|
นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ รูปแบบของการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์
ความเป็นมาและสภาพปัญหา
เด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตและดัชนีชี้วัดคุณภาพของประชากรที่เป็นที่ยอมรับกันว่า คุณภาพของคนมีความสัมพันธ์กับความเจริญของประเทศ ดังนั้นการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาประเทศ จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มเด็กไทยมีคุณภาพลดลงซึ่งสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม มีแนวโน้มการพัฒนาการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่เด็กไทยจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคตนั้น เด็กไทยควรได้รับการดูแลการพัฒนาทั้งทางด้านความสมบูรณ์ให้พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ซึ่งเป็นรากฐานจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของเด็กไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจากงานวิจัยในระดับนานาชาติที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีปัญหาทั้งความฉลาดทางอารมณ์และทางด้านสติปัญญาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล[๑]
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายการศึกษาว่า เป็นกระบวนจัดการเรียนรู้เพื่อสู่ความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม สืบสานทางวัฒนธรรมการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยมีความมุ่งหมายและหลักการตาม มาตรา ๖ คือการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข และมาตรา ๒๒ และ มาตรา ๒๓ ที่กำหนดแนวทางจัดการศึกษาที่เน้นความสำคัญแก่ผู้เรียนทุกคน โดยยึดหลักว่าทุกคนมีความสามารถ ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ในการจัดการศึกษาต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการและบูรณาการตาม ความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา สำหรับกระบวนการจัดการเรียนการสอน มาตรา ๒๔ กำหนดให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ผู้เรียนรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา อีกทั้งมีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ[๒]
สภาพปัญหาของนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ฐานะทางเศรษฐกิจยากจนครอบครัวแตกแยก รวมทั้งเป็นครอบครัวอพยพเพื่อหางานทำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้โรงเรียนต้องมีจัดทำนวัตกรรมการบริหารในรูปแบบที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาและสร้างความรู้สึกว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองที่ให้ความอบอุ่นและสามารถดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ในทุกเรื่อง จากการวิเคราะห์ ด้านบริบทของภาวะแวดล้อมของนักเรียนและสังคมที่นักเรียนต้องเผชิญ โรงเรียนจึงได้จัดทำนวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบ กิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน สานสายใยเปรียบเสมือนความห่วงใยที่มีระหว่างนักเรียนและครู ในครอบครัวซึ่งเปรียบได้กับโรงเรียนที่นักเรียนต้องใช้เวลาอยู่ในแต่ละวันอย่างน้อย ๖ - ๗ ชั่วโมง จุดมุ่งหมายของกิจกรรมเป็นไปเพื่อการพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยให้ครูได้แสดงตนประหนึ่งเป็นแม่ของลูกที่มีแต่ความเอื้ออาทร ใช้เหตุผลและจิตวิทยาในการดูแลนักเรียนเพื่อกล่อมเกลาปัญหาในจิตใจนักเรียน ซึ่งทำให้ปัญหาต่างๆ ได้ลดหรือบรรเทาเบาบางลงและมีชีวิตที่สามารถอยู่ในสังคมได้
ภารกิจหลักของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติโรงเรียนต้นแบบในฝันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรีเขต ๑ มีภารกิจในการให้บริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ทั้งนี้เพื่อมุ่งพัฒนาให้นักเรียนมีคุณภาพได้มาตรฐาน การจะดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมาย คือการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงต่อนักเรียน โรงเรียนในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตด้านคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน แก้วิกฤตความเสื่อมโทรมของสังคม จึงได้จัดทำนวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยมุ่งหวังให้ครูสามารถวิเคราะห์ปัญหาและมีแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียนในเบื้องต้น สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับนักเรียน ให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ โดยให้คำปรึกษา ครูมีความพร้อม เข้าใจเต็มใจใน การให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่น รู้สึกมีความไว้วางใจครู กล้าบอกความจริง ทำให้ครูสามารถส่งเสริมช่วยเหลือตามศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งสอดคล้องกับมาตราที่ ๒๒ แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก[๓] กล่าวไว้ว่าการปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและผู้ใดพบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพตามหมวด ๓ และหมวด ๔ จะต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา ๒๔ โดยมิชักช้า แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รับตัวเด็กไว้รักษาพยาบาล อาจารย์ ครูหรือนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กที่เป็นศิษย์หรือลูกจ้าง จะต้องรายงานให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา ๒๔ ทราบโดยมิชักช้า หากเป็นที่ปรากฏชัดหรือน่าสงสัยว่าเด็กถูกทารุณกรรมหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ การแจ้งหรือการรายงานตามมาตรานี้ เมื่อได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางปกครอง
นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบกิจกรรม สานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ เป็นความพยายามที่ผู้บริหาร ครู อาจารย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแรงร่วมใจกันให้การช่วยเหลือส่งเสริมนักเรียนอย่างมีระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความผูกพันระหว่างครูและศิษย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนให้มีทักษะการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีความสุข ตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่เกี่ยวข้องดังนี้ ๑. รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์และมอบนโยบายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ ว่า ต้องการให้กระทรวง ๓ กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะทุกองค์กรจะเจริญก้าวหน้าได้ต้อง อยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงประเทศไทยหากไม่สามารถพัฒนาให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพแล้ว การพัฒนาของประเทศไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะอนาคตของชาติอยู่ที่เยาวชน จึงต้องเน้นให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพและถือว่าการแก้ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนคือการลงทุน ไม่ได้มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตาธรรมและมองว่าเยาวชนทุกคนคือลูกหลานของตัวเอง เพื่อที่จะช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กมีสุขภาพกายแข็งแรงสมประกอบ มีพัฒนาการตามอายุ มีสภาพจิตใจที่ดีและมีคุณภาพทางปัญญา มีความสามารถในการเรียนรู้ มีพัฒนาการสมองที่ทัน การพัฒนาการของโลก จะนำมาสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม ทั้งของตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติ[๔]
๒. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำระบบ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ และประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้เป็นปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน พัฒนาครู ในการปฏิรูปการเรียนการสอนมีหลายสิ่งต้องทำและแก้ไขและระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นเรื่องหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะ เนื่องจากผลการดำเนินการในภาพรวมพบว่านักเรียนในกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ พึงประสงค์คือหลังจากการดำเนินการตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนแล้ว จำนวนนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหาลดลงในภาพรวมร้อยละ ๑๑.๗๓ และ ๑๓.๘๙ ตามลำดับ ส่วนกลุ่มปกติมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๖๓[๕]
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดทุกแห่ง จัดให้มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและกำหนดมาตรฐานการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพนักเรียน เน้นกิจกรรม ส่งเสริมการพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาและการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยการมีมาตรการให้สถานศึกษามีมาตรฐานในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคม สิทธิเด็ก ตลอดจนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาพฤติกรรมนักเรียน ปัญหาทางเพศ โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครอง ชุมชนและองค์กรในท้องถิ่น ประสานการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการพัฒนา ส่งเสริม แก้ไขและส่งต่อนักเรียน[๖]
ปัญหา
จากสภาพการณ์ที่กล่าวข้างต้นและสาเหตุของปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพและด้านสติปัญญาทั้งปัญหาที่มาจากตัวเด็กเองและจากผู้ปกครองและครอบครัวของเด็ก ปัญหาจากตัวเด็ก คือ การขาดความสามารถในการเรียนรู้ ขาดระเบียบวินัย ไม่รู้จักตนเอง ติดเกม สมาธิสั้นและขาดความอดทน มีปัญหาทางด้านจิตเวช ส่วนปัญหาของผู้ปกครองที่ส่งผลถึงเด็กคือการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็ก ปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้อง ทำให้เด็กพัฒนาแบบเอียงข้างเพราะการที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนครูผู้สอน ต่างเน้นให้เด็กต้องขยันเรียนวิชาการ สอบ O-NET,NT ให้ได้คะแนนสูงๆ เท่านั้น โดยไม่สนใจให้เด็กได้พัฒนาทุกด้าน ไม่ว่า การกระตุ้นให้สมองได้ทำงานทั้งสองส่วนอย่างสมดุล นอกจากนี้พบการสำรวจครั้งล่าสุดว่าเด็กในวัยเรียนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงมากกว่าการแสวงหาความรู้ อีกทั้งยังขาดการแนะนำจากผู้ปกครอง จึงทำให้สมองไม่เกิดการเรียนรู้และชาชิน
ในปัจจุบันได้มีการศึกษาพัฒนาการของเด็กวัย ๖ -๑๒ ปี ซึ่งอยู่ในระดับประถมศึกษา พบว่าเด็กในวัยนี้เป็นวัยแห่งการสร้างรากฐานสำหรับทักษะการดำเนินชีวิตในวัยผู้ใหญ่และความเชื่อมโยงกับผู้อื่น นอกจากการที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแล้ว ยังชอบที่จะเคลื่อนไหว อยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย ชอบเรื่องตื่นเต้นผจญภัย เป็นวัยแห่งการตั้งคำถามและการค้นหาคำตอบ จึงเป็นวัยที่ทุกก้าวย่างต้องการการเรียนรู้ ต้องการแสดงออกอย่างอิสระ มีความสามารถในการคิดกลับไปกลับมา สามารถมองสิ่งต่างๆ ได้หลายแง่หลายมุม สามารถแยกหมวดหมู่ คิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุมีผล แก้ปัญหาและปรับตัวได้ ซึ่งเป็นความเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถที่หลากหลาย (พหุปัญญา : Multiple Intelligences) ซึ่งสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น หากได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้องหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กจึงควรจัดตามศักยภาพและความต้องการของเด็กที่มีความแตกต่างกัน ในทางกลับกันการทำโทษ การสร้างความกลัว มีสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่ไม่ดี จะทำให้เด็กเกิดความเครียดโดยร่างกายจะสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล กดภูมิคุ้นกันของร่างกายและทำลายเซลล์ประสาทและเครือข่ายเส้นใยประสาทสมองเด็กอีกด้วย[๗]
โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับคณะกรรมการบริหารโรงเรียน นำแนวคิดความเป็นครอบครัวเดียวกัน เพื่อการสร้างความไว้วางใจและความอบอุ่น เข้าใจปัญหาของนักเรียน โดยเมื่อใดที่ได้พบรายงานข้อมูลว่านักเรียนมีปัญหาไม่ว่าทางด้านใด โรงเรียนจะดำเนินการแก้ไขและให้ ความช่วยเหลือทันทีทันใด รวมทั้งการส่งต่อผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากโรงเรียนไม่มีความสามารถในการดูแลช่วยเหลือ รวมทั้งเก็บข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ เพื่อให้นักเรียนเกิด ความไว้วางใจ จากความสำเร็จที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยการนำทฤษฎีโรงเรียนเพื่อนเด็กในเรื่องการให้สิทธิและโอกาสกับเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นำมาบูรณาการเข้ากับทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนเกิดคุณธรรม จริยธรรม มีภูมิคุ้มกัน ป้องกันความเสี่ยงและอยู่อย่างการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง นับจากการดำเนินการตามแนวปฏิบัติในเรื่องระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนำมาประกอบกับการจัดทำนวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ พบว่าปัญหาด้าน ความประพฤตินักเรียนที่ไม่เหมาะสมค่อย ๆ ลดไป ปัญหาทางด้านจิตเวชเด็กมีแนวโน้มลดลงตามลำดับการดูแล ผู้เสนอนวัตกรรมในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ จึงเป็นผู้นำทีมงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ร่วมกันคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่พบทั้ง ด้านการเรียน ด้านพฤติกรรม ด้านความอบอุ่นที่นักเรียนขาดหายไป โดยเห็นพ้องต้องกันว่าระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้นเป็นปฏิบัติการบริหารเชิงระบบ (PDCA) หากปฏิบัติอย่างจริงจังทุกขั้นตอน ประกอบกับอุบายการนำหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาในเรื่องเบญจขันธ์ มาปรับใช้อย่างแยบคายระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป เริ่มตั้งต้นด้วยการประชุมเพื่อร่วมกันวางแผนคิดค้นนวัตกรรมทางการศึกษาช่วยเหลือแก้ไขปัญหานักเรียน กระบวนการปฏิบัติใดที่ส่งผลมากที่สุดชัดเจนที่สุด ทั้งได้ทบทวนแนวคิดวิธีการดำเนินการ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับวิธีการสร้างคุณธรรมจริยธรรมกับการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนประกอบด้วยกลวิธีปลูกฝังและนำเอาหลักจิตวิทยามาใช้หลอมรวมกับคำสอนแบบเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญาสังขารและวิญญาณ นักเรียนจะได้เรียนรู้ปลูกฝังตามขั้นตอน ๕ ขั้น คือ ๑) ขั้นรูปกำหนดและเสนอสิ่งเร้า โดยมีการกำหนดสิ่งเร้าเป็นสิ่งที่สัมผัสด้วยประสาทต่าง ๆ แล้วเกิดอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสถานการณ์หลายๆ สถานการณ์ ๒) ขั้นเวทนา รับรู้ นักเรียนได้รับการควบคุมดูแลให้ได้สัมผัส โดยอายตนะ ทั้ง ๖ เช่น หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกช่องทางการรับรู้อย่างแท้จริง ใช้คำถามการเรียนรู้ทางการรับรู้ ๓) ขั้นสัญญา วิเคราะห์เหตุผลและวิเคราะห์ความรู้สึก นักเรียนคิดแยกแยะว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร ตอบคำถามเพื่อให้นักเรียนสรุปความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ๔) ขั้นสังขาร ตัดสินความดีงาม นักเรียนได้วิจารณ์ความผิด ถูก ความดีงาม ความชั่วร้าย ความเหมาะสม ควรประพฤติ และไม่ควรประพฤติ ๕) ขั้นวิญญาณ ก่อเกิดอุปนิสัย หรือคุณธรรมฝังใจ โดยใช้คำถามเพื่อโน้มนำความดีหรือความรู้สึกอันชอบธรรม เข้ามาไว้ในใจของตน นักเรียนตอบคำถามโดยคำนึงถึงตนเองเป็นที่ตั้งเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ยอมรับ ค่านิยม คุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม
จุดประสงค์และเป้าหมายการดำเนินงาน (Innovation Research Objective)
๑.เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบ เบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์
๒.เพื่อเปรียบเทียบด้านคุณธรรมและจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติก่อน การใช้นวัตกรรมและหลังการใช้นวัตกรรม
๓.เพื่อหาประสิทธิภาพของนวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน รูปแบบ เบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ส่งผลต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ หรือไม่
ข้อคำถาม (Innovation Research Questions)
ผู้เสนอนวัตกรรมได้กำหนดข้อคำถามเพื่อเป็นแนวทางในการค้นหาคำตอบในการวิจัย ๓ ประการดังนี้
๑. นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ ของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติอยู่ในระดับใด
๒. นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียนด้านคุณธรรมจริยธรรม หรือไม่
สมมติฐานของการจัดทำนวัตกรรม (Innovation Hypothesis )
นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติด้านคุณธรรมจริยธรรมในระดับมาก
การออกแบบนวัตกรรม (Theory Conception Innovation Design) ผู้เสนอนวัตกรรม ออกแบบนวัตกรรมตามกรอบแนวคิด เรื่อง นวัตกรรมการบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์ ตามแนวคิดทฤษฎีบริหารเชิงระบบ PDCA และแนวปฏิบัติในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ๑) กำหนดทิศทางและกลยุทธ์การดูแลช่วยนักเรียน ๒) การวางแผนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ๓) การดำเนินการตามแผน ๔) การนิเทศติดตาม ๕) การประเมินผลปรับปรุงและพัฒนา ๖) การรายงานและการประชาสัมพันธ์[๘] ๗) รูปแบบกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูศิษย์ โดยนำเสนอนวัตกรรม โดยกำหนดกรอบแนวคิดจากทฤษฎี ดังนี้ ๑. แนวคิดการดำเนินงานระบบการดูแลชวยเหลือนักเรียน ๕ ด้านได้แก่ ๑) ด้านการรู้จักนักเรียนเปนรายบุคคล ๒) ด้านการคัดกรองนักเรียน ๓) ด้านการส่งเสริมและพัฒนานักเรียน ๔) ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา ๕) ด้านการส่งต่อนักเรียน
๒. แนวคิดการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ซึ่งมีแนวคิดมาจากพื้นฐานเรื่องการใช้เวลาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการให้คำปรึกษาเป็นเกณฑ์ โดยใช้กลวิธีปลูกฝังและนำหลักจิตวิทยามาใช้หลอมรวมกับคำสอนแบบเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญาสังขารและวิญญาณ นักเรียนจะได้เรียนรู้ปลูกฝังตามขั้นตอน ๕ ขั้น คือ ๑) ขั้นรูปกำหนดและเสนอสิ่งเร้า โดยมีการกำหนดสิ่งเร้าเป็นสิ่งที่สัมผัสด้วยประสาทต่าง ๆ แล้วเกิดอารมณ์ ความรู้สึก เป็นสถานการณ์หลายๆ สถานการณ์ ๒) ขั้นเวทนา รับรู้ นักเรียนได้รับการควบคุมดูแลให้ได้สัมผัส โดยอายตนะ ทั้ง ๖ เช่น หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกช่องทางการรับรู้อย่างแท้จริง ใช้คำถาม การเรียนรู้ทางการรับรู้ ๓) ขั้นสัญญา วิเคราะห์เหตุผลและวิเคราะห์ความรู้สึก นักเรียนคิดแยกแยะว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร ตอบคำถามเพื่อให้นักเรียนสรุปความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ๔) ขั้นสังขาร ตัดสินความดีงาม นักเรียนได้วิจารณ์ความผิด ถูก ความดีงาม ความชั่วร้าย ความเหมาะสม ควรประพฤติ และไม่ควรประพฤติ ๕) ขั้นวิญญาณ ก่อเกิดอุปนิสัย หรือคุณธรรมฝังใจ โดยใช้คำถามเพื่อโน้มนำความดีหรือความรู้สึกอันชอบธรรม เข้ามาไว้ในใจของตน นักเรียนตอบคำถามโดยคำนึงถึงตนเองเป็นที่ตั้งเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ ยอมรับ ค่านิยม คุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม
มาตรฐานคุณภาพนักเรียน คือ ๑) นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ๒) ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ๓) ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต ๔) ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและ มีวิสัยทัศน์ ๕) ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ๖) ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ๗) ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพ จิตที่ดี ๘) ผู้เรียนมีสุนทรีภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและกีฬา ตามเกณฑ์มาตรฐาน ด้านคุณภาพผู้เรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ[๙]รายละเอียดดังแผนภูมิที่ ๑
|
การออกแบบนวัตกรรม การบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์
นวัตกรรมการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน (Xtot) |
|
คุณภาพนักเรียน โรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ(Ytot) |
๑.การกำหนดทิศทาง (X๑) ๒.การวางแผนและการดำเนินงาน(X๒) ๓.การดำเนินตามแผน (X๓) ๔.การนิเทศติดตาม (X๔) ๕.การประเมินผลปรับปรุงและพัฒนา (X๕) ๖. การรายงานและการประชาสัมพันธ์ (X๖) ๗การบริหารระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบเบญจขันธ์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์(X๗) |
๑.ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ (Y๑) ๒.ผู้เรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Y๒) ๓. ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต (Y๓) ๔.ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ (Y๔) ๕.ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร(Y๕) ๖.ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง(Y๖) ๗.ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี(Y๗) ๘.ผู้เรียนมีสุนทรีภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและกีฬา(Y๘) |
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทางการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๔๙), ๑๑ – ๑๒.
รูปแบบการสอนแบบเบญจขันธ์ [Online], accessed ๘ July ๒๐๑๓ http://anchan.lib.ku.ac.th/kukr/bitstream/๐๐๓/๒๑๐๒๙/๑/kerv๐๐๑๘noo๓a๐๔.pdf
|
ข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption)
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ใช้วิธีการแบบสอบถามและแบบสนทนากลุ่ม โดยใช้ประชากรและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียนและ ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ
นิยามศัพท์เฉพาะ (Definition)
เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันผู้เสนอนวัตกรรมได้กำหนดนิยามศัพท์ ซึ่งใช้ในการวิจัยครั้งนี้ไว้ดังต่อไปนี้
การบริหาร หมายถึง กระบวนการบริหารโดย การกำหนดนโยบาย กำหนดจุดประสงค์ วางแผน จัดองค์การ การจัดบุคลากร การปฏิบัติงาน การควบคุม การรายงานผลงาน การพัฒนาและ การปรับปรุง
ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หมายถึง กระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีขั้นตอนชัดเจน พร้อมทั้งมีวิธีการและเครื่องมือที่มีคุณภาพและมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้โดยมีครูประจำชั้นหรือครูประจำครอบครัวครูและศิษย์ เป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงานและบุคลากร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา อันได้แก่ ผู้บริหารและครู ผู้ปกครอง เครือข่ายผู้ปกครองคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
คุณภาพนักเรียน หมายถึงนักเรียนมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ มีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร มีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุนทรีภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและกีฬา
การวางแผนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน หมายถึง กระบวนการวางแผน การดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรครูและบุคลากรทุกฝ่ายให้เกิดความตระหนัก มีเจตคติที่ดี มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินงานตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้ การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การกำหนดโครงการหรือกิจกรรมการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดหาสื่อ/นวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ในการดำเนินงาน การรวบรวมข้อมูลและจัดทำสารสนเทศด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การประสานความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อระดมทรัพยากรในการดำเนินงาน
|
การดำเนินงานการตามแผนกลยุทธ์ หมายถึง การนำแผนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสู่การปฏิบัติของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยการบูรณาการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานตามปกติของโรงเรียนครอบคลุมการดำเนินในสองลักษณะ คือ ๑) การสอนปกติ เป็นการส่งเสริมพัฒนานักเรียนโดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งสาระการเรียนรู้พื้นฐานและสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม และการพัฒนานักเรียนโดยผ่านกิจกรรม ๒) การดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนต้องดำเนินการร่วมกันช่วยเหลือดูแลนักเรียนให้ตรงกับสภาพปัญหาหรือพฤติกรรมของนักเรียน ควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนปกติ
การนิเทศติดตาม หมายถึง การนิเทศ ติดตาม ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานผู้นิเทศ เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามโครงการหรือกิจกรรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีการนิเทศภายใน อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง ใช้วิธีการนิเทศที่หลากหลาย เช่น สอบถาม สัมภาษณ์ เยี่ยมชั้นเรียน ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำเสนอข้อมูลความรู้ เทคนิควิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การประสานขอความร่วมมือจากบุคคลภายนอกให้การนิเทศ การติดตามผลการดำเนินงานของครู และบุคลากรในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
การประเมินผลปรับปรุงและพัฒนา หมายถึง การประเมินผลการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยมีการกำหนดเป็นช่วงเวลาในนำผลการประเมินมาใช้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยบรรยากาศร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาอุปสรรค การสร้างเสริมขวัญและกำลังใจ และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดความสำเร็จ
การรายงานและการประชาสัมพันธ์ หมายถึง การรายงานผลการดำเนินงานและการประชาสัมพันธ์โครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อสรุปภาพรวมของการดำเนินงานทั้งระบบให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนทราบ โดยดำเนินการดังนี้ จัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SelfAssessment Report) ตามระบบประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีการประชาสัมพันธ์รายงานการดำเนินงานเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและชุมชน และรายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต ๑
กิจกรรมสานสายใยครอบครูศิษย์ หมายถึง การใช้กิจกรรมที่บูรณาการมาจากแนวคิดที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ครูควรรู้จักนักเรียนเป็นอย่างดี แล้วพยายามจัดบรรยากาศในการเข้ากลุ่ม จัดลำดับความสำคัญ ความยากง่ายของ ยืดหยุ่น กลวิธีในการสร้างความเชื่อใจมั่นใจ และนำเอาหลักจิตวิทยามาใช้ เบญจขันธ์เป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้หลักการยืดมั่น ถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญาสังขารและวิญญาณ นักเรียนจะได้เรียนรู้ปลูกฝังตามขั้นตอน ๕ ขั้นตอน นำมาประยุกต์ใช้ในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการสร้างความไว้วางใจ ความอบอุ่น ความห่วงใย การดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การอบรมคุณธรรม จริยธรรม การรับรู้และการแก้ไขปัญหา เสมือนโรงเรียนเป็นบ้านหลังที่สองของนักเรียน มีผู้อำนวยโรงเรียน รองผู้อำนวยการ และครูปฏิบัติตนเสมือนเป็นพ่อและแม่ของนักเรียน อยู่ในโรงเรียนกันด้วยความรักและผูกพันกัน นักเรียนปฏิบัติตนเสมือนลูก มีสิทธิเลือกครูพ่อและครูแม่ของตนเองได้
|
นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ หมายถึง นักเรียนมีวินัยมีความรับรับผิดชอบละปฏิบัติตนตามหลักธรรมเบื้องต้นของศาสนาที่ตนนับถือ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกตัญญูกตเวที มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม มีความประหยัด รู้จักใช้ทรัพย์สิ่งของส่วนตนและส่วนรวมอย่างคุ้มค่า มีความภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าภูมิปัญญาไทย นิยมไทย และดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย
นักเรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม หมายถึง นักเรียนรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมกิจกรรมหรือโครงการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม
นักเรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต หมายถึง นักเรียนมีทักษะในการจัดการและทำงานให้สำเร็จ มีความเพียรพยายาม ขยัน อดทน ละเอียดรอบคอบในการทำงาน ทำงานอย่างมีความสุข พัฒนางานและภูมิใจในผลงานของตนเอง ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความรู้สึกที่ดีต่ออาชีพสุจริตและหาความรู้เกี่ยวกับอาชีพที่ตนสนใจ
นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ หมายถึง นักเรียนสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปความคิดรวบยอด คิดอย่างเป็นระบบ และมีการคิดแบบองค์รวม สามารถคาดการณ์ กำหนดเป้าหมาย และแนวทางการตัดสินใจได้ สามารถประเมินและเลือกแนวทางการตัดสินใจและแก้ไขอย่างมีสติ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองโลกในแง่ดี และมีจิตนาการ
นักเรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร หมายถึง นักเรียนมีระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยตามเกณฑ์ มีผลการทดสอบรวบยอดระดับชาติเฉลี่ยตามเกณฑ์ สามารถสื่อความคิดผ่านการพูด เขียน หรือนำเสนอด้วยวิธีต่าง ๆ สามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง หมายถึง นักเรียนรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หมายถึง นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน การเขียน และการฟัง รู้จักตั้งคำถามเพื่อหาเหตุผล สนใจแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ รอบตัว ใช้ห้องสมุด แหล่งความรู้และสื่อต่าง ๆ ได้ ทั้งในและนอกสถานศึกษา มีวิธีการเรียนรู้ของตนเอง เรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นได้ สนุกกับการเรียนรู้ และชอบมาโรงเรียน
|
นักเรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี หมายถึง นักเรียนมีสุขนิสัยในการดูแลสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีน้ำหนัก ส่วนสูงและมีสมรรถภาพทางกายตามเกณฑ์ นักเรียนป้องกันตนเองจากสิ่งเสพติดให้โทษและหลีกเลี่ยงสภาวะที่เสี่ยงต่อความรุนแรง โรคภัย อุบัติเหตุ และปัญหาทางเพศ นักเรียนมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม และให้เกียรติผู้อื่น นักเรียนมี มนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อน ครูและผู้อื่น
นักเรียนมีสุนทรีภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและกีฬา หมายถึง นักเรียนมีความชื่นชม ร่วมกิจกรรม และมีผลงานด้านศิลปะ มีความชื่นชม ร่วมกิจกรรม และมีผลงานด้านดนตรีหรือนาฏศิลป์ มีความชื่นชม ร่วมกิจกรรม และมีผลงานด้านกีฬาหรือนันทนาการ
กิจกรรมสานสายใยครอบครัวครูและศิษย์
[๑]กรมสุขภาพจิต สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, โครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ปี ๒๕๕๐ รายงานการสัมมนาประเมินผล สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ (กรุงเทพฯ : โซดา สตูดิโอ ครีเอชั่น แอนด์ พลับลิชชิ่ง,๒๕๕๐), ๖๑.
[๒]สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักนายกรัฐมนตรี, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ (กรุงเทพ ฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด, ๒๕๔๖), ๒ - ๑๔.
[๓]พระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเด็ก [Online], accessed ๘ July ๒๐๑๓ http://www.sobkroo.com/csob_๑๔.htm.
[๔]สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทางการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง ประเทศไทย จำกัด, ๒๕๔๙), ๑ - ๒.
[๕]กระทรวงศึกษาธิการ, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕. (กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิก จำกัด, ๒๕๔๖), ๕.
[๖]เรื่องเดียวกัน, ๒.
[๗]กรมสุขภาพจิต, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, โครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ปี ๒๕๕๐ รายงานการสัมมนาประเมินผล สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ (กรุงเทพฯ : โซดา สตูดิโอ ครีเอชั่น แอนด์ พลับลิชชิ่ง, ๒๕๕๐), ๖๓.
[๘]สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทาง การดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๔๙), ๑๐ – ๑๒.
[๙] สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แนวทางการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัติ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๐), ๙ - ๑๑.
ข้อมูลดีดี เนือหาเชิงวิชาการ น่าจะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้ด้วย หากจะให้ดีและจะเกิดประโยชน์ต่อกัลยาณมิตรอีกหลายท่าน อาจารย์กรุณาย้ายหรือโยกไปไว้ที่หมวดบันทึก น่าจะเหมาะสมดีกว่าและเกิดประโยชน์มากกว่าอยู่ที่อนุทินนะครับ