"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

อนุทิน 133163


"พี่หนาน"
เขียนเมื่อ

๑๓/๐๑/๒๕๕๗

อนุทิน ๑๑๓.

“แนะนำ”

เมื่อวาน ๑๒ ม.ค.๕๗  เวลาประมาณ ๑๑ โมงเช้า มีส.อบต.หมู่ ๑๕ ท่านหนึ่งขับรถเครื่องมาจอดหน้าบ้าน เข้ามาถึงก็ทำมือกำกำปั้นใส่ปากถามว่า “หนาน แนะนำการพูดให้หน่อย”  ผมเองก็งงก็ถามในลักษณะว่า “พูดอะไรเหรอ?”  เขาบอกว่า “การจับไมค์พูดไง”  ผมถึงบางอ้อ  ส.อบต.ท่านนี้เป็นคนใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามา  หลายคนว่าเขาการศึกษาน้อย แต่เป็นคนที่มีความพยายามที่จะเรียนรู้หลาย ๆ สิ่งเพื่อให้ตนเองได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ(ชาวบ้าน)อย่างภาคภูมิ  ผมเองก็ชื่นชมในความไม่สันโดษในการแสวงหาความรู้ของเขามาก  จึงได้แนะนำวิธีการฝึกพูดแบบกระชับ รวบรัดดั่งที่เคยเรียนมา เมื่อครั้งเรียน ป.ตรี กับ อ.วิเชียร เกษประทุม ที่นครสวรรค์  ท่านให้ท่องจำหลักว่า...”เตรียมตัวให้พร้อม  ซักซ้อมให้ดี  ท่าทีให้สง่า  วางท่าให้สุขุม  ทักที่ประชุมไม่วกวน  เริ่มต้นให้โน้มน้าว เรื่องราวต้องกระชับ  ตาจับที่ผู้ฟัง  เสียงดังแต่พอดี  อย่าให้มีเอ้ออ้า  มีท่าทางประกอบ  ตรวจสอบอารมณ์ขัน  หมั่นดูเวลาพอครบ  สรุปจบให้จับใจ  ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดการพูด”...

ซึ่งผมก็ให้คำอธิบายในแต่ละข้อความ ว่ามีความหมายอย่างไร  จากนั้นก็ ลองให้เขากำหนดประเด็นว่าเราจะพูดเรื่องอะไร...ยกตัวอย่างเช่น  จะถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านเรื่องใดเรื่องหนึ่ง...ก็ให้กำหนดประเด็นหลัก ๆ ง่าย ๆ เอาไว้ว่า  ๑.ใคร  ๒.ทำอะไร ๓.ที่ไหน ๔.เมื่อไหร่ ๕.อย่างไร  เมื่อมีหนังสือมาจากอำเภอหรือ อบต.แจ้งมาก็ให้นำมาเข้ากับประเด็นดังกล่าวว่า...จะถ่ายทอดเรื่องดังกล่าวอย่างไร เช่น เรื่องภัยแล้งก็ให้อ่านทำความเข้าใจก่อนว่า...

-       ทางอำเภอ นายอำเภอ หรือ นายก อบต.

-       มีหนังสือแจ้งเตือนชาวบ้านเกี่ยวกับภัยแล้ง

-       ว่าปีนี้มีภัยแล้งนาน จากเดือน ธันวาคม ถึงเดือน พฤษภาคม ๕๗

-       รายละเอียดมีอย่างไร  ให้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ใส่น้ำเก็บเอาไว้ให้พร้อมเพื่อรองรับภัยแล้งให้พอใน ระยะ ๕ เดือน ฯลฯ

-       แล้วก็เอาแต่เนื้อความมาพูด  ไม่ต้องไปอ่านเอกสารทุกตัวให้ชาวบ้านฟัง  เขาจะเบื่อเซ็งเอาได้

โดยแนะนำขั้นตอนหลัก ๆ คือ

๑.      ทักที่ประชุม    กล่าวทักทายว่า  สวัสดี... กราบสวัสดี...  เรียน... คงไม่ต้องถึงกับกราบเรียนหรอก เพราะกราบเรียนปกติจะใช้กับระดับ สส. หรือ สว. ขึ้นไป

๒.     แนะนำตัว... เกริ่นนำ...   วันนี้เป็นวันอะไร...  จะมีการประชาสัมพันธ์เรื่องอะไร...

๓.     เนื้อเรื่องที่จะนำมาถ่ายทอด   ตามเบื้องต้น...และอย่าลืมสรุปสั้น ๆ อีกครั้ง...ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ วันเวลาที่ชัดเจน

๔.    ตอนท้ายก็บอกว่ามีเรื่องที่จะชี้แจงให้ฟังและปฏิบัติตามเพียงเท่านี้

*แนะนำข้อสังเกตการพูด คือ  อย่าพูดออกนอกประเด็น หรือนอกเรื่องโดยไม่จำเป็น เช่น พูดเรื่องคนอื่น ใครทำงาน ใครไม่ทำงาน  เรื่องตนเอง วันนี้จะทำอะไร จะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องไปพูด  พูดตามขั้นตอน  จบแล้วจบเลย  อย่าเหิรแบบเครื่องบินที่ลงสนามบินไม่ได้เพราะสภาพรันเวย์ไม่เอื้ออำนวย 

ผมปริ้นท์เอกสารหลักการพูดหรือขั้นตอนการเตรียมตัวพูดให้หนึ่งแผ่น  ด้านหลังก็เขียนหลักการพูดดังกล่าวเบื้องต้นให้เขา... เขาก็ถามว่า “เอาเท่าไหร่เนี่ย?”  ผมบอก "ไม่ต้องหรอกให้เป็นวิทยาทานก็แล้วกัน  หากจะหาหนังสือไปอ่านก็คงจะเสียเวลาทำมาหากินมากอยู่นะ...ทำตามที่แนะนำให้ได้ก็แล้วกัน...ที่สำคัญต้องมีความมั่นใจในตนเอง...อย่ากลัว...พอแล้ว" ...คุยกันอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง ...เขาพยักหน้ารับ ขอบคุณแล้วก็ขอตัวลากลับ...ก่อนกลับผมก็พูดว่า “อยากได้ความรู้อะไรต้องไปหาครูอาจารย์...อย่าให้ครูอาจารย์ไปหาลูกศิษย์ อยากได้ธรรมะต้องไปถามพระมันถึงจะถูกต้อง”   “ถ้าอยากเรียนคอมหรือค้นข้อมูลก็มาจะแนะนำให้”...เขายิ้มพยักหน้ารับแล้วก็เดินออกจากร้านไป

 



ความเห็น (5)

ขอบคุณคะพี่หนาน จะนำไปทดลองใช้บ้างคะ

วันนี้ได้ทบทวนความรู้เรื่องการพูด ขอบคุณค่ะพี่หนาน

ขอขอบคุณสมาชิก ครู อาจารย์ ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน ให้กำลังใจ และแสดงความคิดเห็นมากครับ

เจ๋งมาก ๆครับพี่หนาน..อบต.คงเป็นนักพูดที่เก่งในไม่ช้านี้แน่นอน ฮ่า ๆ

ขอบคุณอ.นีโอ..เบเกอรี่ที่สนใจ…ขอบคุณอ.GD ที่เข้ามาทบทวนความรู้เรื่องการพูด…ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งที่ให้คำชมมากครับ…อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ไม่รู้ว่าจะผ่านครั้งแรกไปได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ อิอิอิ…ขอบคุณที่ให้เกียรติเข้ามาอ่านทุกท่านมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท