อนุทิน 115971


krupound
เขียนเมื่อ

          

           วันนี้ไปฟังการเสวนา เรื่อง การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมา ตอนแรกฟังอาจารย์วิจารณ์พูด รู้สึกเซ็งๆๆ เพราะเวลามีให้ท่านน้อยไป พออาจารย์พูดเร็วๆ ก็ฟังแบบมึนๆ แต่ตอนหลังก่อนกลับประทับใจมาก ในคำตอบที่อาจารย์ได้ตอบคำถามจากผู้ฟัง ซึ่งจำคำถามไม่ได้ แต่ประมาณว่า ในการเตรียมเด็กในอนาคตควรต้องตัดสิ่งใดออกไป ต้องรักษาสิ่งใดไว้ และควรสร้างสรรค์สิ่งใดเพิ่มเติม โดยอาจารย์ตอบได้ดีมาก คือ "จะทำสิ่งใดขอให้ดูกาลเทศะ ซึ่งสิ่งที่ควรตัดในตอนนี้ อนาคตอาจเป็นสิ่งที่ต้องรักษา ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องรักษาไว้ อนาคตอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ กาลเทศะจึงสำคัญ"

            อาจารย์ได้ให้ข้อคิดอีกว่า หากจะตัดก็ต้องตัดการคอรับชั่นในวงการศึกษา จัดระบบให้งบประมาณไหลลงไปสู่เด็กโดยตรง สร้างสรรค์ครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นครูเพิื่อศิษย์ ไม่ใช่ทำอาชีพครูแค่พอมีเงินเดือนกิน...โดนมาก



ความเห็น (2)

เล่าแบบนี้ก็ โดนมาก  ฮา

 

http://www.kroobannok.com/54045

แนะครูตัดเนื้อหาขยะ! ออกบ้างก็ดี
+โพสต์เมื่อวันที่ : 31 ต.ค. 2555

 

.....

 

การศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน คุณภาพสวนทางงบประมาณ-เรียนแต่ตำราก็เหมือนกรงขังปัญญา

จากงานเสวนาเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเด็ก สู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีนักวิชาการด้านการศึกษาเข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก

โดย นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า โลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก พลเมืองในยุคนี้จะยากลำบากจากการที่มีมากล้น และตกอยู่ในมายาของระบบทุนนิยม และน่าเป็นห่วงเด็กยุคนี้ ที่หลงอยู่กับเทคโนโลยีวันละหลายชั่วโมง ซึ่งจะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ และเอื้อต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เอื้อต่อการเสียคน การเรียนที่ครูคุ้นเคยกับการสอนก็ต้องเปลี่ยน มิใช่การเอาความรู้มาใส่ไว้ในตัวเด็กเพียงแค่นั้น การเรียนในยุคที่ 21 ไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั้นที่เด็กจะได้ แต่ต้องลงมือทำให้ได้ เรียนโดยการปฏิบัติจึงสำคัญมาก เพราะจะทำให้ปัญญาและมีทักษะชีวิต

"ในศตวรรษที่ 21 ผมอยากเห็นครูที่มีจิตวิญญาณมีความเป็นครู ครูที่ภูมิใจและเห็นคุณค่าในความเป็นจริง ไม่ใช่คิดอะไรเพียงแค่เงินเดือน ชีวิตครูต้องมีคุณค่ามากกว่านั้น และผมไม่อยากเห็นการคอร์รัปชั่น และการทุจริตในระบบการศึกษาไทย เพราะมันทำให้การศึกษาล้าหลังและไม่ก้าวหน้า"

ด้าน รศ.ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันอาศรมศิลป์ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ) กล่าวถึงการบริหารวิชาการในโรงเรียนรุ่งอรุณ ว่า ไม่ได้ยึดติดหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)วางเอาไว้ แต่ยังออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง พบว่าเด็กมีศักยภาพมากเพราะเน้นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาได้จริง นอกจากนี้เด็กยังได้รับเข้าไปความรู้ขาออก ที่สามารถนำออกไปบอกเล่าและแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างที่เด็กเรียนต้องมาจากโจทย์จริงๆ และมีความหมายกับชีวิตของพวกเขา

"ที่โรงเรียน เรียนเพียงแค่ 5 คาบวิชา เราเน้นให้เด็กได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำความสะอาดอาคารเรียน ห้องเรียน ทำอาหารกินกันเองได้โดยจัดเวรเปลี่ยนกัน ยุคนี้การเรียนต้องเปลี่ยน การจัดการศึกษาแบบฝันๆ หรือจัดแบบคุณหนูที่เด็กทำอะไร ควรเลิกสักที ห้องเรียน ตำราเรียนในทุกวันนี้เหมือนกรงขังปัญญา ติดอยู่ในนั้นเด็กไทยก็สู้ชาติไหนไม่ได้ ผลการสำรวจจาก 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 7 เราชนะแค่ประเทศลาวและเขมรเท่านั้น หากแต่เมื่อพูดถึงการใช้งบประมาณในการจัดการศึกษาของประเทศ พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณในด้านการศึกษาสูงที่สุด แต่ผลที่ได้อยู่เกือบอันดับสุดท้ายในกลุ่มอาเซียน"

ขณะที่ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยไปไม่ถึงไหน เพราะเราติดกรอบระบบราชการมาก แม้ว่าเราจะมีโรงเรียนที่สอนนอกกรอบในตำราอยู่ แต่ครูต้องรู้จักที่จะบูรณาการ อย่าเรียนแต่ในตำรา แต่ต้องลงมือทำจึงจะทำให้เด็กพัฒนา ทั้งนี้ครูต้องรู้จักที่จะตัดทิ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยออก เพราะเรียนไปก็เหมือนขยะ

 

ที่มา สยามรัฐ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท