อนุทิน 120717


พเยาว์ ทักษิณ
เขียนเมื่อ

การกินอย่างมีสติ

        องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนว่า "ภิกษุทั้งหลาย  ในกายยาววา หนาคืบ ที่พร้อมด้วยสัญญา และใจนี้แหละ เราบัญญัติว่าเป็นโลกที่มีพร้อมทุกอย่าง คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้ดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ พวกเธอทั้งหลายจงใช้ร่างกาย กับใจนี้  เป็นการทดลอง ค้นคว้าหาความจริงเอาด้วยตนเองเถิด"

         การเฝ้าสังเกตกาย ใจ ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส  หมายถึงการที่เราต้องฝึกให้กาย และใจอยู่ด้วยกัน โดยการเฝ้าสังเกดการเคลื่อนไหวของกายขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน หลวงพ่อพุธ  ฐานิโย ท่านสอนว่า การปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เห็นผลก้าวหน้ารวดเร็ว ต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเราตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ได้แก่ การ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน พูด คิด ทำ ผู้เขียนเคยลองสังเกตการกิน  (หลวงพ่อสนอง  กตปุญโญ  ท่านบอกว่าการกินเป็นกรรมฐานที่ทำยาก) โดยสังเกตรสอาหาร  ผลคือรู้ตัวคำที่ 1 หรือ 2  อย่างดีก็ไม่เคยเกินคำที่ 3 หลงไปกับรสอาหารเรียบร้อย  มีสติ รู้ตัวอีกที่อิ่มแล้ว  เฮ้อยากจริงๆ  

         เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาได้อ่านหนังสือของคุณดังตฤณ เรื่อง มหาสติปัฏฐานสูตร ท่านแนะนำว่าถ้าใครยังไม่มีสมาธิ  (หลวงพ่อปราโมทย์  ปาโมชฺโช ท่านเรียกว่าจิตไม่ตั้งมั่น หรือจิตไม่ถึงฐาน)  อย่าไปสังเกตที่รสอาหาร  ให้สังเกตอาการเคี้ยวแทน ผู้เขียนได้ทดลองสังเกตการเคลื่อนของฟัน ริมฝีปาก ลำคอ พบว่าสังเกตได้ชัดเจน และนาน ผลที่ปรากฏจากการปฏิบัตินี้ ทำให้สามารถเคี้ยวอาหารได้ช้าลงด้วย  กิจกรรมนี้มีผลเกินคาด คือ นอกจากจะได้ปฏิบัติธรรมแล้ว  ยังมีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของเราด้วย ถือว่าได้สองต่อ



ความเห็น (1)

..... การที่เราต้องฝึกให้กาย และใจอยู่ด้วยกัน โดยการเฝ้าสังเกดการเคลื่อนไหวของกายขณะที่ ยืน เดิน นั่ง นอน ....  ใช่เลยนะคะ คือคำตอบ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท