ครูบาบินก้าว
ครูบา บินก้าว อิทธิภาโว จนอีหลีอีหลอ

อนุทิน 127664


ครูบาบินก้าว
เขียนเมื่อ

บันทึกธรรม

ข่าว มรณานุสติ

สมเด็จเกี่ยว เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ติดเชื้อในกระแสเลือด มรณภาพแล้ว ที่รพ.สมิติเวช ขณะอายุ ๘๕ ปี

วันนี้ ( ๑๐ ส.ค. ๒๕๕๖ )  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ สมเด็จเกี่ยว ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้มรณภาพลงแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๘.๔๑ น. ที่ผ่านมา ที่รพ.สมิติเวช ขณะอายุ ๘๕ ปี เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด และจะมีการเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาล ในวันพรุ่งนี้ ( ๑๑ ส.ค.๒๕๕๖ ) เวลา ๑๐.๐๐ น.

ขณะที่พุทธศาสนิกชนและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างเศร้าเสียใจต่อการมรณภาพ

สำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) เป็นพระสงฆ์มหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า 'สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี '

มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนบุตร ๗ คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันสกุลโชคชัย หรือแซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์

สำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี ๒๔๘๓ แต่ก่อนจะถึงกำหนดวันเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนใน ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๔๘๔ ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์เป็นพระอุปัชฌาย์

ความตั้งใจเดิมคือบวชแก้บน ๗ วัน แล้วจะสึกไปเรียนต่อ แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพา กลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ท่านศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทในวันที่  ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒2 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นพ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่พระพรหมคุณาภรณ์

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ ๖๒ ปี นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๙ และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี ๒๕๐๘ ครั้นถึงพ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม

เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติห น้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ ๕  ประการ







ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท