อนุทิน 109726


นาง จุฑามาศ ศรีวิลัย
เขียนเมื่อ

    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียน   ได้เห็นข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านในจังหวัดแพร่  เมื่อได้อ่านรายละเอียดในข่าวพบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของผู้เขียนเอง  กล่าวคือมีการขุดดินลูกรังบริเวณหมู่  บ้านมหาโพธิ์   ตำบลป่าแมต  อำเภอเมืองแพร่  จังหวัดแพร่  เพื่อนำดินไปสร้างถนนสายแพร่-อ.ลอง และบ่อดังกล่าวได้กลายเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ชาวบ้านใน อ.เมืองแพร่ และอำเภอใกล้เคียงที่ทราบข่าวบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ต่างพากันเดินทางมาจุดธูปขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนตักน้ำไปดื่ม ทา และอาบ เป็นยารักษาโรคได้สารพัด

    หลังจากมีข่าวแพร่สะพัดปรากฏมีผู้ที่ยืนยันว่าได้นำน้ำในบ่อดังกล่าวไปใช้แล้ว พบ ว่าหายจากโรคร้ายที่โรงพยาบาลรักษาไม่หาย เช่นโรคผิวหนังเรื้อรัง  ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามไปยังญาติพี่น้องซึ่งต่างก็บอกว่าได้นำน้ำดังกล่าวไปชโลมบริเวณหัวเข่าคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านที่เป็นโรคข้อเสื่อม  ทำให้อาการของโรคดีขึ้นและหายได้    ประชาชนที่สนใจต่างทยอยกันมาตักน้ำทั้งคนในหมู่บ้านและจากที่อื่น ชาวบ้านที่เดินทางมาตักน้ำต่างเชื่อว่าน้ำในบ่อที่เป็นยารักษาโรคได้เกิดจากอำนาจของผีที่เคยมีอิทธิฤทธิ์ในสมัยที่บริเวณนี้เป็นป่า คือ เจ้าพ่อจำแดง เป็นผีป่าที่รักษาห้วยจำแดง ในอดีตเป็นพื้นที่ที่น่ากลัว ซึ่งเมื่อผู้เขียนเป็นเด็กก็ไม่เคยไปบริเวณนั้น   เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าหากไปแล้วอาจทำให้เจ็บป่วยกลับมาได้  และหากใครที่เข้ามาในบริเวณดังกล่าวจะเกิดฟ้าฝนรุนแรงและบางครั้งก็จะเดินหลงในป่าจนไม่สามารถออกไปจากป่าได้ แต่ถ้ามีใครเจ็บป่วยมาเลี้ยงผีเจ้าพ่อจำแดงก็จะทำให้หายป่วยได้ เหตุการณ์ความน่ากลัวและความเชื่อในการรักษาโรคดังกล่าวเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมานานและขณะนี้ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อจำแดงออกมาแผลงฤทธิ์อีกครั้ง ให้เห็นถึงอำนาจลี้ลับของป่าโดยกลับมาช่วยเหลือคนให้หายจากอาการเจ็บป่วย ความเชื่อนี้มีมาแต่ช้านานแล้ว 

       ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูด้วยตัวเอง  พบว่ามีชาวบ้านในหมู่บ้านมหาโพธิ์ และหมู่บ้านใกล้เคียงพากันเดินทางมาเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อดังกล่าว น้ำบ่อที่ว่านี้มีความเย็น   น้ำมีสีเขียวใส  เมื่อสอบถามชาวบ้าน  ต่างบอกว่ามาเอาหลายครั้งแล้ว  เมื่อเอาไปอาบรู้สึกว่าจะหายปวดเมื่อยตามลำตัว หากเอามาลูบที่แผลที่เป็นผื่นคัน  แผลเหล่านั้นก็จะหาย  ผู้เขียนจึงเก็บข้อมูลต่างๆแล้วนำมาวิเคราะห์ตามทฤษฎีคติชน  สันนิษฐานว่า เกิดจากความเชื่อ  จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าทำไมถึงเชื่อว่าน้ำศักดิสิทธิ์จริง  ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เขาทำพิธีเข้าทรงมีเจ้าพ่อในป่าแห่งนี้แสดงอิทธิฤทธิ์มาโปรดชาวบ้านในช่วงเวลาหนึ่ง  แต่หลังจากนี้เจ้าพ่อองค์นี้จะไปโปรดชาวบ้านที่อื่นต่อไป  เรื่องความลี้ลับของป่าบริเวณดังกล่าวนั้น  ผู้เขียนเคยได้ฟังญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ชื่อยายจันฟอง  คล่องแคล่ว  ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว  เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กมักจะไปฟังท่านเล่าเรื่องอดีตต่างๆนาๆ  ถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับประวัติหมู่บ้าน  รวมทั้งบริเวณที่พบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย  และท่านเล่าให้ฟังว่าแต่เดิมหมู่บ้านมหาโพธิ์มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดคำกลิ้ง  ส่วนรายละเอียดอื่นๆนั้นผู้เขียนก็จำไม่ได้เสียแล้ว  ผู้เขียนจึงไปศึกษาประวัติของวัดมหาโพธิ์  จากหนังสือที่ระลึกพิธีอบรมสมโภชพระประธานและพุทธาภิเษก(๒๕๔๔) ซึ่งเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ได้จัดพิมพ์แจกจ่าย  พอผู้เขียนอ่านข่าวดังกล่าวจึงต้องนำหนังสือเล่มนี้มาอ่านประวัติอีกครั้ง

          ในประวัติกล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๓ ตรงกับศักราช๑๒๐๑ เป็นแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓  แห่ราชวงค์จักกรี  ณ เมืองโกศัย (แพร่) มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง  ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่สำเร็จญาณสมบัติชั้นสูง  มีนามว่า มหาเถร  หรือครูบาสูงเม่น ได้กลับจากการไปศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎกและวิปัสนากรรมฐานจากประเทศพม่า  การกลับจากประเทศพม่าของพระมหาเถรหรือครูบาสูงเม่นครั้งนี้  ท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนี้มาถวายแก่เจ้าผู้ครองเมืองโกศัย  ซึ่งมีพระนามว่า เจ้าหลวงอินทวิชัย  เจ้าผู้ครองนคร  เมื่อได้รับธาตุจากมหาเถรแล้ว  ก็ได้นำไปพระนคร  และได้เข้าเฝ้าพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งขณะนั้นทรงพระนามว่า  เจ้าฟ้ามงกุฎ  เพราะยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ   และได้กราบทูลเรื่องราวที่ได้พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์ธาตุจากพระมหาเถรให้ทรงทราบ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโกษทองคำที่บรรจุพระธาตุกลับคืนเมืองโกศัย  แล้วก็ได้ออกแสวงหาสถานที่สำหรับสร้างพระเจดีย์บีจุโกษพระธาตุแสวงหาอยู่หลายวัน 
ก็มาพอใจสถานที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำยม  อันอยู่ตรงข้ามกับตัวเมือง  เป็นป่าใหญ่ที่ร่มเย็น  มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านซึ่งเป็นสถานที่ที่มีลักษณะถูกต้องตามพระราชดำรัสของพระจอมเกล้าทุกประการ  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงมีคำสั่งให้ชาวบ้านหมู่หนึ่ง  ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างจากสถานที่ที่จะสร้างเจดีย์ประมาณ ๘๐๐ เมตร  
         ชาวบ้านหมู่นี้มีประชากรประมาณ ๑๐๐ คน  ได้ถูกเกณฑ์เข้าแผ้วถางตัดฟันป่าใหญ่ครั้งนี้ พอตัดฟันแผ้วถางไปจนถึงที่ที่จะสร้างเจดีย์  ชาวบ้านก็พบงูเหลือมตัวหนึ่ง  ซึ่งอาศัยดุจเจ้าของที่  ชาวบ้านหมู่นี้จึงพากันฆ่างูตัวนั้นและนำไปย่าง  การย่างงูตัวนั้นเหมืนกับการย่างหมูเพราะทันอุดมด้วยมันมากนัก  บางคนก็เอาไปแกงกิน  บางคนก็เอาไปยำ  พอพวกชาวบ้านกินเนื้องูเข้าไปก็พากันมึนเมาเหมือนเมาเหล้า แล้วก็พากันล้มตายด้วยการกินเนื้องูตัวนั้น  พวกที่รอดตายเพราะไม่ได้กินเนื้องู  ก็พากันกลัวว่าจะเกิดอุบาทว์  หรืออาเพศ  ก็พากันอพยพออกจากหมู่บ้านนั่น  ก็ทำให้หมู่บ้านนั้นกลายเป็นหมู่บ้านร้างไป  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงได้เกณฑ์ชาวบ้านหมู่อื่นเข้าแผ้วถางตัดฟันแทน  จนสถานที่นั้นโล่งเตียนเรียบราบงามดีแล้ว  เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็พาพระมเหสีองค์หลวง  มีชื่อว่า  แม่เจ้าสุพรรณวดี  สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุโกษขึ้น  โดยลงมือขุดองค์เจดีย์เมื่อวันอาทิตย์  เดือน ๔ เหนือ ออก ๘ ค่ำปีไก้(กุน) ศักราช ๑๒๐๑ ตรงกับพ.ศ. ๒๓๘๒    

          พอถึงวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ยามพระเจ้าตรัสรู เจ้าหลวงอินทะวิชัยก็ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์ธาตุนั้นซึ่งได้บรรจุไว้ในพานทองคำ  จำนาน ๑๑๖ องค์(เม็ด/ลูก)  แล้วได้นำเอาโกษทองคำบรรจุไว้ในโกษเงิน แล้วนำเอาโกษเงินบรรจุในโกษทองสัมฤทธิ์  แล้วได้นำเอาโกษทองสัมฤทธิ์ขึ้นตั้งบนหลังช้างซึ่งเจียระไนด้วยแก้วหิน  แล้วเอาช้างแก้วบรรจุโกษพระธาตุนี้ขึ้นใส่ในปราสาทไม้สัก ซึ่งมีความกว้าง ๓ ศอก ยาว ๑๐ ศอก แล้วเอาอิฐก่อเป็นเจดีย์ครอบแล้วหลูบด้วยทอง  จั๋งโก๋ ๑๐๐๕ แผ่น  แล้วลงรักปิดทองคำเปลว ๒ แสนใบ  แล้วล้อมองค์พระธาตุด้วยรั้วเหล็ก ๔ ด้าน มี ๓๖๔ เล่ม พอลุล่วงถึงศักราช๑๒๐๒  ตรงกับ พ.ศ.๒๓๘๓ ที่ทำการฉลอง  โดยเจ้าหลวงอินทะวิชัยได้ป่าวร้องบอกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วเมืองโกศัยมาร่วมทำการฉลอง เมื่อสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุเรียบร้อยแล้ว  ไม่มีชาวบ้านเอาใจปรนนิบัติพระเณร เพราะบริเวณรอบๆที่พระธาตุตั้งอยู่นั้นเป็นป่า  ไม่มีหมู่บ้านและชาวบ้านอาศัยอยู่  เจ้าหลวงอินทะวิชัยจึงได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านทุ่งโฮ้งจัดการเป็นเวรยาม  เจ้าหลวงอินทวิชัยได้มีการจัดงานให้มีการนมัสการพระธาตุทุกๆเดือน ๗ เหนือ ขึ้น ๑๕ ค่ำของทุกปี และครั้งใดที่เจ้าหลวงอินทะวิชัยได้จัดให้มีงานนมัสการพระธาตุก็ดี  ทำบุญใหญ่ๆก็ดี  ทอดกฐินหรือผ้าป่าก็ดี  ฝนจะตกหนักทุกคราว  ไม่ว่าจะเป็นฤดูใด   ยังความแปลกประหลาดมหัศจรรย์กับชาวเมืองโกศัยในสมัยนั้นมาก  พอสิ้นรัชกาลของเจ้าหลวง  อินทะวิชัยครองเมืองโกศัยแล้ว  การจัดเวรยามเฝ้าปฏิบัติรักษา  และงานขึ้นนมัสการพระธาตุก็สูญสิ้นไปตราบเท่าทุกวันนี้  และเมื่อวันที่  ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา พระอธิการ ดร.บุญเสริม  กิตตฺวัณณฺโณ ก็ได้ฟื้นฟูประเพณีดั้งเดิมของชาวบ้านมหาโพธิ์อีกครั้งโดยการจัดงานประจำปีไหว้สาพระธาตุคำกลิ้งขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ไม่มีใครสืบทอกประเพณีนี้มาตลอดหลายสิบปี ซึ่งผู้เขียนเป็นคนท้องถิ่นนี้  แต่ไม่เคยเห็นมีการจัดงานนี้เลย  

            จากการศึกษาประวัติศาสตร์ดังกล่าวพบว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ เนื่องจากใกล้บริเวณนั้นมีวัดร้างเก่าแก่ มีสถูปเจดีย์ เชื่อว่าแต่เดิมเคยเป็นชุมชนหนึ่งที่มีวัฒนธรรมมาช้านาน  และบริเวณใกล้เคียงห่างไปประมาณ สิบกว่ากิโลเมตรมีการค้นพบเมืองโบราณ คือเมืองเชียงชื่น  ซึ่งเมืองเก่าที่พบนี้น่าจะเป็นเมืองเชียงชื่นที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ที่กรมพระปรมานุชิต ชิโนรส  ได้ทรงพระนิพนธ์ลิลิตยวนพ่าย ที่กล่าวไว้ว่าเป็นเมืองหน้าด่านนั้น  เวียงเชียงชื่นหรือเมืองลอง  อาจจะเป็นที่เดียวกันนี้  จึงน่าเชื่อว่าอาณาบริเวณดังกล่าวเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน



ความเห็น (1)

คุณครูน่าจะเอาไปเขียนเป็นบันทึกดีกว่าในอนุทินนะคะ เพราะจะมีประโยชน์ในวงกว้างกว่าและง่ายต่อการค้นหาด้วยการให้คำสำคัญที่เหมาะสมน่ะค่ะ เรื่องราวน่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณที่ค้นหาข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท