อนุทิน 134293


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

วันก่อนผมฟังการดีเบตระหนักว่าว อ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย กับ สว. ไพบูลย์ นิติตะวัน เมื่อวันก่อน ผมรู้สึกว่า หากจะหาหลักวิชากฎหมาย และ การเมือง ตามหลักรัฐธรรมนูญตามหลักวิชา อยากให้ฟัง อ. พรสันต์ แต่หากจะหาการตีความเพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วหละก็ อยากให้ฟัง สว. ไพบูลย์

ประเด็นที่สำคัญก็คือ การที่สว.ไพบูลย์ ต้องการให้มีรัฐบาลเฉพาะกาล ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ผมอยู่ในยุคปี 2535 ในยุคนั้น มีคำขวัญในทางการเมืองอยู่ว่า นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง) เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง แล้วตำแหน่งนายกฯจะมาจากไหน

สังเกตดูว่าสว. ไพบูลย์จะอ้างมาตราจากรัฐธรรมนูญตลอด เช่น การแต่งตั้งรัฐมนตรี ตามมาตรา 172-173, การอ้างมาตรา 3 และ มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าการอ้างเอาแต่รัฐธรรมนูญมาเป็นตัวยืนยันให้กับความชอบธรรมในการตั้งนายกฯคนกลาง เป็นการทำเป็นการเฉพาะกาล และเฉพาะกิจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มีให้ และทำไม่ได้ก็อ้าง  "ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มาตรา 7) แล้วตีความเอาอย่างที่ใจชอบเป็นทางออก ผมว่านี่มีปัญหานะครับ

1. ตัวสว. เอง ไม่อาจยกบางถ้อยคำ วลีบางวลี หรือมาตราใดๆก็ตาม โดยไม่ดูบริบท และเจตนาในรัฐธรรมนูญได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้อยคำ หรือวลี และมาตราใดก็ตามแต่ จะต้องคำนึง โดยดูจากบริบท และเจตนาของรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เหมือนอย่างผมเวลาจะวิจารณ์หนังหรือหนังสือใดๆก็ตามแต่ ผมจะต้องเอาแก่นเรื่องขึ้นมาก่อน และตีความอย่างไรในแต่ละช่วงหรือแต่ละตอน นั่นจึงเป็นความคิดของผม 

   การแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองการปกครอง (political will) ของปวงชนชาวไทยต้องทำผ่านกระบวนการและสถาบันที่ระบุช่องทางขั้นตอนไว้ชัดเจนแน่นอน ได้แก่การเลือกตั้งและการลงประชามติของคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ทางอื่นเช่นก่อม็อบออกมาแล้วรับสมอ้างนี่เป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย มัน ไม่ใช่และไม่นับว่าสิ่งนี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยซ้ำ
สถาบันและกระบวนการที่กำกับการสำแดงออกของบทบัญญัติต่าง ๆ จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าถ้อยคำ/วลี/ข้อกำหนดบางอันในบทบัญญัตินั้น อาทิ
-อำนาจตุลาการ ต้องใช้ผ่านสถาบันศาลสถิตยุติธรรม ไม่ใช่ศาลประชาชนบนถนนราชดำเนินหรือปทุมวัน
-อำนาจนิติบัญญัติ ต้องใช่ผ่านสถาบันสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไม่ใช่สภาประชาชนแต่งตั้งเต็มร้อยโดยคุณสุเทพและกปปส.คัดสรร
-อำนาจบริหาร ต้องใช้ผ่านคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อรัฐสภา ไม่ใช่โดยคณะคนกลางเฉพาะกาลที่สรรหาคว้ามาจากไหนก็ไม่ทราบ โดยอ้างเอาเองดื้อ ๆ ว่าเป็น "คนกลาง" เป็นต้น

การอ้างอำนาจสูงสุดเหนือคนทั้งชาติและกลไกรัฐทั้งหมด โดยข้ามหัวสถาบันและกระบวนการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นสื่อประสานแสดงออกซึ่งอำนาจนั้นโดยชอบ ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเลยครับ ส่วน "ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" คืออะไรบ้างอย่างไรนั้น? ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนหนึ่งคนใดจะทึกทักเอาง่าย ๆ ยิ่งในทุกวันนี้ที่การตีความเรื่องนี้พิสดารพันลึกมากถึงขนาดว่าการปกครองรัฐอยุธยาเป็นระบอบสมบูรณาสิทธิราช แต่ปกครองโดยยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม ยังตีความว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ได้เลย ดังนั้นทึกทักง่าย ๆ ไม่ได้ครับ ต้องถกเถียงตรวจสอบกันอย่างถี่ถ้วนรอบด้านก่อน

http://youtu.be/gA03kFAEGBo



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท