อนุทิน 117932


toummeng
เขียนเมื่อ

บทเรียนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจภายใต้วิกฤติน้ำท่วม

  ปัจจุบันภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ รวมทั้งอุบัติภัยจากเหตุการณ์ก่อการร้าย จลาจลทางการเมือง ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดเนินธุรกิจ ทำให้ธุระกิจต้องชะงัก สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 นับเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่ผลิตผลการเกษตร แต่ยังทำลายทรัพย์สินและชีวิตประชาชนมากมาย รวมทั้งนับเป็นครั้งแรกที่น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลักและพื้นที่ตอนในเมืองหลวง ไฟฟ้าดับสายไฟ ตัดขาดความเสียหายดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ทำให้บางองค์กรที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวได้รับผลกระทบจนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ซึ่งส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานและการส่งมอบสินค้า ดังกรณีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายได้รับผลกระทบจนไม่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์ ทำให้โรงงานหลายแห่งที่ต้องมีการจัดส่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่เพราะบางชิ้นส่วนผลิตจากโรงงานมากกว่าหนึ่งแห่งเพื่อนำมาประกอบเป็นชิ้นงาน ความรุนแรงผลกระทบขึ้นกับว่าโรงงานระดับปลายน้ำจะจัดหาสั่งซื้อชิ้นส่วนจากแหล่งทดแทนอื่นได้หรือไม่ ทางผู้ประกอบการต้องมีแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจที่อาจต้องย้ายงานสำคัญไปทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรองและมอบหมายงานให้พนักงานทุกระดับทราบตามลำดับขั้นตอน สิ่งสำคัญ คือ ต้องบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมไม่ใช่ว่าทุกส่วนงานต้องมีแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan) แต่ควรมุ่งหน่วยงานสำคัญและตระหนักว่าการให้มีศูนย์สำรองฉุกเฉินเกินจำเป็นอาจเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายองค์กร ทำให้การวางแผนรองรับความต่อเนื่องทางธุรกิจต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยต้องพิจารณาหลายปัจจัย อาทิ การใช้บุคลากร การใช้สถานที่ การใช้งบประมาณ รวมทั้งการทดสอบแผนว่าสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ บุคลากรผู้เกี่ยวข้องจะต้องฝึกซ้อมการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นและทราบข้อบกพร่องของแผนที่จัดทำว่าต้องปรับปรุงอะไร

แผนปฏิบัติการภาคธุรกิจการเงิน

  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเตรียมแผนบริหารจัดการระบบการเงิน รองรับกรณีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯเพื่อยืนยันความพร้อมในการให้บริการของธนาคารตามปรกติในช่วงที่น้ำท่วมที่ผ่านมา ธปท. ไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดทำการของสถาบันการเงิน เนื่องจาก ธปท. ตระหนักดีว่าหากระบบการเงินหยุดชะงักจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่อื่น ๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดหรือหยุดชะงัก ดังนั้นในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วม ธปท. และสถาบันการเงิน ได้พยายามให้สถาบันการเงิน ตลาดการเงินและระบบชำระเงินสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจไม่หยุดชะงัก โดยดำเนินการ ดังนี้

1.ดำเนินการประชุมร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้การออกมาตรการต่าง ๆ ดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

2.การจัดเตรียมเงินสดสำรองให้เพียงพอต่อความต้องการถือครองเงินสดที่เพิ่มขึ้น ตามข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2554 ภาคธนาคารพาณิชย์มีการเบิกถอนเงินสดจาก ธปท. เพิ่มมากขึ้นกว่า 6 เท่า จากช่วงปกติ สะท้อนถึงความต้องการเงินสดเพิ่มมากขึ้นของประชาชนในช่วงดังกล่าว โดย ธปท. สำรองเงินสดไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอต่อการเบิกใช้ประมาณ 3 เดือน

3.ดูแลระบบการโอนเงินและระบบบริหารจัดการเงินสดกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ โดยจัดให้มีศูนย์เคลียริ่งเช็คทั้งที่สำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เขตสุรวงค์ และโรงพิมพ์ธนบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนพุทธมณฑลสาย 7 อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม และขยายเวลาการทำการเพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาแลกเช็คที่ยากลำบากขึ้น

แม้ว่าปลายปีที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจจำนวนมาก แต่เนื่องจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งมีการเตรียมแผนความพร้อมที่รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ แผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) แผนบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management Plan) แผนการกู้คืนระบบสารสนเทศ (Disaster Recovery Plan) แผนการจัดเตรียมทรัพยากรบุคล แผนการจัดเตรียมสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง (Work Area Recovery Plan) และแผนการกู้คืนอาคารและสถานที่ (Site Recovery Plan) ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบและการให้บริการลูกค้า อีกทั้งสามารถใช้ศักยภาพขององค์กรสนับสนุนการฟื้นฟูและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท