อนุทิน 137491


Nueng Kamp*
เขียนเมื่อ

LiMCU ปริทัศน์ 
ตอน : การเดินทางจากเชตวัน..สู่ญี่ปุ่น(日本の祇園)


เมื่อพูดถึงความเป็น "ญี่ปุ่น" หลายคนคงนึกถึงวัด ซุ้มประตูโทริอิหน้าศาลเจ้า ชาเขียว และเกอิชา เป็นต้น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้พบเจอได้ที่ "เกียวโต" อดีตพระนครหลวงอันเจริญรุ่งเรืองของแดนอาทิตย์อุทัย

★ในตอนก่อนแอดมินเล่าถึง "บุปผางามเมือง"(「花街」かがい、はなまち)วันนี้ขอค้นและคว้ามาเล่าเกี่ยวกับย่านสถานบันเทิงเริงรมย์ของชาวญี่ปุ่นในอดีต คือ "กิอง"(「祇園」ぎおん)เขตกิองตั้งอยู่ในเขตฮิงะชิยะมะ เกียวโต ถือได้ว่าเป็นดาวน์ทาวน์หรือแหล่งการค้า อาหารและบริเวณพบปะของผู้คน

★คำว่า "กิอง" เป็นอีกภูมินามมงคลหรือชื่อสถานที่แหล่งหนึ่งซึ่งหากเปิดหาความหมายในพจนานุกรม หรือสอบถามคนเกียวโตคงไม่ได้คำตอบแน่นอน เพราะแอดมินเคยสอบตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้สูงอายุก็ได้ความว่าเป็นชื่อชื่อเฉพาะ แต่หากสืบค้นจากความเชื่อมโยงของพัฒนาการเมืองเกียวโตในฐานะพระนครหลวงเฮอันเคียว(「平安京」へいあんきょう)ปีพุทธศักราช ๑๓๒๗ พระจักรพรรดิคัมมุ(桓武天皇)ได้ย้ายราชธานีจากพระนครหลวงเฮโจเคียว(「平城京」へいじょうきょう) เมืองนะระสู่เมืองนะงะโอะกะเคียว(「長岡京」ながおかきょう)ต่อมาปีพุทธศักราช ๑๓๓๗ จึงย้ายมาสถาปนาพระนครเฮอันเคียวหรือเกียวโตในปัจจุบัน และถือเป็นจุดเริ่มต้นสมัยเฮอัน(「平安時代」へいあんじだい)อันรุ่งเรืองและสิ่งที่มาพร้อมกับการตั้งราชธานีใหม่ คือ อิทธิพลพระพุทธศาสนามหายานกับคติสร้างบ้านแปงเมืองในด้านต่างๆ เช่น ภูมินามมงคล "กิอง"

★กิอง(「祇園」ぎおん)เป็นคำประสมเสียงอ่านแบบจีนซึ่งแปลความหมายจากภาษาบาลีคำว่า "เชตวัน"(Jetavana)ศาสนสถานในสมัยพุทธกาล นอกเมืองสาวัตถี ทางตอนใต้ของแม่น้ำอจิรวดีที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขณะนั้นเศรษฐีได้ขอซื้อสวนจาก "เจ้าเชต" เจ้าชายแห่งราชวงศ์โกศลด้วยราคาที่ดินเป็นเหรียญทองคำที่นำมาปูให้เต็มพื้นที่สวนทั้งสิ้น ๑๘ โกฏิ(๑ โกฏิ ประมาณ ๑๐ ล้าน)ค่าก่อสร้างศาสนสถาน ๓๖ โกฏิ รวมเป็น ๕๔ โกฏิ และต้องตั้งชื่ออารามตามชื่อเจ้าของเดิมว่า "เชตวันมหาวิหาร"(「祇園精舎」ぎおんしょうじゃ)ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อญี่ปุ่นรับพระพุทธศาสนาจากเกาหลีและจีนตามลำดับผ่านการคัดลอกคำภีร์ด้วยอักษรจีนตั้งแต่ปลายสมัยสุสานโบราณ(「古墳時代」こふんじだい)จนกระทั้งต้นสมัยอะสุกะ(「飛鳥時代」あすかじだい)ศาสนธรรม ศาสนพิธี เหตุการณ์ในพุทธประวัติกระทั่งภูมินาม เช่น "กิอง" หรือเชตวันมหาวิหารก็ได้รับการขนานนามสถานเพื่อเป็นมงคลอันปรากฏชื่อเมืองกิอง(「祇園町」ぎおんちょう)จังหวัดนะระ และเกียวโต เป็นต้น

ศาลเจ้ายะสะกะ(「八坂神社」やさかじんじゃ)หน้าถนนชิโจ เกียวโต


★ในอดีต "กิอง" เป็นย่านที่ชาวบ้านจะเปิดชั้นล่างของบ้านเป็นร้านค้า โรงน้ำชา โรงแรมเรียวกังโดยสร้างบ้านรูปแบบญี่ปุ่น "เคียวมะจิยะ"(「京町家」きょうまちや)มีลักษณะเป็นคูหาเรียงรายและเรียบไปตลอดสองฝากถนนจนถึงตรอกซอกซอยเล็กๆ เพื่อรับรองผู้แสวงบุญและผู้เดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้ายะสะกะและวัดเคนนินจิ พอถึงยามค่ำเหล่าขุนนาง ซามูไรหรือกระฎุมพีก็มักแวะเวียนไปในสถานบันเทิงสองสำนักดังคนละฝั่งถนนชิโจอย่างสำนักกิองโคบุ(「祇園申部」ぎおんこうぶ)และสำนักกิองฮิงะชิ(「祇園東」ぎおんひがし)ที่มีสาวๆ เกอิชาและไมโกะมาร่ายรำ ขับร้องและให้ความบันเทิงต้อนรับนั่นเอง.

เกโกะ(「舞妓」まいこ)



ความเห็น (3)

ช่วยย้ายไปเขียนเป็นบันทึกนะคะ วันหลังมีเวลาจะเข้ามาอ่านคะ น่าสนใจ

สวัสดีครับคุณ GD ^^
ยินดีครับผม..ตอนนี้ผมเพิ่งเริ่มหัดใช้ไซต์นี้
จะโอนย้ายไปในบันทึกให้ครับ 

m(_ _)m

ตามท่านอาจารย์ GD มาครับ ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท