อนุทิน 126664


GD
เขียนเมื่อ

อ่านพบเรื่องที่ไม่เคยทราบอีกเรื่องหนึ่งจึงต้องเก็บเอาไว้ ดีใจที่ สุนทรภู่มีเชื้อสายเมืองเพชร ดังบทความ

ของสุจิต วงศ์เทศ

พ่อสุนทรภู่ เชื้อพราหมณ์เมืองเพชร

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:57:27 น.



คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุนทรภู่ เขียนประวัติย่อตัวเองบอกไว้ในนิราศเมืองเพชร ว่า "โคตรญาติย่ายาย" คือบรรพชนสายแม่กับสายพ่อ ล้วนเป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

อ.ล้อม เพ็งแก้ว ถ่ายสำเนาต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยจากหอสมุดแห่งชาติ แล้วชำระและอธิบายไว้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่ พ.ศ.2529 (เกือบสามสิบปีแล้ว) มีเนื้อกลอนนิราศตอนสำคัญ จะคัดมาให้อ่านอีกดังนี้

มาลงเรือเมื่อจะล่องแรมสองค่ำ ต้องไปร่ำลาพราหมณ์ตามวิสัย

ไปวอนว่าท่านยายคำให้นำไป บ้านประตูไม้ไผ่แต่ไรมา

เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา

เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ

ทั้งโบสถ์บ้านฐานที่ยังมีอยู่ แต่ท่านผู้ญาติกานั้นอาสัญ

เพราะกรุงแตกแยกย้ายพลัดพรายกัน จึงสิ้นพันธุ์พงศาเอกากาย

ที่เหล่ากอหลอเหลือในเนื้อญาติ เป็นเชื้อชาติชาวเพชรบุรียังมีหลาย

แต่สิ้นผู้ปู่ย่าพวกตายาย ญาติทั้งหลายมิได้รู้เรื่องบูราณ

แต่ตัวเราเข้าใจได้ไถ่ถาม จึงแจ้งความเทือกเถาจนเอาวสาน

จะบอกเล่าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน ก็เกรงท่านทั้งหลายละอายครัน

จึงกรวดน้ำรำพึงไปถึงญาติ ซึ่งสิ้นชาติชนมาม้วยอาสัญ

ขอกุศลผลส่งให้พงศ์พันธุ์ สู่สวรรค์นฤพานสำราญใจ


นิราศเมืองเพชร ของ สุนทรภู่ ฉบับไทย-อังกฤษ แปลโดย เสาวณีย์ นิวาศะบุตร

(เล่มละ 180 บาท)


กลอนนิราศที่ยกมานี้มีแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ใครอ่านภาษาไทยไม่เข้าใจ ก็ให้อ่านภาษาอังกฤษ จะได้เข้าใจเสียทีว่าทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายของสุนทรภู่เป็นพราหมณ์เมืองเพชร



พูดกันตรงๆ ว่าสุนทรภู่เขียนบอกไว้เองว่าบรรพชนทั้งสายแม่และสายพ่อเป็นพราหมณ์เมืองเพชร ซึ่งเท่ากับไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับบ้านกร่ำ

แต่สถาบันการศึกษาและสื่อ (ทั้งหนังสือพิมพ์และวิทยุกับโทรทัศน์) ไม่เชื่อสุนทรภู่ เพราะยังยึดถืออย่างเคยชินจากตำราแห่งชาติที่ผิดพลาด ว่าสุนทรภู่มีบรรพชนอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง

สถาบันบางแห่งยอมรับแล้วว่าสุนทรภู่เป็นชาวบางกอก เกิดที่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย แต่ยังดันทุรังยื้อไว้ให้บิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง ทั้งๆ ไม่เคยพบหลักฐาน และสุนทรภู่ไม่เคยเขียนบอก

ที่ยื้อไว้ก็เพียงต้องการให้เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่สร้างไว้แล้ว จะได้ไม่เสียหน้าว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความเข้าใจผิดพลาด

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นกับหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเสมอไป แต่ขึ้นกับศักดิ์ศรีหน้าตาเป็นสำคัญด้วย

คืออย่าให้เสียหน้า (ของใครบ้างก็ไม่รู้) และอย่าให้เสียรายได้ (ของผู้ลงทุนท้องถิ่น) จากการท่องเที่ยว

หน้า 20,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่  19 กรกฎาคม 2556




ความเห็น (2)

น่าจะลงเป็นบันทึกนะคะ เป็นข้อมูลที่ไม่เคยทราบมาก่อน น่าสนใจมากค่ะ (เคยเรียนกับอาจารย์ล้อมด้วยค่ะในปี 2514 หลายเดือนก่อนเห็นท่านออกรายการใน TV ดีใจมากค่ะที่เห็นท่านแข็งแรงดี)

เห็นด้วยกับพี่ไอดิน - กลิ่นไม้จ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท