อนุทิน 110515


marine
เขียนเมื่อ

Module 5: Quality Assurance (QA) in Health Care ณ โรงแรมโคราชรีสอร์ท นครราชสีมา 

สิ่งที่ได้จากการอบรม

QA:  ระบบการบริหารจัดการที่กำกับกระบวนการดำเนินงาน (การผลิต การบริการ) เพื่อให้เกิดความมั่นใจและรับรองได้ว่าผล/ผลลัพธ์จากการดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย และจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

ตัวอย่าง QA ในภาคธุรกิจ: การผลิตไก่แปรรูปเพื่อการส่งออกของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อีสาน จำกัด

บริษัทมีการดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ฟาร์ม โรงฟัก การขนส่งและโรงงานแปรรูป ทำให้สามารถควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนแบบเบ็ดเสร็จ มีการนำระบบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยหลายระบบมาใช้ เช่น GMP ระบบวิเคราะห์อันตรายและควบคุมจุดวิกฤต (HACCP) ระบบคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารของสหราชอาณาจักร (BRC) ระบบคุณภาพ ISO9100/22000 ที่สำคัญมีระบบตรวจสอบทวนกลับสายการผลิตและมีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ACP

QA ในระบบสาธารณสุข

Medical error: ข้อผิดพลาดทางการแพทย์ หรือผลเสียที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย อันเนื่องมาจากขั้นตอน หรือกระบวนการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากการลงมือกระทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือเกิดจากการละเว้นไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ รวมไปถึงความผิดพลาดจากเครื่องมืออุปกรณ์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของมนุษย์ สุดท้ายแล้ว Medical error ก็คือความผิดพลาดที่เกิดจาก Human error ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการทำ QA ในทางการแพทย์ก็คือการป้องกันการเกิด medical error โดยใช้กระบวนการสร้างระบบ/สร้างมาตรฐาน การตรวจสอบและการปรับปรุงนั่นเอง

ตัวอย่างการทำ QA ของ CUP เมืองย่า ที่เป็น CUP split แยกมาจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มาอยู่ภายใต้การดูแลของ สสอ. และ สสจ. ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่แตกต่างจากการดำเนินการปกติ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชฯ CUP เมืองย่าประกอบด้วย 4 CUP ย่อย ในการบริหารจัดการด้านคุณภาพบริการมีการส่งแพทย์ไปประจำในทุก CUP มีการจัดทำ CPG 9 โรคในเขตเมือง มีการใช้ Central Lab และเครือข่ายทันตกรรมเอกชน ส่วนด้านการบริหารนั้น สสอ.และ สสจ. แบ่งกันดูแลแห่งละ 2 CUP โดย สสจ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานเรื่องการเงิน

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างการทำ QA ของภาคเอกชนกับภาครัฐ (การบริการสาธารณสุข) คือ QA มีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ผลกำไรและโบนัสสำหรับพนักงานตอนสิ้นปีแต่ไม่ใช่ในภาครัฐ ดังนั้นการตระหนักในความสำคัญหรือแรงจูงใจจึงต่างกัน ภาคเอกชนมีการบรรจุพนักงานตามหน้าที่เฉพาะทำงานเพื่อผลกำไรสูงสุด แต่ในภาครัฐมักมีพนักงานตำแหน่งเดียวแต่หลายหน้าที่การวัดผลสำเร็จของการทำงานไม่ชัดเจน จึงถือว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐในการสร้างและคงไว้ซึ่งระบบคุณภาพที่อาจต้องมีการแข่งขันมากขึ้นในอนาคตเพราะการเปิดเสรีทางการค้า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท