อนุทิน 121397


พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

บุคคลผู้ไม่บรรลุพระนิพพาน

             ผู้เขียนได้อ่านหนังสือทางเดินสู่พระนิพพาน ของหลวงพ่อธี  วิจิตฺตธมฺโม  ขณะนี้มีอายุ 96 ปี  ท่านเป็นชาวไทยใหญ่  เวลาเทศน์จึงต้องมีผู้แปลเป็นภาษาไทย  หนังสือเล่มนี้ท่านก็เขียนเป็นภาษาไทยไหญ่  พระมหายาจินต์  ธมฺมธโร เป็นผู้แปล  มีข้อเขียนที่น่าสนใจหลายเรื่อง  เช่น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านมุ่งใช้ปัญญานำ  โดยเน้นให้เฝ้าดูปรมัตถ์  ท่านเขียนคำคล้องจองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจคือ

                                      สัจจสี่มีอยู่แน่แต่ไม่เห็น  เขาจึงเป็นปุถุชนจนจักษุ

                               มัคคญาณผลญาณก็อดรู้  ได้แต่ดูบัญญัติเห็นบัญญัติ

                               หากหมั่นเพียรปฏิบัติไปให้ถูกต้อง   ประคองจิตตามครรลองอริยสัจ

                               เห็นรูปนามตามที่เป็นปรมัตถ์  ปฏิบัติไปจักได้พบพระนิพพาน

               ท่านจะเน้นการเฝ้าดูไตรลักษณ์ ที่อนัตตา  คือดูการแสดงอาการของธาตุสี่  เช่น ขณะที่เรานั่ง เดิน ยืน หรือนอน ธาตุทั้งสี่ในร่างกายจะแสดงธรรมให้เราดู คือ 

                ปฐวี  ธาตุดิน แสดงออกในอาการหนัก แข็ง หยาบ เบา อ่อน นิ่ม ฯลฯ

                อาโปธาตุ ธาตุน้ำ  แสดงออกในอาการซึมซาบ เกาะกุม ฯลฯ

                เตโชธาตุ ธาตุไฟ  แสดงออกในอาการ ร้อน เย็น อุ่น หนาว ฯลฯ

                วาโยธาตุ  ธาตุลม แสดงออกในอาการ  เจ็บ เหน็บ เคลื่อน ไหว นิ่ง ฯลฯ

จากที่ท่านเขียนไว้เราจะพบอาการเหล่านี้เสมอ  ทั้งในขณะนั่งสมาธิ หรือในชีวิตประจำวัน  เราจะเห็นอาการเหล่านี้เกิดขึ้นที่ร่างกาย แต่เรามักจะไม่เห็นด้วยตาปัญญา  คือ เห็น อาการธาตุทั้งสี่ตามจริง(ดูปรมัตถ์) โดยไม่ต้องมีร่างกายเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  แต่เราจะเข้าไป เป็น  อาการเหล่านั้น คือ ร่างกายของเราเป็นเหน็บ  ร่างกายของเราร้อน  ร่างกายของเราหนาว หลวงพ่อบอกว่าเราดูบัญญัติ  จึงยังห่างไกลการหลุดพ้นจากความทุกข์ และท่านยังได้บอกถึงอาการต่างๆที่เมื่อบุคคลกระทำแล้ว ไม่สามารถเข้าสู่มรรคผลได้ คือ

                1.  กัมมรัมมตา  บุคคลผู้ติดอยู่กับการงาน ที่ไม่เกี่ยวกับมรรคผล

                2.  ภาสรัมมตา  บุคคลผู้ชื่นชอบอยู่กับการพูดคุย

                3.  มิตตรัมมตา  บุคคลผู้คลุกคลีอยู่ด้วยหมู่เพื่อนฝูง

                4.  มิทธรัมมตา  บุคคลผู้มักมากในการนอน

                5.  สังขารวิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ บุคคลผู้ไม่พิจารณาค้นหาความหลุดพ้นจากเหตุทุกข์

            ผู้เขียนอ่านแล้วเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เราๆชอบทำกันมาก  ที่ท่านเขียนมานี้มิใช่จะห้ามไม่ให้ทำงาน ไม่ให้พูด ไม่ให้คบเพื่อน ไม่ให้นอน หรอกนะ  ท่านมุ่งให้เรากระทำไปโดยไม่ยึดติดสิ่งเหล่านี้  กระทำอย่างมีสติ สัมปชัญญะ (รู้ตัว) ไม่หลงลืม มัวเมาไปกับสิ่งเหล่านี้  ผู้เขียนก็เป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะข้อสี่ เอ้าละ! ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอยื่นคำขาดกับกาย และใจว่าต้องนอนให้น้อยลงนะ



ความเห็น (1)

มีสมาชิก mode ธรรมะ อีกท่านแล้ว.......:) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท