อนุทิน 132633


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

1. ทำไมต้องเป็นวาทกรรม (discourse) ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า อุดมการณ์ (ideology)

    ก่อนอื่นมาดูความหมายของอุดมการณ์ก่อน อุดมการณ์เป็นกลุ่มของความคิดที่ใช้ในการกำหนดชีวิตและทิศทางของชีวิต ว่าจะเป็นอะไร อย่างไร ของกลุ่มคน เช่น ชนชั้นนำก็มีกลุ่มของความคิดแบบหนึ่ง ในขณะที่เกษตรกรก็มีวิถี มีแนวทางอีกแบบหนึ่ง

     อุดมการณ์ในที่นี้เราได้มาจากแนวคิดของลัทธิมาร์กซิสม์ ลัทธิมาร์กซิสม์จะโจมตีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในขณะที่ระบบทุนนิยมจะต้องมีการผลิตซ้ำ (reproduce) เงื่อนไขทางอุดมการณ์เพื่อให้การดำเนินการในระบบทุนนิยมนี้อยู่ได้ เช่น ความเชื่อในเรื่องกรรมสิทธิ์ ในที่ดิน, ระบบชนชั้น, และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสำคัญของการบริโภค และอุดมการณ์ในระบบทุนนิยมนี้หรือความเชื่อต่างๆในระบบนี้จะครอบงำระบบชนชั้นที่ต่ำกว่าชนชั้นนำเอง อย่างไรก็ตามอุดมการณ์นี้จะถูกสร้างในส่วนของวัฒนธรรม เช่น โรงเรียน, วัด, กลุ่มการเมือง, พ่อแม่, เครือญาติ, และสื่อมวลชน

     โดยสรุปก็คือ อุดมการณ์จะมีอยู่ใน 2 แง่ ก็คือ 1. อุดมการณ์ในแง่ชนชั้นนำ 2. อุดมการณ์ในแง่ชนชั้นที่ถูกครอบงำ อุดมการณ์ของคนที่ถูกครอบงำจะต่อสู้กับอุดมการณ์ของชนช้ำนำ ในที่สุดอุดมการณ์ของชนชั้นนำจะถูกทำลายลงด้วยการปฏิวัติของอุดมการณ์ที่ถูกครอบงำนั้นเอง

    ทีนี้มาดูความหมายของคำว่า วาทกรรม บ้างว่าคืออะไร

1. วาทกรรม เป็น กลุ่มของการพูด การแถลง การนำเสนอ ฯลฯ ที่จะนำเสนอภาษาในการพูดถึงมัน กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ เป็นความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง เมื่อการพูดเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งสามารถทำได้ ก็โดยอาศัยวาทกรรมเท่านั้น อนึ่งการใช้วาทกรรม มีผลทำให้ผู้นั้นมีอำนาจมากด้วย เช่น คนมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาอย่างดี จะอธิบายคนที่ไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลย ก็อาจใช้เวลาในการอธิบายเป็นเวลานานๆ คนที่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดีต้องมีอำนาจมากกว่าคนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์น้อยกว่านั่นเอง

2. วามกรรม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแยกความแตกต่างระหว่างความคิดกับกากระทำ หรือ ภาษากับการปฏิบัติ วาทกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การผลิตความรู้โดยผ่านภาษา

3. ภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (discursive practice) เป็นทั้งรูปแบบของการสื่อสาร และการก่อสร้างความหมาย

4. การปฏิบัติทางสังคมล้วนมีนัยยะหรือความหมายเสมอ ดังนั้นการปฏิบัติการทางสังคมจึงมีนัยยะแห่งภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (discursive practice)

5. ฟูโกต์ (Foucault) คัดค้านว่าทำไมเขาจึงใช้วาทกรรม ไม่ใช่อุดมการณ์ ก็เพราะ การพูดหรือการแถลงเกี่ยวกับโลกของสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ศีลธรรมก็ตาม ไม่สามารถบอกเราได้ว่า สิ่งนั้นเป็นจริง เป็นแก่นแท้ เป็นสิ่งแน่นอนมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง ข้อเท็จจริง (facts) ต่างๆ ก็ไม่บอกเราสิ่งนั้นเป็นจริง เป็นสิ่งผิด มีคุณธรรม ไม่มีคุณธรรม เพราะว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นย่อมมาถึงเราได้หลายวิธี นั่นเป็นเพราะภาษาที่เราใช้นั่นเอง

ที่นี้คงจะสังเกตได้ว่าทำไมผมถึงใช้วาทกรรม มากกว่าอุดมการณ์ บันทึกนี้ผมจะใช้คำว่า วาทกรรมประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเพราะเรามีข้อจำกัดในการใช้ภาษาในการอธิบายความหมายของประชาธิปไตย อนึ่งประชาธิปไตยเป็นความรู้ที่เรากำลังพูดถึงกล่าวถึง แต่อย่างไรก็ตามความรู้นี้จะกลายเป็นวาทกรรมหลัก ก็ต่อเมื่อมีประชาชนใช้มันเป็นจำนวนมาก และผลักให้วาทกรรมประชาธิปไตยอย่างอื่นกลายเป็นวาทกรรมรอง การเป็นวาทกรรมหลักและวาทกรรมรองมีการต่อสู้แย่งชิง เพื่อจะให้ตนเองกลายเป็นวาทกรรมหลักให้ได้

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท