อนุทิน 114075


P. Rinchakorn
เขียนเมื่อ

“พฤติกรรมเศรษฐกิจ เมื่อหลักพระพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค หรือการวิภาคแบ่งปันกระจายรายได้อะไรก็ตาม ก็จะเริ่มต้นจากจุดยืนที่ตัวมนุษย์ว่า จะต้องมีความรู้จักประมาณก่อน ความรู้จักประมาณ หรือความรู้จักพอดีนี้ ทางพระเรียกว่า มัตตัญญุตา เช่นรู้จักพอดีในการบริโภคอาหารก็เป็น โภชเนมัตตัญญุตา

หลักการฝึกหรือพัฒนาคนในพระพุทธศาสนา เบื้องต้นพอมีคนเข้ามาบวชพระก็ต้องเริ่มทันที ให้มีโภชเนมัตตัญญุตา พระสมัยก่อนต้องท่อง ปฏิสังขา – โย ทุกองค์ แต่สมัยนี้ไม่ค่อยท่อง ปฏิสังขา – โย นั้นแปลว่า ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันภัตตาหาร ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงครองจีวร เป็นต้น สำหรับปัจจัยสี่แต่ละอย่าง สำหรับอาหารก็ให้พิจารณาว่า ที่เราบริโภคอาหารนี้ไม่ใช่มุ่งเพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อแสดงฐานะอวดโก้กัน ไม่ใช่เพื่อจะหาความสนุกสนานมัวเมา แต่เพื่อจะได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ร่างกายมีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก เมื่อเรามีร่างกายดี อยู่ผาสุกแล้วก็จะได้ไปทำกิจกรรมที่ดีงาม ทำหน้าที่การงานของตนด้วยดี

การพิจารณาอย่างนี้เป็นการฝึกให้มีปัญญารู้จักแยกแยะระหว่าง คุณค่าแท้กับคุณค่าเทียม เพราะเมื่อเราสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งบริโภค เช่น ปัจจัย ๔ ในลักษณะที่มองดูหรือมองหาคุณค่าแท้ โดยไม่หลงไปตามคุณค่าเทียมแล้ว พอเราจะบริโภคอะไร เราก็จะมองในแง่ที่จะหาหรือจับเอาคุณค่าแท้จากสิ่งนั้น ๆ ทันที เริ่มด้วยตั้งคำถามแก่ตนเองว่า นี่เรากินมันเพื่ออะไร เราใช้สิ่งนี้เพื่ออะไร เรื่องนี้มนุษย์ไม่ค่อยได้มอง ถ้ามองแล้วจะเห็นทันที เพราะฉะนั้นพระจึงสอนเบื้องแรกให้ปฏิสังขา-โย แปลว่า ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วจึงเสพปัจจัย ... โดยมองให้เห็นคุณค่าที่แท้ของมันว่าเราเสพหรือบริโภคเพื่ออะไร”

           จากหนังสือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า. ๑๙๘ – ๑๙๙.

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท