อนุทิน 128499


อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ตอนบ่ายวันนี้เราอยู่ที่ โรงเรียนด่านใต้วิทยา  (เรารวม คุณเสือ ศน.สายรุ้ง และ ศน.สุริยา)

มีข้อสังเกตดังนี้ที่ด่านใต้วิทยา

  • โรงเรียนสะอาดเรียบร้อย เป็นระเบียบมากๆ เหมือนที่ ร.ร.บ้านนาแกหัวแฮดส้มโฮง 
  • ผมรู้สึกว่า นักเรียน มีระเบียบ เรียบร้อย มีสัมนาคารวะ สรุปรวมคือ นักเรียนมีวินัยมาก ....(แม้ว่าจะไปอยู่เพียง 3 ชั่วโมง)
  • แม้ว่าจะยังไม่จัดให้นักเรียนมีการ "ถอดบทเรียน" กันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ แต่นักเรียนชั้น ม. 3 ที่ผมเข้าไปทดลองสอนดู ก็สนใจเรียนรู้มากๆ  (ตามีแวว เป็นประกาย มีสมาธิดี)
  • นักเรียนบอกว่าข่าวที่ดังที่สุดคือ "ข่าวสมีคำ" และไม่ได้บอกข่าวอื่นที่ทันเวลากว่านั้น.. ผมพูดกับนักเรียนเพื่อทำให้เขาเห็นความสำคัญของการตามข่าวสำคัญของโลกว่า
    • หากคำว่า "ประวัติศาสตร์" คู่กับคำว่า "อดีต"
    • หากคำว่า "อนาคต" คือ "ความฝัน ที่เรามุ่งมั่น"
    • คำว่า "ปัจจุบัน" ก็น่าจะเป็นคำว่า "ข่าว" 
    • "ข่าว" ที่สำคัญในปัจจุบัน จะกลาย "ประวัติศาสตร์" พลันในอดีต ผู้ที่แตกฉานอดีตจะสามารถทำนายอนาคต ...
  • ผมเล่าเรื่อง ชายคนหนึ่งไปท้าทายหลวงปู่ชา สุภัทโท ให้เด็กๆ ฟัง ดังนี้ครับ ...มีชายคนหนึ่งไปถามหลวงปู่ชาว่า  ..... "หลวงพ่อครับ ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ........ หากมีจริงพาผมไปดูหน่อย " หลวงปู่ชาไม่ตอบ แต่ท่านถามกลับว่า
    .."พรุ่งนี้มีจริงไหม" ชายคนนั้นตอบว่า "มีซิครับ"  หลวงปู่บอกต่อว่า "งั้นโยมก็พาไปดูพรุ่งนี้หน่อยซิ"....(.สุดยอดไหมครับ สำหรับผมแล้ว นี่เป็นสุดยอดของการสอน)
  • ครูมีความมั่นใจในตนเองสูงครับ  คุณครูสุจรินทร์ไม่เกร็งเลยแม้แต่น้อยครับ ตอนที่ผมเข้าไปสังเกตการสอนของท่าน ตอนมาประชุมสะท้อนผล มีครูกล้าตั้งคำถามที่ตรงประเด็น.... ผมว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะท่าน ผอ.อภิรักษ์ ท่านมีบุคลิกเป็นกันเอง ทำให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ...
  • ยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ "PBL" หรือ การสอนแบบโครงงานบูรณาการบนฐานชีวิต (เหมือนๆ กับโรงเรียนที่ไปมาทั้งหมด ยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง)

คอมเมนต์ของผม สำหรับ โรงเรียนด่านใต้วิทยา

  • ขอชื่นชมความสะอาด เรียบร้อย และเด็กที่มีวินัยของด่านใต้มากครับ เมื่อถามว่าทำอย่างไร...ผมจับได้จากคำตอบแบบไม่ละเอียดนักว่า 
    • ท่านบอกว่า "เราคุยกันจน..... ไม่รู้กี่ครั้งเรื่องทำอย่างไรเด็กถึงจะมีระเบียบ..." แสดงว่า เกิด PLC แล้วครับ
    • ท่านบอกว่า "การยืนประจำหน้าประตูที่ทำมาต่อเนื่อง ทำให้ได้รู้จักเด็กเป็นรายคน ... และเห็นผลชัดว่า นักเรียนเปลี่ยน อยากมาเรียนหนังสือ"...แสดงว่า ท่านต้องใช้ "จิตวิทยาเชิงบวกแล้วแน่ๆ ครับ
    • ท่านบอกว่า "เด็กๆ .... เข้าไว้ก็ไม่ฟัง หยุดไว้ไม่อยู่ ครูพูดไม่ทัน...." แสดงว่า ที่ผมมองเห็นว่า นักเรียนมีตามีแววเป็นประกาย ไม่น่าจะผิด  เพราะความมั่นใจ ภูมิใจ และกล้าคิด จะทำให้จิตส่งพลังออกทางหน้าต่างกลาง "หน้า" และ "ตา" .....(วิชา โหงวเฮ้ง ของจีน ...ไม่ได้คิดเล่นๆ ครับ)
  • ผมแนะนำเด็กห้อง ม. 3 ว่า เราต้องสนใจ "ข่าว" เพราะการตามข่าวที่สำคัญในปัจจุบัน จะทำให้เราแตกฉานอดีต "ประวัติศาสตร์" ซึ่งจะทำให้ชาญฉลาดในการทำนายอนาคต
  • ผมถาม นางสาวศรารัตน์ (อาจจำชื่อผิด) ว่า จบจาก ม. 3 แล้วจะไปอย่างไรต่อ "จะไปเรียนต่อ ม.6 ที่..... ค่ะ" เมื่อถามต่อว่าแล้วจากนั้นล่ะครับ เธอตอบว่า จะไปเรียนเป็น "พยาบาล" ... "แล้วเป็นพยาบาลแล้วไงต่อครับ"......ทุกคนหัวเราะแต่ก็ไม่มีเสียงตอบใดๆ ...... ผมแนะนำเด็กๆ ว่า เราควรหาคำตอบของคำถามที่ไม่มีคำตอบ เช่น เกิดมาทำไม เรียนไปทำไม ไม่เรียนได้ไหม ฯลฯ
  • ผมแนะนำคุณครูสุจรินทร์ว่า เราควรออกแบบการสอนให้นักเรียนได้ฝึกให้ครบทั้ง "นำเข้า" และ "นำออก" และออกแบบให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ศน.สายรุ้งบอกว่า ทำให้ห้องเรียน "มีชีวิตชีวา" ....(ใช่ๆๆ คำนี้แหละที่ผมจะพูด ..ผมคิดในใจตอนนั้น)
  • ผมสรุปกับ ผอ.อภิรักษ์ และครูด่านใต้ฯ ว่า ทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงอยากเชียร์ให้สอนแบบ "โครงงานบูรณาการบนฐานชีวิต"  ผมเสนอด้วยครับว่า การเรียนรู้บนฐานโครงงานบนฐานชีวิตที่มีดี มีลักษณะดังต่อไปนี้
    • เป็นหัวเรื่องหรือปัญหาที่มีคุณค่า เป็นปัญหาในชีวิตจริง เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือความเป็นอยู่เป็นไปของนักเรียน ชุมชน หรือสังคมจริงๆ .....ปัญหาที่ถ้าเด็กทำสำเร็จแล้วเขาจะภูมิใจมาก....ปัญหาแบบนี้เด็กๆ จะได้ "ทักษะชีวิต"
    • เป็นโครงงานที่เด็กๆ จะต้องใช้สมาธิและความพยายามอยู่กับเรื่องนั้นเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เทอม หรือ 1 ปี ผมเสนอว่า ผอ.อภิรักษ์ ควรจัดให้มี รายวิชาสักวิชา ที่เด็กและครูจะได้เรียนเรื่อง PBL นี้อย่างจริงจัง ผมยกตัวอย่างว่า วิชานี้อาจจัดแบบนี้ว่า 
      • อาทิตย์ที่ 1-2 ระดมปัญหาร่วมกันบนกระดาาคลิปชาร์ท และนำเสนอหน้าชั้นเรียน
      • อาทิตย์ที่ 3-4 ลงสำรวจและเก็บข้อมูลปัญหาที่เด็กๆ เลือกในชุมชนหรือสังคม หรือสถานที่จริงๆ
      • อาทิตย์ที่ 5-6 พาเด็กทำเค้าร่างโครงงาน ...ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา ทำ BAR
      • อาทิตย์ที่ 7-8 ลงพื้นที่ทดลองทำจริงๆ
      • อาทิตย์ที่ 9-10 กลับมาวิเคราะห์ "ถอดบทเรียนระหว่างการดำเนินการ" หรือเรียกว่า DAR และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
      • อาทิตย์ที่ 11-12 นำวิธีที่ปรับปรุงกลับไปทดลองแก้ปัญหาต่อ
      • อาทิตย์ที่ 13-14 กลับมาสรุปผล AAR และนำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 
      • อาทิตย์ที่ 15 ส่งรายงาน และเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์
      • ฯลฯ
    • เป็นโครงงานที่ทั้งนักเรียนและครูได้เรียนรู้ร่วมกัน จะดีที่สุดถ้า เริ่มต้นทั้งนักเรียนทั้งครูไม่รู้คำตอบ.....
  • ผมเชียร์ให้เรียนแบบ PBL  เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ครับ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท