อนุทิน 114054


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๔๓. ชื่นชมและสนับสนุนประชาคมจังหวัดกาฬสินธุ์ในการเคลื่อนไหวเพื่อ 'มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์'

เห็นข่าวการเคลื่อนไหว ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศผ่านบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ของชาวกาฬสินธุ์โดยควบรวมมหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์เข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็เห็นความเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านด้วยแต่ไม่มีน้ำหนักมากเท่ากับเสียงของการสนับสนุน เหล่านี้แล้ว เกิดความน่าสนใจและน่าประทับใจหลายประการ คือ
    (๑) เป็นความเคลื่อนไหวที่ต่างจากกระแสสังคมอุดมศึกษาของประเทศอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่มุ่งแต่จะกระจายและก่อตั้งเพิ่มขึ้น กระทั่งเกิดมหาวิทยาลัยมากมายในประเทศ แต่การเคลื่อนไหวแนวคิดมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กลับนำเสนอแนวคิดยกระดับคุณภาพอุดมศึกษาด้วยการยุบรวมให้เหมาะสมกับภารกิจต่อพื้นถิ่น
    (๒) เป็นการเคลื่อนไหวมาจากระดับประชาคมจังหวัดแล้วนำเสนอสู่กลไกนโยบายระดับชาติ ซึ่งมีความหมายมากต่อการที่ได้เกิดการลุกขึ้นมาแสดงความเป็นเจ้าของการศึกษาของประชาชนและสังคมท้องถิ่น ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นในสังคมไทยบ่อยนัก ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดจากการริเริ่มของส่วนกลาง
    (๓) เกิดกระบวนการประชาพิจารณ์และการจัดเวทีเรียนรู้ในระดับจังหวัด ซึ่งทำให้ประเด็นการศึกษา เป็นประเด็นสาธารณะที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม สร้างความมีสำนึกร่วมต่อสังคม 
    (๔) แสดงถึงความมีจิตใจกว้างของชุมชนวิชาการและนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่ก้าวข้ามความติดยึดความเป็นสถาบันและองค์กรของตนเองอย่างคับแคบ ไปสู่ประเด็นความเป็นส่วนรวมในขอบเขตที่ใหญ่กว่า เป็นจิตวิญญาณของชุมชนทางปัญญาที่ต้องคารวะ
    (๕) เป็นการรวมจุดแข็งของสถาบันการศึกษาจาก ๒ สถาบัน ซึ่งมุ่งเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสนองตอบต่อความจำเป็นใหม่ๆของประเทศ มีความเป็นตัวของตัวเองเด่นชัดมากขึ้นของการจัดการอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับการกระจายโอกาสการพัฒนาในภูมิภาคที่ผนวกความเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎกับ มทร เข้าสู่การมียุทธศาสตร์ร่วมกันทางการศึกษา
    (๖) หากสำเร็จก็จะเป็นตัวแบบสำหรับได้อ้างอิงให้กับอีกหลายสถาบันการศึกษาในหลายพื้นที่ของประเทศที่ต้องการจะคิดพัฒนาการศึกษาให้ต่างไปจากสภาพที่เป็นไปตามกันอย่างทั่วๆไป และแม้จะยังไม่สำเร็จ ก็ก่อให้เกิดพลังความตื่นตัวของภาคการศึกษา ที่มีต่อการพัฒนาทางสังคมมากอย่างยิ่ง 
    (๗) เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการจัดการตนเองของประชาคมในพื้นที่ระดับจังหวัด ซึ่งเป็นเสมือนเตรียมศักยภาพทางสังคมของท้องถิ่นไปในตัว ในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ต้องการการมีส่วนร่วมของภาคสังคมมาก



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท