อนุทิน 129592


นาย สังวาลย์ วาลย์ เสนานุฤทธิ์
เขียนเมื่อ

 

การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย      

 

อำเภอคูเมือง   จังหวัดบุรีรัมย์ ปี ๒๕๕๓ ๒๕๕๖

 

 

 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของโรคมากกว่า ๖๐ โรค และเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การทะเลาะวิวาท ทำให้สูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และ ค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก อำเภอคูเมืองมีปัญหาสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง กำหนดให้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาระดับพื้นที่อันดับ ๒ รองลงมาจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งปี ๒๕๕๓ เทศกาลสงกรานต์มีผู้ประสบอุบัติเหตุ จำนวน ๓๔ ราย ร้อยละ ๕๙ เกิดจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ และ โรคที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มารับการรักษามีแนวโน้มสูงขึ้น และ อาการรุนแรงมากขึ้น

 

รูปแบบการดำเนินงาน  คือ  ๑. การแต่งตั้งและประชุมคณะอนุกรรมการระดับอำเภอ ๒.การประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ โดยทีมวิทยากรอำเภอ  ๓.การตรวจแนะนำสถานประกอบการและแจกเอกสารเกี่ยวกับพรบ.ปูพรมทุกสถานประกอบการและการตรวจเข้มข้นในเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่และวันห้ามจำหน่ายตามกฎหมาย ๔.การจัดโครงการรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในงานประเพณี  งานเทศกาลสำคัญของอำเภอ ภายใต้โครงการวิถีพุทธ วิถีไทยงานบุญปลอดเหล้า   การรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในเทศกาล ปีใหม่ สงกรานต์ ๕. จัดประกวดร้านชำที่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ๖.การประสานเป็นหนังสือราชการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุประเด็นปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแผนกองทุนตำบลและข้อบัญญัติท้องถิ่น ๗.การคืนข้อมูลในการประชุมหัวหน้าสวนราชการ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

 

ผลการดำเนินงาน ๑.เกิดพื้นที่เล่นน้ำปลอดการดื่มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเทศกาลสงกรานต์ ๑ พื้นที่  ๒.อุบัติเหตุลดลงจากปี ๒๕๕๓  จำนวน ๓๔ ราย เป็น ๑๖ , ๑๔ รายในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๕  ๓.ร้านค้าส่งสุรารายใหญ่ของอำเภอปิดร้านในวันห้ามจำหน่าย จำนวน ๑ แห่ง ๔.องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด นวตกรรมกองทุนตำบลโครงการงานบุญปลอดเหล้า ปี ๒๕๕๔ ๕.อำเภอคูเมืองผ่านการประเมินการดำเนินงานอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งอันดับที่ ๑ ของจังหวัดบุรีรัมย์ ปี ๒๕๕๕ ๖.อำเภอคูเมืองได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ถอดบทเรียนการดำเนินงานอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งประเด็นการดำเนินงานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี ๒๕๕๖ จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๕ นครราชสีมา ๗.ร้านค้างดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ จำนวน ๙๙ ร้าน  ประชาชนงดดื่ม จำนวน ๔,๓๒๙ ราย ๘.มีจำนวนงานบุญปลอดเหล้า ร้อยละ ๖๑ (๙๑งาน) จาก ๑๕๒ งาน (มกราคม – เมษายน ๒๕๕๖)  ๙. เกิดนวตกรรม ๑.ฝากเหล้าเข้างาน  ๒.ถ่ายทอดสด  ๓.ขวดเหล้าแลกน้ำเปล่า

 

การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเนื่องจาก ทุกภาคส่วนเห็นปัญหาร่วมกัน มีนโยบายชัดเจน การร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเชิงการบังคับใช้กฎหมาย และการรณรงค์เชิงบวก การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญโดยตลอด ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมดำเนินการและรับผลประโยชน์ร่วมกันและมีการคืนข้อมูลให้ทุกภาคส่วนทราบหลังจากการดำเนินงานทำให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลและเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานในกิจกรรมต่อไป

 

ข้อเสนอแนะควรมีการดำเนินเก็บข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้น ขยายพื้นที่ในการจัดกิจกรรม จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ การดำเนินงานเกี่ยวกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรมีการดำเนินการทั้งการบังคับใช้กฎหมายและกิจกรรมรณรงค์เชิงบวก ขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมเข้าไปในกลุ่มเด็ก เยาวชนมากขึ้น เพิ่มเติมกิจกรรมและรูปแบบการดำเนินงานให้มากขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท