อนุทิน 134853


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

      อยากพูดเรื่องโฆษณานี้มานานมาก เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โฆษณาชิ้นนี้เป็นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) โดยมีชื่อตอนที่แตกต่างกัน ในที่นี้ผมจะวิจารณ์เฉพาะเรื่อง ลูกคนโกง

      เนื้อหาในโฆษณาดังกล่าว เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนคนหนึ่งนั่งหน้าเศร้าอยู่บนชิงช้า เมื่อแม่ของเด็กน้อยถามว่าทำไมไม่ไปเล่นกับเพื่อนๆ คำตอบที่ได้รับก็คือ เพื่อนๆ บอกว่าไม่อยากเล่นกับ “ลูกคนโกง” แล้วเด็กคนนี้ก็ถามแม่ตัวเองว่าบ้านเรานั้นโกงจริงหรือ จากนั้น ก็เป็นภาพของคุณแม่ที่มีตัวอักษรเป็นวลีว่า “รวยเพราะโกง” ปั๊มอยู่บนหน้าผาก พร้อมด้วยแม่ๆ ของเด็กคนอื่นๆ ที่ยืนชี้หน้าตะโกนคำว่าขี้โกงใส่ และมีแม่คนหนึ่งที่ยิงคำถามว่า “สงสารลูกบ้างมั้ย”

     ประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอก็คือ หลายคนอาจรู้สึกสะใจ ที่เห็นวิธีการจำกัดคนโกงด้วยวิธีที่ง่ายๆ เป็นรูปธรรม และโครงสร้างทางวัฒนธรรมไทยนั้นบอกให้เรารับรู้ว่านี่เป็นวิธีที่ได้ผล แต่คำถามของผมก็คือ แล้วได้ผลยาวนานมากไหม ในโฆษณาชิ้นนั้น การลงโทษทางสังคม (social sanction)[1] มันทั้งสะอกสะใจและทันอกทันใจ ยิ่งเลือกคนแสดงเป็น “แม่ผู้ถูกตีตราว่าโกง” อาจทำให้รู้สึกว่าคนที่ทำนั้นสมควรที่จะได้รับการลงโทษ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้นเสมอไป  โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า โฆษณาชุดนี้ และอีกหลายชุดในความคิดรวบยอดว่า “อย่ามีที่ยืนให้กับคนโกง” เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมาก เหตุผลของผมมี ดังนี้

    1. การที่ผู้จัดทำโฆษณาชุดนี้เป็น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand)  มีความคิดที่บุคคลเท่านั้นเป็นต้นเหตุของการคอรัปชั่น แต่ไม่เคยมองไปที่โครงสร้างของสังคมว่ามีจุดรั่วตรงไหนบ้างที่อาจก่อให้เกิดการคอรัปชั่นได้ ผมเห็นว่าองค์กรนี่น่าจะมีการทบทวนความคิดในเรื่องนี้เสียใหม่ครับ

    2. ผมเองเป็นคนที่เกลียดการโกงหรือการคอรัปชั่นเป็นที่สุด แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า การสร้างค่านิยมให้บุคคลเกลียดกลัวการโกงนั้นอาจช่วยให้การโกงลดลงอยู่บ้าง เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่จะทำการคอรัปชั่น สาเหตุของการจะที่โกงก็คือ การคอรัปชั่น เป็น “ความเย้ายวน” (Temptation) ที่เป็นผลตอบแทนจากการคอรัปชั่นที่มี “มากกว่า” รายได้หรือเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมีโอกาสเมื่อไหร่ พวกเขาจึงพร้อมที่จะแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่งหรือใช้อำนาจหน้าที่นั้นแสวงหาประโยชน์ ไม่ว่าจะด้วยการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจให้ใบอนุญาต การเรียกรับสินบนระหว่างตรวจการจ้าง การขอแบ่งเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมาในการการคัดเลือกผู้รับจ้างหรือลงนามในสัญญา แต่ความเย้ายวนดังกล่าวนี้จะถูกจำกัดด้วยบทบาทของความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถกล่าวได้โดยสรุปว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะตัดสินใจเช่นนี้ได้ พวกเขาจะต้องตัดสินใจ บน “ตรรกะ” พื้นฐานที่ว่า ต้นทุนของการคอรัปชั่นนั้นต้อง “ต่ำกว่า” ผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการคอรัปชั่น เว้นแต่ว่าพวกเจ้าหน้าที่เกรงกลัวการที่จะถูกจับได้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากโฆษณาชิ้นนี้ (โปรดสังเกตว่านี้เป็นผลจากสภาพสังคมที่กำลังผลัดเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมเสรีโดยแท้ )

    3. การที่ตีหน้าว่าลูกคนโกง ไม่ควรจะได้รับความสนใจจากผู้คนรอบข้าง ผมถามว่านี่ยุติธรรมต่อตัวเด็กหรือไม่ หากพ่อหรือแม่ทำความผิด คนที่ต้องได้รับโทษตามความผิดต้องเป็นพ่อหรือแม่เท่านั้น เด็กที่ไม่มีผลกับการโกงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร การจับเด็กเป็นตัวประกันทางศีลธรรม กล่าวให้ง่ายก็คือ เมื่อทำกับพ่อหรือแม่ของเด็กไม่ได้ จึงต้องมาทำกับลูก ข่มขืนทางศีลธรรมกับลูกไปพลางๆก่อน ส่วนเรื่องพ่อหรือแม่ไว้จัดการ หรือไม่เคยจัดการกับตัวผู้เป็นสาเหตุหลักเลย ประเด็นที่ผมอยากถามมากก็คือ ทำไมเด็กๆที่เป็นเพื่อนจึงรู้ว่าพ่อหรือแม่ของเด็กคนนี้เป็นคนโกง พวกแม่ๆที่อยู่รอบข้างบอกเรื่องนี้ให้กับลูกๆหรือไม่ ถ้าบอก ผมว่านี่แหละก็คือโครงสร้างแบบระบบอุปถัมภ์ในแง่ค่านิยมแบบไทยๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบอะไรแล้ว ก็ต้องสั่งสอนให้เด็กๆทำตามอย่างตนด้วย ในที่สุดผู้เป็นลูกเองก็รับความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้เข้าไปในตัวเขา และเป็นของเขาไปโดยปริยาย   

     4. ประเด็นที่ผมต้องการจะนำเสนอมากที่สุพก็คือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม หรือเชิงโครงสร้างในสังคมไทย ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั้นไม่ได้นำเสนอภาพแต่เพียงการฆ่าฟัน การแก้แค้น แต่เป็นภาพที่ปรากฏในโฆษณาเหล่านี้ ที่ไม่มีแม้แต่การฆ่าฟัน แต่มันเป็น hate speech กล่าวคือ การดูถูกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เหตุที่ดูถูกก็เพราะเขาถูกมองว่าแตกต่างจากคนอื่นที่เป็นคนปกติ ไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ ความเชื่อ สีผิว หรือแม้แต่เพศสภาพ จะเป็นอะไรไปหละ ถ้าเรามองคนเหล่านี้ในแง่ที่ไม่ดี สังคมก็ตีตรา (เหมือนกับที่เขียนติดหน้าผาก) ว่าไม่ดี สมควรแล้วที่จะได้รับการลงโทษ อนึ่งในสังคมประชาธิปไตยโดยทั่วไป เราต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่เปิดกว้างให้แก่คนทุกคน ถึงแม้ว่าเขาหรือหล่อนจะทำผิด แต่การทำผิดของเขาหรือหล่อนก็ต้องได้รับโทษานุโทษตามกรณี เมื่อเขากลับเข้ามาในสังคมนี้ใหม่ สมควรแล้วหรือที่สังคมจะตราหน้าว่าเขายังไงก็ยังเป็นคนผิดอยู่

       ทำอย่างไรถึงจะเกิดการสนับสนุนให้เกิดระบบยุติธรรมที่กว้างขวางต่อผู้คนเสียที    

มีวิดีโอจากยูทูปประกอบครับ

 http://youtu.be/U2IlCGSS1Uo

 

 

 

[1] การลงโทษทางสังคม ก็เหมือนกับคนไทยสมัยก่อน มีการกล่าวหาเพื่อนบ้าน (โดยเฉพาะผู้หญิง)ที่ชอบทำตัวแปลกๆว่าปอบมากินตับแล้ว



ความเห็น (1)

ผมได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้แล้วครับ ความรู้สึกคือผู้ทำ (เจ้าของผู้ว่าจ้างรวมถึง creative และ agency) ถ้าไม่มีอะไรแอบแฝงก็ตื้นเขิน

ผมมีทฤษฎีเรื่อง campaign การปราบคอร์รัปชันว่ามันคือปฏิบัติการล้างจานครึ่งใบ ถ้าเปรียบความสกปรกบนจานที่ผ่านการใช้งานมาแล้วคือผลประโยชน์จากการคอรัปชั่น ปฏิบัติการนี้ก็แค่การทำความสะอาดกลุ่มที่ไม่ใช่พวกออกไป แต่ยังคงเหลือกลุ่มของตนเองและพวกพ้องเอาไว้ ในที่สุดเมื่อไม่มีกลุ่มอื่นๆแล้ว กลุ่มของตนก็จะเข้าไปครอบครองผลประโยชน์เหล่านั้นไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ต่างจากจานที่สะอาดเพียงครึ่งหนึ่ง ไม่ช้าความสกปรกก็จะลุกลามไปจนทั่วทั้งใบอีกครั้ง เราจึงไม่เคยเห็นคอร์รัปชันในประเทศนี้หมดไปเสียที

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท