อนุทิน 125268


nampeth-APN+(educator diabetes)
เขียนเมื่อ

องค์ประกอบของกระบวนการให้คำปรึกษา
ในการให้คำปรึกษานั้น ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบในกระบวนการให้คำปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย
7.1 มีความรู้ (Knowledge)
ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี รวมไปถึงความรู้พื้นฐานที่จะทำความเข้าใจในปัญหาของผู้รับบริการ รู้จุดเด่นและจุดด้อย และสามารถให้การศึกษาให้ความรู้แก่ผู้ที่มีปัญหาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
7.2 มีทัศนคติ (Attitude)
ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจำเป็นที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ มีความเข้าใจและเข้าใจความรู้สึกร่วมไปกับผู้ที่มีปัญหา การมีความเข้าใจและเห็นใจย่อมจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจในเกียรติภูมิและความมีคุณค่าของการเป็นมนุษย์ ช่วยให้รู้สึกไม่อายที่จะพูดถึงปัญหาของตนและค้นหาความเป็นจริง เพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมของคน
7.3 มีทักษะ (Skill)
ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีทักษะในการให้คำปรึกษา ซึ่งหมายถึงการนำความรู้และทัศนคติดังกล่าวแล้วมาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ทำให้ผู้มีปัญหามีทางออก เข้าใจตนเอง เป็นที่พอใจที่ได้รับความช่วยเหลือ ทักษะในการให้คำปรึกษาก็เหมือนกับ ทักษะในการให้บริการทางด้านจิตวิทยาสังคม ประกอบด้วย
7.3.1 ทักษะในการสร้างสัมพัทธภาพการเอาใจใส่ ประกอบด้วย
7.3.1.1 การมอง มองด้วยความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือ
7.3.1.2 กริยาท่าทาง มีความเป็นกันเอง แสดงความจริงใจ
7.3.1.3 น้ำเสียง เป็นกันเอง จังหวะพูดไม่เร็วหรือช้า เบาหรือดังจนเกินไป
7.3.1.4 การพูดแบบเป็นกันเอง และพูดอยู่ในเรื่องราวที่เป็นปัญหา หรือเรื่องที่ผู้รับ คำปรึกษาต้องการปรึกษาในขณะนั้น

7.4 ทักษะในการฟัง (Listening Skill)
ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความสนใจเอาใจใส่รับฟังปัญหาของผู้รับคำปรึกษาเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้พูดระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจออกมา ทักษะในการฟังได้เขียนไว้ใน Psycho Social Care แล้ว

7.5 ทักษะในการตอบโต้ (Responding Skill)
ทักษะในการตอบโต้เพื่อสนทนาหรือพูดคุยกับผู้รับคำปรึกษา หลังจากใช้ทักษะการฟังมาแล้ว ซึ่งทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้ข้อมูลมาเพียงพอ มีความสนิทสนมกันดีขึ้นแล้วจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจปัญหาตนเองดีขึ้น การตอบโต้นี้ถ้าเร็วเกินไป อาจทำให้ผู้รับการปรึกษาปฎิเสธการช่วยเหลือหรือไม่มารับบริการอีก วัตถุประสงค์ของทักษะในการตอบโต้มุ่งหวังให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่หวังไว้
ทักษะในการตอบโต้มีเทคนิคที่สำคัญคือ
7.5.1 การซักถาม ให้ใช้คำถามเปิดมากกว่าคำถามปิด ไม่ใช้คำว่า”ทำไม” มาใช้คำว่า “อะไร” แทนได้
7.5.2การสนับสนุนให้กำลังใจ เทคนิคนี้กระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่ามีผู้ให้กำลังใจ เขามิได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว ทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้ว่าเขามีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้ มีความคิดริเริ่มที่จะต่อสู้รวม ทั้งมีความมั่นใจ ปกติแล้วผู้รับคำปรึกษาบางคนขาดความคิดริเริ่ม ไม่กระตือรือร้นจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคนี้
7.5.3 การเผชิญหน้า เทคนิคนี้ผู้ให้คำปรึกษาใช้เมื่อผู้รับคำปรึกษามีความสับสน มีความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมและความคิดความรู้สึกของตน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับรู้ถึงความขัดแย้งดังกล่าวและนำมาวิเคราะห์ตนเอง แม้ว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจอยู่บ้าง เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสม
การใช้เทคนิคนี้มักจะใช้เมื่อมีข้อมูลต่างๆ เพียงพอ และผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษามีความสนิทสนมพอควรแล้ว ไม่ควรใช้เทคนิคนี้บ่อยๆ อาจใช้เพียงครั้งเดียวในระยะที่ปรึกษากัน หากใช้บ่อยๆ จะไม่เกิดผลดี ผู้รับคำปรึกษาจะรู้สึกว่าเป็นการตำหนิติเตียนไม่เห็นด้วยหรือรู้สึกขัดแย้ง
การใช้เทคนิคเผชิญหน้า เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญที่จะให้ผู้รับคำปรึกษายอมรับความจริงกล้าที่จะเผชิญความจริงเต็มใจที่จะแก้ปัญหา จึงต้องการที่จะสำรวจตนเองแล้วปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมนั้นเอง
7.5.4 การตีความหมาย เทคนิคนี้หมายถึงการตีความหรือแปลความหมาย เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมความคิด ความรู้สึกที่เขาได้แสดงออก แม้ว่าเขาไม่ได้เปิดเผยแสดงออกมาตรงๆ แต่การแสดงออกจะมีความหมายทั้งสิ้น การตีความหรือแปลความหมาย เพื่อให้ผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษามีความเข้าใจสื่ออารมณ์กันได้และเข้าใจความจริง จึงเป็นเทคนิคที่ทำให้ผู้รับคำปรึกษาเชื่อถือมีศรัทธาต่อผู้ให้คำปรึกษามากขึ้น มีความสัมพัทธ์ดีขึ้น ยอมเปิดเผยตนเองมากขึ้นทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจตนเองไปด้วย เมื่อผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาเห็นใจและเข้าใจร่วมกัน ย่อมช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตนเองปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนให้มีความสุขในชีวิต
เทคนิคนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่ง คือผู้ให้คำปรึกษามีอคติ ซึ่งทำให้ตนเองใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของตนที่จะต่อต้านพฤติกรรมบางอย่าง เช่น คนมีปัญหาชีวิตคู่ทำให้ไม่อยากแต่งงาน เลยตีความหมายและให้คำปรึกษาไปในทางเดียวกับตน ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะชีวิตของผู้รับคำปรึกษามิใช่ชีวิตของผู้ให้คำปรึกษา

7.6 ทักษะในการเปิดเผยตน
การเปิดเผยตนเองถึงความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการให้คำปรึกษา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับคำปรึกษา วัตถุประสงค์ในการเปิดเผยตนเองมีเพื่อให้บรรยากาศเป็นกันเองช่วยให้ผู้ให้คำปรึกษาบอกเรื่องราวต่างๆ ของตน เมื่อผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่าผู้ให้คำปรึกษาก็มีลักษณะคล้ายๆ กับตน ก็จะช่วยให้เขารู้สึกสบายใจขึ้นไม่มีช่องว่างระหว่างกัน อยากรู้ทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้ให้คำปรึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของตนไปในทางสร้างสรรค์ค์ต่อไป
การเปิดเผยตนเองนี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาที่จะเปิดเผยเรื่องทั่วไปของเขา เช่น เรื่องความไม่สบายใจเป็นต้น เรื่องส่วนตัวที่ไม่ลึกซึ้งมาก เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของเขา เพราะเรื่องเหล่านี้ผู้ให้คำปรึกษาก็มีเช่นกันในฐานะปุถุชน

7.7 การมุ่งที่ปัจจุบัน (Immediacy) และทักษะที่นำมาประยุกต์ใช้
การให้คำปรึกษาเป็นการสะท้อนความคิดความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาและของผู้รับคำปรึกษา ซึ่งเป็นการสัมพัทธ์กันในทางที่ดีหรือทางที่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาในที่นี้ ขณะนี้ ( Here and Now) โดยใช้เทคนิคต่างๆ ดังกล่าวแล้ว เพื่อที่จะเปิดเผยเรื่องราวและความรู้สึกต่างๆ ออกมา

โดยปกติผู้รับคำปรึกษามักจะเก็บกดความรู้สึก หรือปกปิดเหตุการณ์หรือความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ บางครั้งผู้รับคำปรึกษามีความรู้สึกต่อต้านด้วย ซึ่งเป็นการยากที่จะให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี จึงต้องเริ่มจากปัจจุบันก่อนไม่ก้าวลึกลงไปถึงอดีต

การให้คำปรึกษาแนะนำจะได้รับความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการที่จะนำเอาความรู้ มีทัศนคติที่ดี และมีทักษะในการให้คำปรึกษาและนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
ที่มา : http://www.med.cmu.ac.th/dept/family/LECTURE/onanong/psycho-social%20care.doc (เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง Psycho Social Care & Counselling Technique ของ อรอนงค์ ซ่อนกลิ่น ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท