อนุทิน 109819


krupound
เขียนเมื่อ

อ่านแล้วดี อย่างนี้ต้องคัดไว้

ทำอย่างไร..เมื่อลูกกลายเป็นเด็ก “ก้าวร้าว”..พ่อแม่อย่านิ่งนอนใจรีบแก้ไขก่อนบานปลาย


      “เถียงคำไม่ตกฟาก ขว้างปาสิ่งของ พูดจาหยาบคายไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย” นี่คือพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่เด็กแสดงออกมาถึงความก้าวร้าว และถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหายทางร่างกาย หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ

       โดยที่ พฤติกรรมก้าวร้าว ที่เด็กแสดงออกมาจะถือว่าเป็น “ปัญหา” ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตรวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน ครู หรือแม้แต่คนในสังคม

       เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พ.ญ.วันเพ็ญ ธุรกิตต์วัณณการ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้บอกถึงการกระทำของเด็กที่ก้าวร้าวไว้ว่า เด็กเล็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวจะเห็นได้จากการทำลายสิ่งของหรือทำร้ายตนเองเมื่อโกรธหรือถูกขัดใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟังคำสั่ง ตีน้อง ใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กในวัยเด็กเล็ก แต่ถ้าหากเราปล่อยปละละเลยโดยไม่สอนหรือฝึกทักษะให้เด็กรู้จักวิธีควบคุมอารมณ์และจัดการกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เด็กอาจกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เป็นพวกอันธพาล ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาสังคมในอนาคต

       ที่สำคัญ...ปัญหาเด็กก้าวร้าวในปัจจุบัน มีมากถึง ร้อยละ 29.6 จากเด็กที่อยู่ในกลุ่มสำรวจของกรมสุขภาพจิตได้จัดทำขึ้น โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,732 คน

       ความก้าวร้าว ชอบอาละวาด เกิดขึ้นได้ง่ายกับเด็กช่วงอายุ 2-5 ปี เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย

       แล้วคุณพ่อคุณแม่เคยทราบไหมว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกที่น่ารักของคุณกลายเป็นคนก้าวร้าวเพราะอะไร...วันนี้เราจะมาเฉลยให้คุณได้รู้กัน

       เริ่มจาก...สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะมีพ่อและแม่เป็นคนอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่คิดอยากจะมีลูกหรือมีลูกแล้ว ควรรู้จักที่จะระงับอารมณ์ของคนตนเองให้ได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลไปถึงลูกที่น่ารักของคุณ คำเตือน!!!...เมื่อไหรพบว่า เด็กแสดงความก้าวร้าวมากๆ และเป็นบ่อย ต้องระวังโรคที่จะเกิดตามมากับเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เด็กสมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือร้ายแรงขนาดเป็นโรคสมองพิการได้เลยทีเดียว

       ต่อมาเป็นปัญหาทางสภาพจิตใจของเด็ก เพราะว่าเมื่อไรที่เด็กไม่มีความสุข และมีอาการ เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย หรือมีปัญหาคับข้องใจในเรื่องต่างๆ บ่อย และถูกกดดันเสมอๆ จากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้

       แต่หลายๆ ครอบครัวก็มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัว เพราะพ่อแม่มัวแต่สนใจในเรื่องงาน เรื่องของตัวเองมากจนเกินไปจนลืมที่จะสนใจบุตรหลานของตนเองเอง จึงจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาดูแลทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลเพราะพี่เลี้ยงที่จ้างมาปล่อยปละละเลยไม่สนใจ บางครั้งก็มีการลงโทษที่รุนแรงจากพ่อแม่ หรือบ้านก็ตามใจเด็กมากจนเกินไปในทุกๆ เรื่องหากมีใครขัดใจก็จะแสดงก้าวร้าวออกมา โดยที่บางครั้งการแสดงความก้าวร้าวในเด็กนั้น ก็เกิดจากการที่พบเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันแล้วเด็กซึมซับพฤติกรรมนั้นเหล่านั้นมา

       ช้าก่อน...อย่าพึ่งคิดว่าปัญหาที่ทำให้เด็กก้าวร้าวนั้นมาจากครอบครัวเสียอย่างเดียวเท่านั้น สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้นเพราะเด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรงโดยที่ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อดูนานเข้าส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย

       ทั้งหมดนี้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้

       ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียง...ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว แต่แก้ไขด้วยการจัดให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ โดยจับมือรวบตัวเด็กเอาไว้ แล้วบอกสั้นๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา ในขณะเดียวกัน การพูดว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน” จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน

       หรือไม่ก็แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก นั้นก็คือเมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังไม่สามารถระงับอารมณ์ตัวเองได้ไม่หมด

       ฟัง!! พ่อแม่โปรดทราบ....สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุดนั้นก็คือไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้นผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน

       แต่หากต้องมีการลงโทษเด็ก...ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ แล้วก็ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง อย่างเช่น ถ้าเด็กทำร้ายข้าวของจนเลอะเทอะก็ให้เด็กเก็บกวาดการกระทำของตนเองให้เรียบร้อย เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กยับยั้งสติ คิดก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป

       สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ...การให้เด็กแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกให้เป็นเรื่องจำเป็น ควรให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อเขามีความคิดเห็นอย่างไรก็สามารถพูดออกมาได้อย่างอิสระ อีกทั้งพ่อแม่ต้องให้รางวัลเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ต่อไป โดยที่รางวัลอาจจะเป็นคำชมเชยเพื่อให้เด็กเกิดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นๆ อีก เป็นธรรมดาของเด็กทุกคนที่ต้องการได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น

       เด็กหากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสมจะกลายเป็นนิสัยติดตัว กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตได้ ฉะนั้นพ่อแม่ต้องมีเวลาสนใจลูกอีกสักนิด แล้วช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยของเด็ก เชื่อเถอะว่า....ลูกที่น่ารักของคุณคนเดิมต้องกลับมาอย่างแน่นอน

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=484838501532343&set=a.289556831060512.94882.289049341111261&type=1



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท