อนุทิน 134140


สรวิชญ์
เขียนเมื่อ

วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท

The Relation between Faith and Wisdom in Theravada Buddhist Philosophy       

 

สรวิชญ์ วงษ์สอาด[1]

sorawit  Wongsaard

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธากับปัญญาเป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ เพราะว่า ศรัทธากับปัญญาในฐานะที่เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อกันในระดับโลกิยะปัญญาและระดับโลกุตตรปัญญา ซึ่งเกิดจากปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ เป็นความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อกัน จึงมีความสำคัญและมีประโยชน์ ที่ทำให้ได้โลกิยปัญญาที่ทำให้เกิดโลกุตตรปัญญา ที่มีประโยชน์สุขต่อภพปัจจุบันและภพหน้า ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติตามหลัก อริยมรรค และในการข่มนิวรณ์ ซึ่งเป็น โลกุตตรธรรมของบรรพชิตที่ใช้หลักไตรสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ในการปฏิบัติของตน ส่วนคฤหัสถ์ใช้ทางแห่งการทำความดีได้ ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา ในการปฏิบัติของตน ดังนั้น ความสัมพันธ์ของศรัทธากับปัญญาจึงมีความสำคัญและเครื่องมือในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน เพื่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น

ABSTRACT

The relationship between the faith and the intellect were the value relation and benefit because the faith and the intellect supporting together in worldly intellect level and Dharma intellect level; the associated factors with the benefit and importance in the present and in the future. The starting point of the practice was the Aryan way principles which were the Dharma action of Buddhist using Tri education such as commandment. Concentration and praying. Therefore. The relationship between the faith and the intellect was more important as the instrument of Kim Mat than practice for the achievement of civilized way. Aryan result and nirvana etc.

1. บทนำ

ศรัทธามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้เป็นศาสดาของลัทธิศาสนาต่างๆ ก็พยายามหาแนวทางสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้น เพื่อเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของตนเองให้กว้างขวางออกไป พระพุทธศาสนาเห็นว่า เรื่องศรัทธา 4 ประการ คือ (1) อาคมนสัทธา (2) อธิคมนสัทธา (3) โอกัปปนสัทธา และ (4) ปสาทสัทธา เพราะศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา เพราะปัญญาทำให้ศรัทธาเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างปัญญาในที่สุด ฉะนั้น ศรัทธาต้องเป็นไปเพื่อปัญญาที่ถูกต้อง จึงต้องส่งเสริมแนวความคิดและความก้าวหน้า ในขณะเดียวกันแม้ตัวศรัทธาเองจะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ก็เพราะได้คิดเห็นเหตุผลจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ ตามหลักพระพุทธศาสนาจึงส่งเสริมการคิดหาเหตุผลเพื่อควบคุมศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักสัทธา ได้แก่ กัมมสัทธา,วิปากสัทธา,กัมมัสสกตาสัทธา, และตถาคตโพธิสัทธา เพราะว่าพระพุทธองค์สอนมุ่งเน้นด้านปัญญา

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1  เพื่อศึกษาความสำคัญของศรัทธาในพุทธปรัชญาเถรวาท  

2.2 เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท  

3. วิธีดำเนินการวิจัย

3.1  ศึกษาและรวบรวมข้อมูลในส่วนที่ว่าศรัทธากับการพัฒนาปัญญา จากคัมภีร์ พระไตรปิฎก  อรรถกถา เอกสาร และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือประเด็นที่ต้องการทราบ 

3.2  ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากตำรา เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนทางศรัทธากับการพัฒนาปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท และรวมแนวคิดจากการวิเคราะห์ตีความของนักปราชญ์ต่าง ๆ

3. ผลการวิจัย

ศรัทธา หรือความเชื่อ กล่าวคือ สามารถใช้ปัญญามาทดสอบและเป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการใช้สัทธาที่มีเหตุผลและประกอบไปด้วยปัญญาเป็นเครื่องกำกับวิธีการต่างๆ เป็นพื้นฐาน ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงถึงความเชื่อ โดยบอกถึงวิธีให้ใช้ปัญญาประคองศรัทธา เพราะว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่ได้เน้นที่ศรัทธาเหมือนศาสนาอื่น คำว่า “เป็นศาสนาแห่งปัญญา” หมายถึง คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นคำสอนที่ประกอบด้วยเหตุผล ในการตีความในหลักพุทธธรรมตามภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล ความถูก - ความผิด ขึ้นอยู่กับระดับชั้นของความจริง เพราะว่า พระพุทธองค์ทรงให้เน้นที่เหตุและผลหลายประการด้วยกัน 3 ประการ คือ (1) ทำให้ภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาซึ่งแสดงมาโดยตลอดว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผลนั้นมีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น (2) เป็นส่วนหนึ่งการทลายกำแพงระบบวรรณะที่เกาะกินสังคมอินเดียมาตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาลนั้นเกิดความสั่นคลอน และก่อเกิดความเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องความเท่าเทียมกันขึ้นเป็นครั้งแรก (3) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของศาสดาเจ้าลัทธิต่างๆในยุคนั้นเพื่อให้สามารถ “แข่งขัน” กับพระพุทธศาสนาได้ ดังนั้นความเชื่อหรือสัทธาที่อยู่บนพื้นฐานของปัญญาและคุณธรรมที่สำคัญเป็นเอกปัญญาขั้นสูงสุด คือ ปัญญาในขั้นที่รู้สัจธรรม และตัดสังโยชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดมัดตัวตนไว้กับกองแห่งความทุกข์ได้เด็ดขาด ปัญญาชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่า วิปัสสนาปัญญา หรือภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่มาคู่กับสมาธิ เป็นข้อปฏิบัติเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น วิปัสสนาปัญญา จึงเป็นแกนกลางที่ร้อยประสานอยู่ในทางพระพุทธศาสนา และเป็นการช่วยแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาในสังคมปัจจุบันต่อปัจเจกบุคคล พร้อมกับเป็นเครื่องมือที่จะคอยตรวจสอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าควรเชื่อถือได้หรือไม่ นั้นเอง

4. นิยามและความหมายของศรัทธากับปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท

4.1  ความหมายของศรัทธา

คำว่า “ศรัทธา หรือ สัทธา” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ความเชื่อ ความเลื่อมใส (ราชบัณฑิตยสถาน,2546 : 1165) นอกจากนี้ สัทธา เป็นภาษาบาลี เขียนว่า สทฺธา ตรงกับภาษาสันสกฤต คือ ศรัทธา (ศฺรทฺธา) หมายถึง ความเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล และสัทธา (Saddha) ในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Faith, Belief และ Confidence หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม ความเลื่อมใส ซาบซึ้ง ชื่นใจ สนิทใจ เชื่อมั่น มีใจโน้มนิยมมุ่งแล่นไปตามคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ความมั่นใจในความจริง ความดี สิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการ ภายนอก (พระเทพเวที (ป.อ.ปยุตฺโต),2533 :428) ดังนั้น ศรัทธามีลักษณะ 6 ประการ คือ (1) ศรัทธามีความเชื่อในฝ่ายดีเป็นลักษณะ (2) มีความปลงใจเชื่อด้วยปัญญาเป็นหน้าที่ (3) มีความเลื่อมใสเป็นหน้าที่ ดุจแก้วมณีทำน้ำให้แจ่มใสฉะนั้น มีความแล่นไปอย่างแจ่มใสเป็นหน้าที่ ดุจห้วงน้ำใหญ่มีน้ำใสแจ๋วฉะนั้น (4) มีความไม่ขุ่นมัว เป็นผล มีความน้อมใจเชื่อ เป็นผลปรากฏ (5) มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ 3 ประการ ได้แก่ พระรัตนตรัย กรรม และผลแห่งกรรมเป็นเหตุใกล้ชิด คือ โสตาปัตติยังคธรรม (วุฑฒิธรรม) และ (๖) ฟังพระสัทธรรม คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคาย และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (พระธรรมธีรราชมหามุนี 2548, :211)

นอกจากนี้ ยังมีศรัทธาอีก 2 ประการ คือ (1) สัทธานุสารี คือ ผู้แล่นไปตามสัทธา ที่เรียกว่า “สัทธาวิมุต” (2) สัทธาวิมุติ คือ การหลุดพ้นด้วยสัทธา ที่เรียกว่า “ปัญญาวิมุตติ” ดังความเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในการปฏิบัติเบื้องต้นต้องอาศัยศรัทธาและปัญญา นำมาปฏิบัติให้เป็นไป (สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถระ),2548,:20) เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อต่อพระรัตนตรัย เชื่อต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สัทธาเป็นเจตสิก แปลว่า ตั้งใจไว้ชอบ สำหรับแต่งใจของบุคคล ให้ใจงามใจดี คือให้ใจเป็นกุศล (พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.๙), 2484, :12)

4.2 ความหมายของปัญญา

คำว่า “ปัญญา” หมายถึง ความรู้แจ้ง ความรู้ทั่ว  รู้ซึ้ง ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล ความรู้เข้าใจชัดเจน ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผลดีชั่ว รู้คุณโทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์  เป็นความรู้ที่จัดการอาสวะกิเลสทั้งปวง  เป็นความรอบรู้ที่มองเห็นในกองสังขารตามความเป็นจริง (ที.ปา. (ไทย) 11/228/231 ; อภิ.วิ. 38/804/438) โดยวิธีปฏิบัติที่เกิดจากวิปัสสนา กล่าวคือ ความเห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ที่เกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อจิตเป็นสมาธิเท่านั้น การเห็นแจ้งนี้บังคับไม่ได้ ทำได้แต่เพียงประคองจิตให้เป็นสมาธิไว้ให้ดีอยู่ตลอดเวลา ในลักษณะอำนวยแก่การพิจารณาสิ่งทั้งปวง จนกว่าเมื่อใดความเห็นแจ้งจะปรากฏขึ้น และความเห็นแจ้งที่ปรากฏขึ้นถึงที่สุดนี้ สามารถทำลายอวิชชา คือ ความหลงอันเป็นเชื้อของกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ กิเลสจึงจะไม่เกิดขึ้น ต่อจากนั้นไปศีลก็จะอยู่ในตัวเอง สมาธิก็อยู่ในตัวเองเป็นปกติและเด็ดขาด ความเห็นแจ้งย่อมเป็นเสมือนแสงสว่างอันแรงกล้า ที่สามารถส่องลึกไปทำลายเชื้ออันละเอียดทั้งปวงในส่วนลึกที่สุดของสันดาน คือ พื้นส่วนลึกที่สุดของจิต อันเป็นที่นอนเนื่องแอบแฝงความเคยชินของกิเลสเหล่านั้น(พุทธทาสภิกขุ :148-149) มีลักษณะของความรู้หรือปัญญาที่พอจะรวบรวมมาได้เด่นชัดที่สุด คงจะได้จากพระไตรปิฎกว่า “ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนประตัก ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว” (อภิ.วิ. (ไทย) 34/612/287) และ “ปัญญามีการบรรลุสัจจะเป็นลักษณะ มีการค้นคว้าเป็นกิจ มีความไม่หลงเป็น ปัจจุปัฏฐาน มีสัจจะ 4 เป็นปทัฏฐาน และมีอริยสัจ 4เป็นปทัฏฐาน อีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจแจ่มแจ้งเป็นลักษณะของปัญญา การรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเป็นกิจ การกำจัดความมืดคือ อวิชชาเป็นปัจจุปัฏฐาน ปฏิสัมภิทา 4 ตามหลักเหตุผลเป็นปทัฏฐานของปัญญา”(พระอุปติสสเถระ, 2541: 210)

  1.   ลักษณะและขั้นตอนของสัทธากับกระบวนการพัฒนาปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท

5.1  ลักษณะและขั้นตอนของสัทธา

เนื่องจากศรัทธานี้เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดจุดหมายสูงสุด คือ การหลุดพ้น โดยแยกตามคัมภีร์ตางๆ เช่น คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก คัมภีร์พระอภิธรรม และคัมภีร์อรรถกถา ไว้ 10 ลักษณะ ได้แก่ (1) ลักษณะของศรัทธาเป็นเครื่องฝังจิตด้วยดี (2) ลักษณะของศรัทธาเป็นเพื่อนแท้ของมนุษย์ (3) ลักษณะของศรัทธาเป็นเครื่องสะสมเสบียง (4) ลักษณะของศรัทธาเป็นพืช (๕) ลักษณะของศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ (๖) ลักษณะของศรัทธาพาบุคคลข้ามโอฆะ (7) ลักษณะของศรัทธาทำให้หมู่ชนงดงาม (๘) ลักษณะของศรัทธาเป็นโสภณเจตสิกฝ่ายดี (9) ลักษณะของศรัทธาทำให้เกิดความเลื่อมใส และ(10) ลักษณะของศรัทธาทำให้จิตแล่นไปด้วยดี เพราะว่า ลักษณะของศรัทธาทั้ง 10 อย่าง เป็นศรัทธาความเชื่อที่แน่วแน่มั่นคงมาก จนสามารถทำให้จิตมีพลังข่มนิวรณ์ที่เป็นเครื่องกีดขวางความสำเร็จลงได้ ในขณะที่จิตไม่มีนิวรณ์ จิตก็จะใส สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง สามารถมองเห็นและเข้าใจในกุศลธรรมได้อย่างชัดเจน พร้อมที่จะเดินไปเพื่อมรรคผลต่อไป อีกประการหนึ่งคือกำลังแห่งศรัทธา ในจิตที่ใสสะอาดแล้วจัดเป็นจิตที่มีอิสระ ไม่คับแคบ มองสิ่งต่างๆ เป็นกุศล เมื่อได้พบเห็นบุคคลอื่นๆ ที่ได้บรรลุคุณธรรมขั้นต่างๆ จิตก็เกิดศรัทธาน้อมไปในคุณธรรมของบุคคลเหล่านั้น ทำให้ เกิดมีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุคุณธรรมเช่นเดียวกับบุคคลเหล่านั้นบ้าง ศรัทธาประเภทนี้เรียกว่า “สัทธานุสารี” ตัวอย่างเช่น พระอริยสาวกหลายๆ พระองค์เช่น พระสารีบุตรมีความเลื่อมใสในอิริยาบทอันสำรวมเรียบร้อย มีสติทุกขณะของพระอัสสชิเกิดความเลื่อมใส อยากเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงสนใจเข้าไปถามว่าผู้ใดเป็นศาสดา และหลักธรรมใดที่ท่านเชื่อถืออยู่และปฏิบัติตามอยู่ เมื่อพระสารีบุตรได้รับฟังธรรมที่พระอัสชิตอบ ท่านก็ได้บรรลุธรรมเช่นเดียวกับพระอัสชิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์, 2546 :19-20) เป็นต้น 

 

5.2 ลักษณะและขั้นตอนของการพัฒนาปัญญา

ลักษณะและขั้นตอนของการพัฒนาปัญญา  มี ๓ ลักษณะ ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะว่า ผู้เข้าถึงความว่างจากกิเลส ย่อมบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยไตรสรณคมน์ มีศีล สมาธิ และปัญญา ปัญญาคือทางที่ดำเนินไปสู่ความบริสุทธิ์ ดังคำบาลีว่า “ปญฺาย ปริสุชฺฌติ” แปลว่า บุคคลบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”(ขุ.สุ. (ไทย) 25/311 /228) แม้จะกล่าวถึงปัญญาอย่างเดียว ศีลและสมาธิก็รวมอยู่ในนั้นพร้อมอย่างสมบูรณ์ เป็นองค์รวมที่แยกออกจากกันไม่ได้ และเป็นทางทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) สิ่งที่เรียกว่าปัญญา หมายถึง การรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง  คือไม่มีอะไรน่ายึดถือ ดังคำบาลีที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ    อภินิเวสาย” แปลว่า  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” (ม.มู.(บาลี) 12/390/348 ; ม.มู.(ไทย) 12/390/421) เรื่องนี้ถือว่า เป็นหัวใจที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา ถ้ายังไม่รู้จักเรื่องนี้ เท่ากับว่าไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เมื่อมีศีลสมบูรณ์ คือ ไม่มีความเดือดร้อนทางกาย วาจา ใจ สมาธิก็เกิดขึ้นง่าย ทั้งที่เป็นสมาธิโดยธรรมชาติ หรือสมาธิที่เราฝึกให้มีขึ้น คือ จิตบริสุทธิ์ไม่มีกิเลสรบกวน จิตที่แน่วแน่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตว่องไวควรแก่การงาน สามารถนำไปใช้เพื่อพิจารณาขันธ์ ๕ หรืออารมณ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ โกรธ หลง ล้วนมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อให้เกิดปัญญาต่อไป เพราะว่า จิตที่เป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฉะนั้นพึงทราบว่า ศีลควบคุมให้เกิดสมาธิ สมาธิควบคุมให้เกิดปัญญา ปัญญาควบคุมศีล เป็นบาทฐานซึ่งกันและกันอย่างแยกไม่ออก ทำงานหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปเป็นธรรมจักรอันเดียวกันอย่างนี้ในทุกระดับ จนถึงพระนิพพานในที่สุด (พุทธทาสภิกขุ, 2541 : 5-6)

6. หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับศรัทธาและเป็นกระบวนการพัฒนาปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท

6.1  หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับศรัทธา

เนื่องจากศรัทธามีส่วนสำคัญในการดำเนินกิจทั้งในส่วนที่เป็นโลกิยะและส่วนที่เป็นโลกุตตระ ตามหลักของศรัทธา ได้แก่ (1) พละ 5 หมายถึง ธรรมอันเป็นกำลัง (องฺ.ปญฺจก. (ไทย) 22/13/17) (2) อินทรีย์ 5 หมายถึง ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของ (องฺ.จตุกฺก. (ไทย) 21/141/214) (3) สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือ สัมปรายิกัตถประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ภายหน้า, ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป (องฺ. จตุกฺก. (ไทย) 21/61/101) (4) สัปปุริสธรรม 8 เป็นธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมของคนดี (มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสก 14/143/112) (5) จรณะ 15 เสขปฏิปทา  หมายถึงความประพฤติ ปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชา หรือนิพพาน บางทีเรียกว่า เสขปฏิปทา คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางดำเนินของพระเสขะ (องฺ.สตฺตก (ไทย) 23/6/5) (6) หลักพิจารณาเรื่องความเชื่อในกาลามสูตร  กล่าวได้ว่าในหลักของกาลามสูตร ไม่ใช่หลักของสัทธาโดยตรง แต่เป็นหลักเพื่อสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีปัญญา การลงความเห็นว่าสิ่งใดควรเชื่อหรือสิ่งใดไม่สมควรเชื่อนั้นเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะแต่ละสิ่งนั้นต่างก็มีเหตุผลมาสนับสนุนเสมอ พระพุทธองค์ตรัสถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาเรื่องความเชื่อไว้ใน เกสปุตติสูตร ว่าด้วยกาลามะ ชาวเกสปุตตนิคม 10 ประการ คือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์, อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง), อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน, อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว, อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้, และอย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (องฺ.ทุก.(ไทย) 20/ 66/257)

6.2  หลักธรรมที่สัมพันธ์ต่อการพัฒนาปัญญา

เนื่องจากหลักธรรมที่สัมพันธ์ต่อการพัฒนาปัญญาที่มีส่วนสำคัญ 3  อย่าง คือ

1. ไตรลักษณ์ กล่าวคือ เป็นหลักธรรมที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาลักษณะสามัญของสิ่งทั้งปวง  ประกอบอยู่ด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้ง ๓ ลักษณะนี้ เป็นสามัญของสิ่งทั้งปวง เป็นของที่ตั้งอยู่เองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ทราบกฎนี้ และทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้ ในลักษณะที่จะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น (อง.ติก. (ไทย) 20/137/384) ตามความเป็นจริง ฉะนั้น การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่แท้จริง  คือต้องเห็นด้วยใจจนเกิดความรู้สึกว่า สิ่งทั้งปวงน่าเบื่อหน่าย น่าสังเวช เป็นมายา ไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่น โดยประการทั้งปวง (พุทธทาสภิกขุ, 2534 : 28-30)

2. อิทัปปัจจยตา กล่าวคือ ความเป็นปัจจัย คำว่า “อิทัปปัจจยจตา” แปลว่า ความที่เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย, คำว่า อิทัปปัจจยตานี้ กินความหมายกว้าง หมายความว่า ไม่ยกเว้นอะไรเลย ในบรรดาสิ่งที่เป็นสังขตธรรมทั้งหลาย จะเป็นรูปธรรม - นามธรรม, ภายนอก - ภายใน, หยาบ - ละเอียด กล่าวโดยสรุปให้เห็นเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ(1) อิทัปปัจจยตา ของสิ่งที่เป็นเหตุ (2) อิทัปปัจจยตา ของสิ่งที่เป็นผล และ(3) อิทัปปัจจยตา ของปัจจยาการ

นอกจากนี้ อิทัปปัจจยตา เป็นคำย่อของเรื่องปฏิจจสมุปบาท  มีใจความว่า  เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น ตลอดถึงปฏิปักขนัย (นัยตรงกันข้าม) ที่กลับกันอยู่ด้วยในตัว คือ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ก็ไม่เกิดขึ้นฉะนั้น คำว่า “อิทัปปัจจยตา” มีความหมายกว้าง ๆ จะใช้กับรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกรณีใดกรณีหนึ่งก็ได้  เป็นกฎวิทยาศาสตร์ทั่วไปก็ได้ ส่วนคำว่า “ปฏิจจสมุปบาท” มุ่งหมายใช้เฉพาะเรื่องเกิดทุกข์ และกับเรื่องดับทุกข์โดยตรงในพระพุทธศาสนา ใจความสำคัญ คือแสดงถึงกระแสแห่งปัจจัย  และสิ่งที่เกิดตามเหตุปัจจัย เป็นสายยาวสืบทอดกันไป ทั้งฝ่ายเกิด และฝ่ายดับเท่านั้น(พุทธทาสภิกขุ, 2517 :172)

3) สุญญตา กล่าวคือ เป็นสภาวะแห่งความว่างที่ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา, เป็นสภาวะที่ขันธ์ ๕ หมายถึง อนัตตา กล่าวคือ ว่างจากความเป็นตัวตน ตลอดจนว่างจากสาระต่างๆ เช่น สาระ คือความเที่ยงแท้ ความสวยงาม ความสุข โดยปริยาย หมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ เช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปัจจยาการ แสดงตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่า ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงธรรม หรือกระบวนการทางธรรมชาติล้วนๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะ 2 ประการ คือ (1) ความว่างที่เป็นลักษณะของสิ่งทั้งปวง เช่นบาลีว่า “สพฺเพ ธมฺมา  อนตฺตา” แปลว่า สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา โลกนี้จึงว่างโดยธรรมชาติ แต่คำว่า ว่าง ที่ท่านพุทธทาสเข้าใจในที่นี้ มิได้หมายความว่า ไม่มีอะไร แต่หมายความว่า มีทุกสิ่งทุกอย่างมีตามที่เราเห็นอยู่ เพียงแต่ว่ามันว่างจากความหมายที่ควรจะยึดถือว่า เป็นตัวตนหรือของตน ฉะนั้น ในสุญญตาสูตร จึงเขียนกล่าวไว้ชัดเจนว่า โลกนี้ว่าง เพราะว่าไม่มีส่วนใดที่ควรจะยึดถือเอาว่า  เป็นตัวตน หรือเป็นของตน แต่มิได้หมายความว่า  ไม่มีโลกนี้ หรือไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรอยู่ในโลกนี้ (2) ความว่างเป็นลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง ข้อนี้สืบต่อมาจากความว่างในข้อแรก นั่นคือ  สิ่งทั้งปวงรวมเอาทั้งจิตด้วย ว่างจากความหมายที่ควรจะยึดถือว่า เป็นตัวตนหรือของตน จิตนั้นจึงไม่ไปยึดถือเอาส่วนหนึ่งส่วนใดในโลกนี้ ว่าเป็นตัวตน จิตนั้นจึงว่าง เพราะจิตนั้นเห็นความว่างของโลกอยู่เสมอ  จึงไม่เกิดการปรุงแต่งยึดถือเอาเป็นตัวตน เมื่อไม่มีการปรุงแต่งยึดถือเอาเป็นตัวตน ก็ไม่อาจจะเกิดโลภะ โทสะ และโมหะได้  ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จิตว่าง เพราะว่างจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะ นั่นเอง(พุทธทาสภิกขุ, 2517: 20)

7. วิธีการพัฒนาของศรัทธาในปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท

7.1  วิธีการพัฒนาของศรัทธา

วิธีการพัฒนาของศรัทธาแบ่งตามระดับคุณธรรม ๗ ในการความลุ่มลึกของศรัทธานั้นมีระดับที่ต่างกันไปตามคุณธรรมตามลำดับของศรัทธาทั้ง ๗ ประการ คือ (1) ปสาทสัทธา (2) โอกัปปนสัทธา (3) อาคมสัทธา (4) อธิคมสัทธา                 (5) ปัจจักขสัทธา (6) ปักขันทนสัทธา และ (7) โวสสัชชนสัทธา นอกจากนี้ ศรัทธายังแบ่งตามระดับของศรัทธาอีก 2 ประเภท ได้แก่ (1) โลกียสัทธา และ (2) โลกุตรสัทธา เพราะว่าศรัทธาแบ่งตามระดับของคุณธรรมทั้ง 7 ประการ คือ (1) โยนิโสมนสิกาโร (2) ปฏิรูปเทสวาโส (3) สปฺปุริสูปสํเสโว (4) สทฺธมฺมสฺสวนํ (5) สทฺธมฺมสมฺมุขตา (6) ปุพฺเพ กตปุญฺญตา (7) อตฺตสมฺมาปณิธิ(พระธรรมธีรราชมหามุนี, ๒๕๔๖ : ๒๒๓) เพราะเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดศรัทธาที่ทำให้บุคคลมีความเชื่อความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งพบได้ เห็นได้ทั่วไปในหมู่มนุษย์ มีกล่าวไว้ใน รูปสูตร ที่ว่าด้วยบุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ คือ (1) บุคคลผู้ถือรูปเป็นประมาณ เลื่อมใสในรูป (2) บุคคลผู้ถือเสียงเป็นประมาณ เลื่อมใสในเสียง (3) บุคคลผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เลื่อมใสในความเศร้าหมอง (4) บุคคลผู้ถือธรรมเป็นประมาณ  เลื่อมใสในธรรม (องฺ.จตุกฺก.(ไทย) 21 /65 /109)

7.2  วิธีการพัฒนาปัญญา

วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาปัญญา ไว้ 3 ประการ คือ (1) สุตมยปัญญา (2) จินตามยปัญญา (3) ภาวนามยปัญญา(ที.ปา.(ไทย) 11/228/271) หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิยาน  (สํ.ม. (ไทย) 19/1081/592-596) เพื่อความหลุดพ้นกองทุกข์ในระดับโลกียะและโลกุตระ 2 ด้าน คือ

  1. ด้านของสมถภาวนา หมายถึง อุบาย วิธี และการกระทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อนทั้งหลาย จนจิตใจไม่มีอาการดิ้นรน ไม่กระสับกระส่ายตลอดเวลาที่กิเลสเหล่านั้นสงบระงับอยู่ (ขุนสรรพกิจโกศล, 2534 :2) นอกจากนี้ ยังมีประเภทของสมาธิ  มี 5ประเภท ดังนี้ คือ (1) สมาธิ 1 ได้แก่ เอกัคคตาสมาธิ (2) สมาธิ 2 ได้แก่  โลกิยสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ (3) สมาธิ 3 ได้แก่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ (4) สมาธิ 4 ได้แก่ ทิฏฐธัมมสุขวิหารสมาธิ ญาณทัสสนสมาธิ สติสัมปชัญญสมาธิ  และอาสวักขยสมาธิ และ (5) สมาธิ 5 ได้แก่ สุขสมาธิ สันตสมาธิ อริยสมาธิ นิรามิสสมาธิ อกาปุริสสมาธิ ได้แก่  สมาธิของมหาบุรุษดังนั้น สมถภาวนามี ๒ ลักษณะ คือ (1) ปริตตสมถภาวนา และ (2) มหัคคตสมถภาวนา (พระธรรมธีรราชมหามุนี, 2546 :123)
  2.   ด้านของวิปัสสนาภาวน กล่าวคือ(พระมหาไสว ญาณวีโร,  2544 :10) หมายถึง อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้เห็นแจ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ให้เห็นแจ้ง รูปนาม ให้เห็นแจ้ง ไตรลักษณ์ ให้เห็นแจ้ง อริยสัจ ให้เห็นแจ้งมรรคผล นิพพาน (ขุนสรรพกิจโกศล 2534 :73) มี 3 ประเภท ได้แก่ (1) วิปัสสนาญาณที่มีการกำหนดรู้ในสังขารธรรม รูปและนาม (2) วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้าผลสมาบัติได้ (3) วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้านิโรธสมาบัติได้ (ขุ.ป.อ. (ไทย) 68/889)นอกจากนี้  ยังมีประเภทของวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสก (วิปัสสนายานิกะ) และฌานลาภีบุคคล (สมถยานิกะ) (1) สุกขวิปัสสกบุคคล (วิปัสสนายานิกะ) และ(2) ฌานลาภีบุคคล (สมถยานิกะ)(ขุนสรรพกิจโกศล 2534 :130-133)

 

8. สรุปวิเคราะห์

 

ศรัทธามีความสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของบุคคลทั่ว ๆ ไป เป็นธรรมที่ก่อให้เกิด กุศลหรืออกุศลตามมาก็ได้ แต่ในทางพระพุทธศาสนาศรัทธามีความหมายไปในทางการพัฒนาปัญญา เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามทั้งตนเองและสังคม ซึ่งพอสรุปความสำคัญของศรัทธา  ในฐานะเป็นธรรมเกิดก่อน เนื่องจากสัทธามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนกุศลธรรมข้ออื่นๆ ให้ขับเคลื่อนไปในแนวทางที่พึงประสงค์คือเกิดปัญญา เช่น ในพละ ๕ ประกอบด้วย สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเห็นได้ว่าเมื่อสัทธาเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดพลังความเพียร ตามด้วยการฝึกสติปัฎฐาน เจริญสมถวิปัสสนา จนเกิดปัญญาหยั่งรู้ หรือ อารยวัฒิ 5 ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ผู้มีศรัทธา ทำให้จิตมีกุศลธรรม ด้วยการระวังรักษากาย ระวังรักษาวาจา ให้สุจริต หมั่นศึกษาพระสัทธรรมมีสติสมาธิ มีจิตเมตตาในการบริจาค การเสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน จนสามารถเข้าถึงปัญญาได้ จากตัวอย่างที่ได้ยกมาเห็นได้ว่า ศรัทธาเป็นธรรมหรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนเพื่อสนับสนุนธรรมข้ออื่นๆให้เกิดขึ้นตามมา ในฐานะเป็นธรรมนำสู่ความเจริญ แบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ (1) ความเจริญทางโลกิยะสัทธา (2) ความเจริญทางโลกุตตระสัทธา เพราะว่าสัทธาในฐานะเป็นธรรมสร้างพลัง เช่นในหลักธรรมหมวด พละ 5 อินทรีย์ 5 เป็นต้น   

ดังนั้น ในพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้บุคคลพัฒนาตนเองไปในทางที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อกุศล ศรัทธาเป็นธรรมที่เกิดก่อน เมื่อเกิดสัทธาแล้ว ธรรมอื่นจะบังเกิดตามมา ศรัทธาเป็นธรรมที่ทำให้เกิดพลังในการประพฤติปฏิบัติธรรม รวมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้เกิดปีติ ผ่องใส จิตใจสงบเย็น สุดท้ายสัทธาก็จะนำไปสู่กระบวนการพัฒนาปัญญาในพุทธปรัชญาเถรวาท  โดยมีการมุ่งเน้นเริ่มตั้งแต่ให้มนุษย์เรามีการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ และละกิเลสคืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน ได้เด็ดขาด เพื่อให้การดำเนินชีวิตอยู่สังคมโลกมนุษย์อย่างมีความปกติสุขเป็นประการแรก ต่อจากนั้นก็พัฒนาปัญญาไปสู่ความเป็นบุคคลที่มีมนุษย์สมบัติสมบูรณ์ เมื่อมีมนุษย์สมบัติสมบูรณ์แล้ว ก็ยกระดับจิตพัฒนาไปสู่สวรรค์สมบัติต่อไป จนถึงนิพพานสมบัติเป็นประการสุดท้าย ดังพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงการพัฒนาปัญญาในตัวบุคคลไว้ว่า “เมื่อใดบุคคลพิจารณาด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น เขาย่อม เบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจดเมื่อใดบุคคลพิจารณาด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงทุกข์ เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  นี้เป็นทางแห่งความหมดจดเมื่อใดบุคคลพิจารณาด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น เขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งความหมดจด”(ขุ.เถร. (ไทย) 26/383/126 ; ขุ.ธ. (ไทย) 25/277-279/118)

 

[1] สรวิชญ์ วงษ์สอาด, [email protected]



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท