อนุทิน 114117


CHANGNOI MOMMAM
เขียนเมื่อ

  

ปฏิรูปเทสวาสะ

เช้าตรู่เมื่อวันวาน “พี่บี” พี่สาวและกัลยาณมิตรต่างสถาบันฯ ในรอบรั้วศาลายา กริ๊งกร๊างโทรศัพท์ความแจ้งว่าจะมีเวทีถอดบทเรียนโครงการวิจัยที่กำลังทำอยู่ และเวทีคราวนี้ได้เรียนเชิญ  “ลุงม่อย” (ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์) ท่านเมตตาแวะเยื่อนพี่น้องผู้คุ้นเคยที่ทำงานร่วมกัน และนัยว่าเป็นเวทีชวนคุยทบทวนการทำงาน และให้กำลังใจน้องๆ ที่ยังทำงานกันอย่างต่อเนื่อง

ได้ทราบข่าวงานนี้มาแล้ว  แต่ยังไม่ทราบกำหนดการที่ชัดเจนถึงวัน เวลา และสถานที่ที่แน่ชัด หลังพี่บีได้แจ้งห้องประชุม และสถานที่แล้ว ไม่ใกล้ไม่ไกลจากที่ทำงานนัก จึงเป็นจังหวะดีที่จะได้เข้าร่วมเวทีคราวนี้ด้วย

ด้วยภาระที่ต้องชำระวันต่อวันไปพร้อมๆ กัน และ “ด้วยจิตคารวะ” คุณครูเมตตามาเยือนน้องๆ อีกทั้งไม่ได้เจอนานแล้ว เลยต้องหอบหิ้วงานและไปนั่งเรียนรู้กับคุณครูด้วย 

ไม่ผิดหวัง  ผู้เข้าร่วมล้วนเพื่อนพ้องน้องพี่ผู้คุ้นเคยกัน และที่สำคัญคือสำหรับตนเองนั้นมี “คุณครู” นั่งอยู่ในห้องพร้อมกันสองท่าน หนึ่งนั้นคือ ผศ.ดร.โสฬส ศิริไสย์ ในฐานะเจ้าภาพ และ ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์  ในฐานะวิทยากรเวทีถอดบทเรียนคราวนี้  โอกาสดีๆ ที่สองอาจารย์ผู้เฒ่ามาร่วมปลุกเสกวิชาการให้น้องๆ แบบนี้หายากยิ่งนัก

เป็นโชคดีดังคำพระท่านว่า “ปฎิรูปเทสวาสะ” อยู่ถิ่นที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ผลพลอยได้ก็คือโอกาสการทำงานและการเต็มเติมวิชาการในโอกาสที่เหมาะสม มุ่งทำงาน ทำงานมุ่งเป้าจนละเลยสิ่งงดงามรายทาง อีกทั้งถูกกำกับวนเวียนอยู่กับทฤษฎี และแนวคิดที่คุ้นชินแบบเดิมๆ บางคราวก็ถึงจุดบอด ขาดสมาธิ ไม่มีจังหวะสะท้อนบทเรียนให้ตน ไร้มุมมองใหม่ๆ ไร้ทิศทางให้ได้คิดและเรียนรู้ การได้คุณครูที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและ "ตกผลึกแล้ว" คอยเมตตาชี้นำทาง  โอกาสเช่นจึงหาได้ยากนัก

ในเวทีนั้น ตาจ้องโน๊ตบุ๊คมือพิมพ์ทำงานไป ส่วนโสตประสาทสดับฟังเพื่อรับบทเรียนที่คุณครูถ่ายทอดไป บทเรียนบางส่วนบางตอนของการทำงานที่ผ่านมาจากกรณีศึกษานั้น เสี้ยวหนึ่งตนเองนั้นได้มีส่วนร่วมคาบเกี่ยวเป็นตัวละคร คุณครูได้ประติดประต่อเชื่อมโยงให้เห็นภาพ และจังหวะการเดินเรื่องราวได้ชัดเจน และที่สำคัญในเวทีคราวนี้คือ คุณครูได้ตกผลึกเหตุการณ์แต่ละช่วงว่า คืออะไร เทคนิค กลวิธีเครื่องมือที่ใช้ต่างกรรมต่างวาระนั้นมาอย่างไร และฐานคิดที่ใช้กับบริบทนั้นเป็นเช่นไรเพื่อให้สอดคล้องกันทั้งความเป็นวิชาการ และมิละเลยถึงวิถีของผู้คนในพื้นที่จะต้องไม่ให้บอบช้ำ คุณครูย้ำเรื่องนี้ไว้น่าสนใจยิ่ง  "...พวกเรานักวิชาการเข้าไปแล้วพวกเราก็เดินกลับ  แต่คนในชุมชนเขายังต้องใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังต้องอยู่ด้วยกันต่อ"  ได้แต่บอกตนเอง... ทำไมหนอ  ช่วงเวลาที่คุณครูพาลงมือปฏิบัติทำไมเราคิดไม่ถึง และเชื่อมโยงเรื่องราวให้ได้เป็นเรื่องเป็นราวดุจดังบทเรียนที่คุณครูกำล้งย้อนรอยให้ทบทวนถึงบ้างนะ...

ครึ่งวันหลังทานข้าวกลางวันร่วมกัน  จำต้องขออำลาคุณครูด้วยภาระเร่งด่วนที่ต้องชำระต่อ  ก่อนออกจากห้องมีเสียงเปรยๆ สัพยอก จากคุณครูโสฬส ศิริไสย์  “เบื่อจัง  มาชะโงกดูแล้วก็ผ่านไป ...”

คุณครูครับ ก็คุณครูทั้งสอง “เสกปั้น” ศิษย์เพื่อให้ออกมาทำงานสาธารณะเช่นนี้  ศิษย์เลยถูกใช้งานเยอะ คร้าบบบ !!!!



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท