อนุทิน 113307


namsha
เขียนเมื่อ
          การประชุมชื่อยาวๆ ว่า “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองของผู้ป่วย สู่มิติใหม่ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ” เป็นแนวคิดของพี่ต้อยกับ อ.โกมาตร ที่จะเชิญชวน รพ.มาร่วมกันพัฒนาวิธีการรับฟังประสบการณ์ของผู้ป่วยซึ่งสามารถทำได้หลากหลาย ทั้งการใช้วิธีเชิงปริมาณและวิธีเชิงคุณภาพ การรับฟังประสบการณ์ของผู้ป่วยนั้นแตกต่างจากการรับรู้ความพึงพอใจซึ่งถูกทอนค่าประสบการณ์ออกมาเป็นตัวเลข และเป็นตัวเลขเฉพาะในส่วนที่ผู้ถามอยากจะรู้ แต่ประสบการณ์ของผู้ป่วยนั้นเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ผู้ป่วยอยากจะบอก เป็นเรื่องราวทั้งด้านบวกและด้านลบ มีรายละเอียด มีตัวละคร มีวิธีคิด มีความรู้สึก มีคำชื่นชม มีข้อเสนอแนะ...การประชุมเริ่มตั้งแต่เมื่อวันวานนี้ ช่วงเช้านี้เป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะร่วมกันวางแผนว่าจะกลับไปรับรู้ความต้องการ เสียงสะท้อน และประสบการณ์ของผู้ป่วยอย่างไร หลังจากที่ได้ดูวิดีโอเรื่องราวของผู้บริหารกิจการปลอมตัวเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานและรับฟังเสียงของพนักงานด้วยฐานะที่เท่าเทียมกัน และแนวทางการรับฟังเสียงของผู้ป่วยด้วยวิธีการต่างๆ...ผมได้มีโอกาสให้ข้อคิดเห็นแก่ผู้เข้าประชุมถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมที่กำลังจะทำกับมาตรฐานของ HA สามประเด็นคือ patient focus, patient engagement และ public report ซึ่งเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าและยากขึ้นเป็นลำดับ  ในเรื่องของ public report นั้น ข้อมูลจากการรับฟังประสบการณ์ของผู้ป่วยน่าจะนำมาเสนอต่อสาธารณะได้ง่ายกว่าข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เราเก็บกันอยู่ แต่จะสร้างสมดุลอย่างไรระหว่างความน่าเชื่อถือกับความรู้สึกเป็นเจ้าของเพื่อที่จะนำข้อมูลไปใช้ ในทางเลือกต่อไปนี้ (1) รพ.เก็บข้อมูลเอง (2) รพ.ขอให้หน่วยงานภายนอกในพื้นที่มาเก็บข้อมูลให้ (3) เป็นการเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานกลางในระดับประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปสู่การใช้ผลเพื่อทดแทนการเยี่ยมสำรวจในบางส่วน...เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ ผมเสนอให้ทำควบคู่กันระหว่างการพัฒนารูปแบบการรับฟัง กับการฝึกฝนการรับฟังในระดับบุคคล  คือขอให้ผู้เข้าประชุมแต่ละท่านจัดเวลาสักสัปดาห์ละสามวัน วันละ 15-30 นาที เพื่อฝึกฝนที่จะรับฟังผู้ป่วยที่ดูท่าแล้วสมควรมีเรื่องเล่าที่เราควรรับฟัง ทักษะการรับฟังของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาน้อยลง จนสามารถที่จะฝังเข้าไปอยู่ในงานประจำของเราได้ พอสัปดาห์ต่อมา เกิดมีความมั่นใจมากขึ้นแล้วก็ชวนเพื่อนร่วมกันมาร่วมรับฟังด้วยวันละคน คนไหนที่เห็นประโยชน์ก็ไปขยายผลต่อ ทำอย่างนี้จนกระจายไปให้เกิด critical mass ขึ้น ก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระบบบริการ เพราะเราได้ยินเสียงผู้ป่วยชัดเจนขึ้น
 
                     คัดลอกจาก www.facebook.com/anuwat.supachutikul
 
                    
 
 
 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท