อนุทิน 134203


สรวิชญ์
เขียนเมื่อ

ศึกษาวิเคราะห์มโนทัศน์เรื่องโพธิจิตในพุทธปรัชญามหายาน

AN ANALYTICAL STUDY ON THE CONCEPT OF BODHICITTA IN MAHAYANA BUDDHIST PHILOSOPHY

บทคัดย่อ

                         พระพุทธศาสนามหายานมีกระแสแนวคิดที่แตกต่างออกไปจากพระพุทธศาสนาดั้งเดิมแบบเถรวาท นักปราชญ์ฝ่ายมหายานมักจะมองและวิเคราะห์ทุกประเด็นที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวก รุ่นแรกเคยสอนเคยปฏิบัติ และเคยรวบรวมสังคายนาไว้ การมองโลกแบบมองต่างมุม ควรนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ชาวมหายานเรียกวิธีนี้ว่า หนึ่งน้ำ สี่มุมมอง (one water, four ways of seeing) [2]  คือเห็นของสิ่งหนึ่ง แต่มองกันในสี่ลักษณะ เช่นเห็นแม่น้ำสายหนึ่งทอดยาวอยู่ข้างหน้า มนุษย์มองเห็นเป็นน้ำ เปรตมองเห็นเป็นน้ำหนองและเลือด ปลามองเห็นเป็นที่อยู่อาศัย  เทวดามองเห็นเป็นที่เต็มไปด้วยอัญมณีหลากชนิด

                         พุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน นับว่ามีบทบาทสำคัญในโลก โดยเฉพาะทางซีกตะวันตกที่มีความตื่นตัวไปทางพุทธธรรม ซึ่งได้รับแรงดลใจจากทางมหายาน และจุดเด่นของมหายานก็อยู่ที่การมีอิสระจากกรอบวัฒนธรรมเดิมและพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้าซึ่งนับเป็นลักษณะที่ตะวันตกเรียกว่า “กลุ่มหัวก้าวหน้า (Progressive)”  ในการสืบทอดจากอินเดียสู่จีนนั้น ฝ่ายมหายานได้ละทิ้งรูปแบบเดิมของอินเดียเกือบจะสิ้นเชิง และปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่คือปรัชญาและวิถีชีวิตแบบจีนทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหาสาระอันก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ขึ้นมากมายโดยยังคงเนื้อหาสาระสำคัญไว้ตามเดิม และในการสืบทอดจากจีนและประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางอารยธรรมของจีน เช่น ธิเบต เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น สู่โลกตะวันตก จะเห็นว่าฝ่ายมหายานได้เริ่มเป็นอิสระจากกรอบวัฒนธรรมของเอเชีย และเริ่มแสวงหารูปแบบใหม่ ๆ  ที่เข้ากันได้กับสังคมและอารยธรรมตะวันตก  โดยสาระของการตรัสรู้ยังคงแสดงบทบาทสำคัญอยู่  สาระสำคัญนั้นคือ การตรัสรู้ หรือ การตื่นรู้ ของชีวิต มหายานถือว่าทุกชีวิตมีความพร้อมที่จะตรัสรู้อยู่แล้ว เพียงแต่รอคอยเงื่อนไขหรือการชี้แนะที่ถูกต้องเท่านั้น ทุกชีวิตมีธาตุรู้อยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่รอคอยการปลุกเร้าธาตุรู้นั้นให้ตื่นขึ้น ฉะนั้นการทำความรู้สึกตัวจึงเป็นวิธีการโดยตรงที่จะปลุกธาตุรู้นั้น แต่ “การปลุก และ การตื่น” ก็เป็นคนละสิ่งกัน การตื่นขึ้นของชีวิตจะเป็นไปเองและอยู่เหนือเงื่อนไขทั้งปวง

                         พระพุทธศาสนามหายานนั้น  มีหลักการสูงสุดอยู่ที่การบรรลุพุทธภูมิ  ผู้ที่จะบรรลุ พุทธภูมิได้นั้นต้องมีโพธิจิต คือการตั้งใจปรารถนามุ่งต่อพุทธภูมิด้วยการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ พระสูตรฝ่ายมหายานไม่ได้คำนึงเรื่องอื่นใดมากเท่ากับเรื่องพระโพธิจิต ซึ่งผูกพันมุ่งมั่นต่อพระโพธิญาณ เช่นในบางกรณีฆราวาสซึ่งมีพระโพธิจิต จึงถูกยกย่องเทิดทูนเหนือพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่มีอุดมคติมุ่งต่อพระโพธิญาณ และถ้าจำเป็นที่จะต้องเสียสละด้วยประการใด ๆ  แม้จนกระทั่งละเมิดต่อศีลประกอบกรรมที่เป็นบาป แต่หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยที่ตนเองจะต้องตกนรกแล้ว พระโพธิสัตว์ก็จำต้องทำโดยไม่พรั่นพรึง ถือว่าเป็นการอุทิศตนแก่สรรพสัตว์ และเป็นการช่วยเหลือดำรงประโยชน์สุขส่วนรวมเป็นหลักสำคัญ

                         การมุ่งเน้นบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์นี้  ฝ่ายเถรวาทกับมหายานเริ่มเผยแผ่ต่างกันแม้ทั้งสองนิกายจะมีจุดหมายปลายทางขั้นสุดท้ายเหมือนกันก็ตาม แต่อุดมคติในการดำเนินงานมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันออกไป โดยฝ่ายเถรวาทจะมุ่งการปฏิบัติที่ตนเองก่อนแล้วค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง  ส่วนมหายานกลับวางอุดมคติจูงใจไว้ว่า จะต้องบำเพ็ญเพื่อผู้อื่นโดยตั้งปณิธานว่าจะช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากโอฆสงสารจนหมดสิ้นเสียก่อน แล้วตนเองจึงจะบรรลุธรรมเป็นคนสุดท้าย การปฏิบัติธรรมในเบื้องแรกของมหายานคือ เรื่องเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ คำว่า โพธิสัตว์นั้น โดยอรรถาธิบายตามศัพท์คือ  ผู้ข้องอยู่ในโพธิ  ผู้ที่เข้าถึงพุทธภาวะ  ผู้จะตรัสรู้เป็นพุทธะในวันข้างหน้า[3]  บุคคลสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทุกคน  ไม่ว่าผู้ครองเรือนหรือบรรพชิต  หากได้ตั้งปณิธานมุ่งมั่นจะกระทำความดีต่อสรรพสัตว์ ปณิธานนั้นมหายานถือว่าเป็นบันไดทางเดียวที่จะนำไปสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ได้ เป็นธรรมที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะต้องมีประจำจิตใจเพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า

                         วิวัฒนาการของพระพุทธศาสนานิกายมหายานนั้น พระพุทธศาสนามหายานมีวิวัฒนาการมาจาก  ๑๘ นิกาย ดั้งเดิมของฝ่ายเถรวาทเป็นหลัก[4] และต่อมาก็มีการดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขพระธรรมวินัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมในยุคสมัยนั้น ๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์และอุดมคติ  อุดมคติมหายานคือ  การบรรลุพุทธภูมิ และผู้ที่จะบรรลุพุทธภูมิต้องบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ ดังเช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  เป็นต้น

                         หลักการสำคัญที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอีกประการหนึ่งคือ  พระโพธิสัตว์ผู้ ได้ฝึกฝนบำเพ็ญตนสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่พุทธภูมิ พระองค์ทรงมีเมตตาต่อสัตว์โลก พระองค์จึงเป็นการเนรมิตพระกายนิรมาณกายต่าง ๆ  เพื่อที่จะไปโปรดสัตว์เหล่านั้นให้พ้นจากทุกข์ให้หมดสิ้นเสียก่อน โดยที่พระองค์เองจะขอเข้าสู่พุทธภูมิเป็นรายสุดท้าย

                         ในด้านคำสอนระหว่างเถรวาทกับมหายานนั้น  พระพุทธศาสนาเถรวาท อธิบายอริยสัจ ๔ ว่า ทุกข์ อันบุคคลควรกำหนดรู้, สมุทัย  ควรละ, นิโรธ ควรทำให้แจ้ง, มรรค ควรเจริญหรือบำเพ็ญ, ฝ่ายมหายานก็เห็นเหมือนกัน แต่เพิ่มเติมที่ว่าโพธิสัตว์นั้น นอกจากกำหนดรู้ทุกข์ของตนแล้ว จะต้องพยายามให้สัตว์ทั้งหลายอื่นกำหนดรู้ด้วย เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็เหมือนกัน หลักการอีกอย่างหนึ่งที่ให้พุทธศาสนานิกายมหายานต่างจากเถรวาทคือ พระโพธิสัตว์เป็นตัวแทนของการแสดงคุณลักษณะของมหากรุณา ซึ่งหมายถึงความกรุณาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมหาชน แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องการบำเพ็ญโพธิจิต หรือการเข้าถึงพุทธภาวะนี้ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับปณิธาน และปฏิปทาที่จะบรรลุพุทธภาวะดังที่ทราบกันเท่านี้ แต่ยังมีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนสำคัญในเรื่องศูนยตาธรรมด้วย เพราะความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตานั้นเป็นหลักการที่สำคัญในการที่จะทำให้พระโพธิสัตว์เข้าถึงพุทธภาวะ

                         หลักศูนยตาธรรมเป็นการอธิบายสภาวธรรมในลักษณะที่เป็นนามธรรม  ส่วนปฏิปทาของพระโพธิสัตว์อันเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและความเสียสละเป็นผลมาจากประพฤติปฏิบัติจริง  เป็นสิ่งทำให้คำสอนที่เป็นนามธรรมแสดงออกมาให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม  ซึ่งกิจทั้งปวงของพระโพธิสัตว์นี้เป็นการกระทำโดยปราศจากความยึดมั่นในอัตตาแล้วโดยสิ้นเชิง แนวทางนี้เป็นการยืนยันว่าหลักธรรมดังกล่าวในพระพุทธศาสนามหายานสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยปรากฏเป็นผลที่เป็นจริง[5]

                         ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์ประวัติความเป็นมาและเนื้อหาของคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องโพธิจิตว่า ผู้ประพันธ์ได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องโพธิจิตในพุทธปรัชญามหายานอย่างไร วิธีการเข้าถึงโพธิจิตของพระโพธิสัตว์  พระคุณลักษณะที่แสดงพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมหาชนของพระโพธิสัตว์ แนวความคิดเรื่องโพธิจิตมีความสัมพันธ์กับปณิธานและปฏิปทาที่จะบรรลุพุทธภาวะของพระโพธิสัตว์  โพธิจิตมีความสัมพันธ์กับคำสอนหลักในเรื่องศูยนตาธรรมอย่างไร และปฏิปทาของพระโพธิสัตว์อันเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและความเสียสละเป็นผลมาจากการประพฤติปฏิบัติที่เป็นสิ่งทำให้คำสอนที่เป็นนามธรรมแสดงออกมาให้ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรม 

 

เรื่องโพธิจิตในพุทธปรัชญามหายาน

                         คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะสันนิษฐานได้ว่า คัมภีร์นี้ศานติเทวะได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ ๗ – ๘ (ค.ศ. ๖๘๕ – ๗๖๓ หรือ พ.ศ. ๑,๑๐๐ - ๑,๒๐๐) ตามช่วงเวลาการมีชีวิตอยู่ของท่าน[6]

                         คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร เป็นกวีนิพนธ์สันสกฤตที่สำคัญเล่มหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายานนิกายมาธยมิก มีเนื้อหาว่าด้วยการดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์ หรือหลักปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้ (โพธิจิต) เน้นพรรณนาถึงการปลูกฝังโพธิจิต การได้รับประโยชน์จากโพธิจิต การมีจิตมุ่งต่อพระโพธิญาณเพื่อบรรลุถึงพุทธภาวะ โดยการปฏิบัติฝึกหัดจิตไปตามบารมี ๖ นับตั้งแต่ ทานบารมี ศีลบารมี กษานติบารมี วีรยบารมี ธยานบารมีและปรัชญาบารมี ตลอดถึงจริยธรรมและคุณธรรมต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์

                          คัมภีร์โพธิจรรยาวตารมีเนื้อหาเน้นหนักไปในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามหายาน มุ่งอธิบายหลักการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ไว้อย่างสมบูรณ์ชัดเจน ในปัจจุบันคัมภีร์นี้จึงถูกจัดเป็นตำราเรียนของพระภิกษุในธิเบต คล้ายกับคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่พระสงฆ์ไทยนำมาศึกษากันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์ทะไลลามะทรงเลื่อมใสข้อธรรมคำสั่งสอนของท่านศานติเทวะมาก[7] พระองค์ทรงนำคัมภีร์นี้มาเป็นแบบฉบับในอุดมคติ และเป็นแนวทางปฏิบัติของพระองค์เอง บ่อยครั้งที่ทรงยกข้อความในคัมภีร์นี้มาบรรยายให้สาธุชนได้รับฟังเสมอ

                         แนวคิดเรื่องโพธิจิตในพุทธปรัชญามหายาน พระพุทธศาสนามหายานมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า สรรพสัตว์ทุกชนิดล้วนมีพุทธภาวะอยู่ในตัวเอง[8] ทุกคนมีธาตุบริสุทธิ์อยู่ในจิตและมีสภาวะของธรรมกายปรากฏแทรกซึมอยู่ในสัตว์ทุกรูปทุกนาม ซึ่งทรรศนะเช่นนี้เองได้นำไปสู่การขยายแนวความคิดเรื่องตถาคตครรภ์ (ช่องว่างของความเป็นพุทธะ) ไปจนเห็นว่า จิตของเราก็คือจิตของพุทธะนั่นเอง ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนามหายานสรรพสัตว์สามารถบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ได้เท่าเทียมกันหมด และมีศักยภาพพอที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ตรัสรู้ธรรมได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ  หากเขาได้ตั้งปณิธานมีจิตใจมั่นคงต่อการตรัสรู้แล้ว การบรรลุถึงพุทธภูมิย่อมมีอันหวังได้ด้วยเหตุนี้เอง แนวความคิดเรื่องโพธิจิตจึงถูกพัฒนาขยายขึ้นเป็นหลักคำสอนสำคัญที่จะทำบุคคลให้ก้าวล่วงจากทุกข์บรรลุสู่พุทธภูมิได้ในที่สุด

                   การปลุกโพธิจิตก็คือการตั้งปณิธานหรือความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อพิจารณาละเอียด พระโพธิสัตว์ก็จะยิ่งคุ้นเคยกับการสัมผัสถึงความทุกข์ของสัตว์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภพภูมิมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีสัตว์ที่ดิ้นรนเวียนว่ายอยู่ในภพน้อยใหญ่อื่นอีกมากมาย การหยั่งเห็นทุกข์ของสัตว์จำนวนมากก่อให้เกิดความปรารถนาจะปลดปล่อยทั้งตนและผู้อื่นให้พ้นจากวงจรเวียนว่ายตายเกิด นี่เองคือความหมายและคุณค่าของโพธิจิต[9] ไม่มีอะไรถูกผลักไสหรือถูกมองเป็นเรื่องน่าชิงชังหรือน่ารังเกียจเลย

                         คัมภีร์โพธิจิตจรรยาวตารได้กล่าวถึงความหมายของโพธิจิตไว้อย่างชัดเจนในปริเฉทที่ ๑ ว่า หมายถึง การตั้งจิตปรารถนาที่จะบรรลุถึงการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อคอยช่วยเหลือหมู่สัตว์ทั้งหลายให้รอดพ้นไปจากความทุกข์ยากและบรรลุถึงความสุขโดยถ้วนหน้า อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง ความตั้งใจมั่นที่จะประกอบตนอยู่ในการบำเพ็ญบารมีธรรมและสร้างสมบุญกุศลทั้งปวงจนกว่าตนได้บรรลุถึงการตรัสรู้ในที่สุด ดังของความว่า

                         โพธิจิตนั้นบุคคลพึงรู้ว่ามีอยู่ ๒ ประการคือ โพธิประณิธิจิตและโพธิปริสถานจิตเท่านั้น[10] ดังนี้

                         ๑. โพธิประณิธิจิต (Bodhipranidhicitta) หมายถึง ความปรารถนาอันจริงใจที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพื่อคอยช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากเสียได้ โดยไม่คิดคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยที่เกิดจากการเสียสละอันสูงส่งนั้น

                         ๒. โพธิปรัสถานจิต (Bodhiprasthanacitta) หมายถึง ความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวที่จะประพฤติปฏิบัติตนไปตามระเบียบวินัยหรือการมุ่งพัฒนาฝึกฝนตนของพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva – samvaras) รวมทั้งความพยายามบากบั่นเพื่อให้ได้รับซึ่งบุญกุศลและคุณความดีทั้งปวง

                         ดังนั้น คัมภีร์โพธิจรรยาวตารได้จัดแบ่งประเภทโพธิจิตออกเป็น ๒ ประการคือ โพธิประณิธิจิตและโพธิปรรัสถานจิต นอกจากนี้แล้ว ยังได้อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างแห่งคุณลักษณะระหว่างโพธิจิตทั้งสองประเภทนั้น ทั้งยังได้แสดงข้อความที่ระบุถึงคุณประโยชน์ที่ให้ผลมากน้อยแตกต่างกัน

                         คุณประโยชน์ของโพธิจิตตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์โพธิจรรยาวตารทั้งหมดแล้ว สามารถสรุปแนวความคิดหรือสาระสำคัญได้ ๔ ประการคือ

                         ๑. เป็นเครื่องกำจัดทำลายบาปกรรมและความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ทั้งหลายไห้หมดสิ้นไปได้

                         ๒. เป็นพาหนะเครื่องนำหมู่สัตว์ให้บรรลุถึงความเป็นพุทธะในอนาคตได้

                         ๓. เป็นแหล่งเกิดแห่งบุญกุศลและคุณความดีทั้งปวง

                         ๔. เป็นอุปการะในการน้อมนำจิตใจให้มุ่งปรารถนาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อันหาประมาณมิได้

                         คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดนั้น มิได้สอนให้มุ่งหวังนิพพาน แต่ทรงให้มุ่งหวัง “อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” หรือ “อนุตตรยาน” อันเป็นยานสูงสุดเหนือกว่า สาวกยานและปัจเจกยาน ทั้งนี้ เพราะพระพุทธศาสนามหายานถือว่า ยานหรือวิธีการมุ่งสู่ความหลุดพ้น มีให้เลือกอยู่ ๓ ทาง หรือว่า ตรียาน คือ

                        ๑.  สาวกยาน คือยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า

                        ๒. ปัจเจกยาน คือยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรมสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

                        ๓. อนุตตรยานหรือโพธิสัตวยาน คือยานของพระโพธิสัตว์ ได้แก่ ผู้มีใจกว้างขวางประกอบด้วยมหากรุณาสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหันตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิเพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า ๒ ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรมได้แท้จริง

                        ในยานทั้ง ๓ นี้ อนุตตรยานหรือโพธิสัตวยานถือว่า เป็นยานประเสริฐสูงสุดเป็นเอกยานที่สามารถนำตนเองและขนสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นจากห้วงทุกข์ เข้าสู่พุทธภูมิได้มากกว่ายานอื่น ๆ กล่าวคือ พระโพธิสัตว์นั้นมิได้เป็นแต่ผู้ที่ยังตนเองให้หลุดพ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่นำเอาหน่อเชื้อแห่งนิพพาน อันมีปรากฏอยู่ในสัตว์อื่น ๆ ได้บรรลุถึงผลสำเร็จอีกด้วย แม้ว่าการปลดทุกข์ให้สรรพสัตว์นั้น ตนเองจะต้องทนทุกข์ต้องถูกเผาไหม้ในนรกสักกี่อสงไขยกัลป์ก็ตามหากยังมีหมู่สัตว์ต้องตกทุกข์ได้ยากอยู่ก็จะไม่ขอปรารถนาเข้าสู่พุทธภูมิเป็นอันขาด

                         พระพุทธศาสนามหายานมีมุมมองเกี่ยวกับการตั้งปณิธานว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดหรือมีลักษณะเป็น ไปได้ทั้งเหตุและผลกับโพธิจิตโตตปาท ดังกล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อน (บทที่ ๓) อย่างไรก็ตาม สารัตถะสำคัญของการตั้งปณิธานตามทรรศนะของพระพุทธศาสนามหายานนั้น ได้แสดงเป้าหมายสูงสุดไว้ที่การหลุดพ้นจากทุกข์หรือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อันถือเป็นความสำเร็จสมบูรณ์ที่พระโพธิสัตว์ได้มุ่งปรารถนาไว้แล้วนั่นเอง และในขณะที่กำลังบำเพ็ญตบะธรรมของพระโพธิสัตว์อยู่นั้น พระโพธิสัตว์จะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อมวลสัตว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นผู้ที่มีพระมหากรุณาคอยช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นทุกข์เสียได้ เมื่อตนได้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า

                         ลักษณะการตั้งปณิธานตามคัมภีร์โพธิจรรยาวตารนั้น จัดเป็นมูลเหตุทำให้พระโพธิสัตว์ได้ดำเนินตนไปตามขั้นตอนแห่งอนุตตรบูชาและโพธิจิตโตตปาทอันได้ปลูกฝังไว้ภายในจิตใจในครั้งก่อนนั้นให้สมบูรณ์ขึ้น และในขณะเดียวกัน การที่พระโพธิสัตว์ได้ริเริ่มน้อมตนไปสู่ปฏิปทาแห่งอนุตตรบูชาและโพธิจิตโตตปาทนั้น ย่อมนับว่า เป็นการเพาะเชื้อให้พระโพธิสัตว์ได้มุ่งตนไปสู่การตั้งปณิธานคือ มีความปรารถนามุ่งสู่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อไปอีกในภายภาคหน้า

                   คัมภีร์โพธิจรรยาวตาร ท่านสานติเทวะได้แสดงสารัตถสำคัญเกี่ยวกับหลักศูนยตาไว้มากมาย ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นมุ่งอรรถาธิบายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตนเป็นพระโพธิสัตว์ได้มุ่งมั่นพัฒนาปัญญาของตนให้เข้าใจแจ่มแจ้งในหลักศูนยตา คือ การพิจารณาเห็นถึงความแตกต่างหรือสามารถแยกแยะโลกและสภาวธรรมทั้งหลาย ตามธรรมชาติที่เป็นจริงของสัจจะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ยังถูกครอบงำอยู่ด้วยอวิชชา หรือความไม่รู้ ลักษณะสำคัญของศูนยตาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์โพธิจรรยาวตารนั้น ได้แก่ ความเข้าใจความเป็นจริง ๒ ระดับคือ สมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะโดยการพิจารณาแยกแยะเห็นความจริงทั้งสองนี้ตามสภาพที่แท้จริง คือ ความเป็นศูนยตา หรือความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง ที่ไร้ตัวตนและหาสาระแก่นสารใด ๆ มิได้ เพื่อประโยชน์แห่งการกำจัดมายาความหลงผิดและความขัดแย้งอันเกิดขึ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนเสียได้ ซึ่งมีนัยสำคัญไม่แตกต่างจากมุมมองของนิกายมาธยามิกทั่วไป ที่ถือว่า โลกและสรรพสิ่งไม่อาจดำรง  สวลักษณะได้ด้วยตัวของมันเอง สิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่ปรุงแต่งกันขึ้นเท่านั้น

                         สรุปจากการศึกษาโพธิจิตธรรมจรรยาแห่งพระโพธิสัตว์ในพุทธปรัชญามหายานในสำนักมาธยมิกะ  ในแง่มุมทางปรัชญา โดยมีขอบเขตของการวิจัย คือเอกสารพระไตรปิฎกและพระสูตรต่าง ๆ  ของฝ่ายมหายาน โดยคัมภีร์วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์ (โพธิจรรยาวตาร) และเอกสารงานนิพนธ์ชั้นต่างๆ ได้แก่ หนังสือที่ผู้ทรงคุณวุฒิเขียนถึงสำนักปรัชญามหายานต่าง ๆ ไว้โดยเฉพาะทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผู้วิจัยสรุปดังนี้

                         นิยามและความหมายของคำว่าโพธิจิต ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนามหายานนั้น หมายถึง จิตแห่งการตรัสรู้, ความอยากที่จะบรรลุการตรัสรู้, ความตั้งใจจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การตั้งใจปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า จิตที่ตั้งมั่นจะเป็นพระพุทธเจ้า  การปลุกโพธิจิตของพระโพธิสัตว์ คือการตั้งปณิธานหรือความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่เอากิเลสส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลที่ตั้งปณิธานนั้นต้องไม่คำนึงถึงผลตอบแทนที่ตนจะได้รับ ต้องไม่กลัวความยากลำบาก ยอมเสียสละความสุขส่วนตน มุ่งมั่นที่จะเดินทางไปให้ถึงจุดหมายเบื้องหน้าเท่านั้น พระพุทธศาสนามหายานมีจุดมุ่งหมายสูงสุด คือการที่บุคคลได้บรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แทนการมุ่งตรัสรู้เพียงแค่พระอรหันต์ของ            พระพุทธศานาเถรวาทดั้งเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดที่สำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายสูงสุดนี้เองเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนามหายานได้สอนเน้นในเรื่องจิตโตตปาทขึ้น เพื่อแสดงถึงจุดยืนและอุดมการณ์ของพวกตน ที่มีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดต่อการบรรลุถึงพุทธภูมิเพียงอย่างเดียว     พระโพธิสัตว์จัดเป็นบุคคลชนิดพิเศษที่ชาวมหายานทุกคนควรถือเอาเป็นแบบอย่างและตั้งไว้ในอุดมคติสูงสุด เพราะพระโพธิสัตว์มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนคือ การปรารถนาจะบรรลุถึงอนุตตร    สัมยักสัมโพธิญาณ หรือมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในศูนยตาธรรมอันนับเป็นความรู้ขั้นสูงสุดของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ยังมีจิตใจกว้างขวางตั้งปณิธานแสดงความมุ่งหมายในด้านเมตตากรุณาคอยช่วยเหลือสัตว์อื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยมหายานเชื่อว่า คนทุกคนนั้นมีธรรมธาตุอยู่แล้วในตนเอง ทุกคนสามารถบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์บรรลุถึงพุทธภูมิได้เท่าเทียมกันหมด    บุคคลในอุดคติของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่การตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ สามารถทำลายกิเลสอาสวะให้สูญสิ้นไป จนบรรลุถึงพระนิพพานได้ในที่สุด แต่พระพุทธศาสนามหายานมองว่า พระอรหันต์นั้นยังไม่สมบูรณ์อย่างที่สุดจึงได้พัฒนาโพธิจิตขึ้นมาเพื่อไม่มุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน แต่ต้องการให้เหล่าสรรพสัตว์ได้ลอดพ้นจากวัฏฏะสงสารไปพร้อมกับตนด้วย จึงได้เกิดแนวทางการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์และอุดมคติบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะมุ่งบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างไร้ขอบเขต

 

 

[1]พระวิเชียร เถี่ยนอี๊ (กาญจนไตรภพ)

 [2] พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ, พระพุทธศาสนามหายานในอินเดีย พัฒนาการ และสารัตถธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๒,  (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔), หน้า บทนำ.       

[3] เสถียร พันธรังษี, พุทธศาสนามหายาน,  พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๔), หน้า ๒๗.

[4] เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร, ๒๕๒๒), หน้า ๓๘.

[5] วศิน อินทสระ, สาระสำคัญแห่งพุทธปรัชญามหายาน, (กรุงเทพมหานคร : บรรณาคาร, ๒๕๓๑), หน้า ๖๙.

[6] Paul Williams, Mahayayna Buddhism, (New York:Oxford University, 1989),  p. 6.

7] สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวลักษณ์), ความเข้าใจในเรื่องมหายาน, (กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, ๒๕๔๒), หน้า ๑๗๓.

[8] สุมาลี มหณรงค์ชัย, พุทธศาสนามหายาน, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๖), หน้า ๑๙.

 [9] Paul Williams, Mahayayna Buddhism,  pp. 199 – 200.

[10] โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, วิถีชีตของพระโพธิสัตว์, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๕๐), หน้า ๓๙.

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท