคร : ศตวรรษ,2523.  น่ะครับ ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ แสดงทรรศนะว่าด้วยเรื่อง ความสับสนระหว่าง สายฟ้า ซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ แต่ใน โองการแช่งน้ำ กล่าวว่าเป็นอาวุธของพระอิศวร และผมได้แสดงทรรศนะเพิ่มไว้ ว่า ไม่เฉพาะเรื่องอาวุธ แต่ความเชื่อเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ล้างโลกนั้น ก็มีการอ้างไว้อย่างคลาดเคลื่อน เพราะตามความเชื่อใน เตภูมิกถา/ไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ไฟประลัยกัลป์นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 14 ภพภูมิ แต่โองการแช่งน้ำกลับอ้างแต่เพียงว่าไฟประลัยกัลป์นั้นทำลายแค่เพียงภพภูมิที่เจ็ด (ภพภูมิที่เจ็ดคือสวรรค์ชั้นที่สอง ซึ่งก็คือสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์/ตรัยตรึงศ์/ดาวดึงส์  (ชักไตรตรึงษ์เป็น(ผง)เผ้า) ซึ่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ปกครองโดยพระอินทร์ พอพูดถึงตรงนี้ทำให้เราสามารถ ตั้งสมมติฐาน ได้สามประเด็นคือ 

-สมมติฐานที่ 1 พราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำบกพร่องเข้าใจผิด
-สมมติฐานที่ 2 กลอนพาไป
-สมมติฐานที่ 3 ไตรตรึงษ์ในความหมายโดยรวมก็คือ สววรค์ทั้ง 14 ภพภูมิ

จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโองการแช่งน้ำมีลักษณะเป็นโคลงห้า (โคลงมณฑกคติ) ซึ่งเป็นต้นแบบของโคลงดั้นบาทกุญชร หากวิเคราะห์ โดยยึดตามแผนผังโคลงห้า ตามที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอไว้จะเขียนแสดงได้ดังนี้นะครับ

นานา อเนกน้าว            เดิมกัลป์     
จักร่ำ จักราพาฬ            เมื่อไหม้    
กล่าวถึง ตระวันเจ็ด       อันพลุ่ง 
(อันพลุ่ง) น้ำแล้งไข้      ขอดหาย

เจ็ดปลา มันพุ่งหล้า       เป็นไฟ    
วะวาบ จัตุราบาย          แผ่นขว้ำ   
(แผ่นขว้ำ)ชักไตรตรึงษ์  เป็นเผ้า          
(เป็นเผ้า) แลบ่ ล้ำ        สีลอง ฯ         

ถ้ามองตามผังโคลงห้าของจิตร ภูมิศักดิ์ จะเห็นได้ว่า คำว่า ไตร นั้น ถูกใช้เพื่อให้รับสัมผัสสระกับคำว่า ไฟ นั่นเอง

ถ้าพราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำทราบว่าไฟประลัยกัลป์นั้นสามารถทำลายภพภูมิสูงสุดถึง 14 ภพภูมิ (ภพภูมิที่ 14 คือสวรรค์ชั้น มหาพรหมา ซึ่งสูงกว่า ภพภูมิที่เจ็ด ซึ่งนั่นก็คือสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่สอง) ก็สรุปได้ ตามสมมติฐานที่ 2-3 เพราะ หากพรามหณ์ แต่งโคลงห้าว่า "(แผ่นขว้ำ)ชักมหาพรหมา  เป็นเผ้า" ก็จะไม่มีคำใด รับสัมผัสกับคำว่า ไฟ 

แต่ทว่า สมมติฐานที่ 1 ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะ พราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำ ทำให้เราเห็นแล้วว่า ท่านอ้างว่า สายฟ้าเป็นอาวุธของพระอิศวร ทั้งที่ในความเป็นจริง สายฟ้าเป็นอาวุธของพระอินทร์ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ท่านก็มั่วนิ่มเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ ได้เช่นกัน

สำหรับ สมมติฐาน ว่าด้วยเรื่อง โองการแช่งน้ำ นั้นแฝงนัยยะทางการเมืองหรือไม่นั้น ตอบว่า แฝงนัยยะทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะวัตถุประสงค์ในการแต่ง โองการแช่งน้ำก็เพื่อใช้ อ่านเพื่อสาปแช่ง ข้าราชการผู้คิดคดทรยศต่อเจ้า และสรรเสริญอำนวยพรแด่ข้าราชการผู้มีความจงรักษ์ภักดี ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา แต่พรามหณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำ จะแฝงนัยยะทางการเมืองว่า ด้วยเรื่องอื่นด้วยหรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท