อนุทิน 108975


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๙. ช่วยกันเป็นแรงสร้างพลังการเรียนรู้สิ่งดีและเผยแพร่ความริเริ่มสร้างสรรค์ในตนเองของสังคม

ในระยะที่ผ่านมา หน่วยหุ่นจำลองทางการแพทย์ งานโสตทัศนศึกษาและเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีคณะผู้ศึกษาดูงาน ที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ จากหลายแห่งของประเทศ ขอส่งบุคลากร ครูอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และคนทำงานด้านสื่อการเรียนรู้ ไปศึกษาดูงานทางด้านการทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ของคณะ ๒-๓ คณะจากกรุงเทพฯ พิษณุโลก และขอนแก่น ทางหน่วยงานและคณะผู้ต้อนรับการศึกษาดูงาน ได้เกิดความสนใจและสอบถามว่าทำไมจึงรู้จักและสามารถระบุได้ว่าจะดูงานเรื่องอะไรบ้าง ทางหน่วยงานของคณะผู้ศึกษาดูงานได้ให้รายละเอียดว่าได้อ่านจากบันทึก GotoKnow เลยรู้จักและเกิดความสนใจ ซึ่งเป็นบันทึกที่ผมนำมาเขียนถ่ายทอดและสื่อสารกับสังคมไว้ให้ ( เป็นเรื่องฝีมือการทำงานในหน่วยทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ขององอาจ ศิลปะ รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งที่เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมและนั่งคุย ผมก็มักจะนำเรื่องราวต่างๆมาบันทึกถ่ายทอดไว้ด้วย ดังตัวอย่างที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/466246 )

ในอดีตนั้น การเขียนเนื้อหาและทำสื่อด้วยเนื้อหาและมีภาพประกอบสวยงามอย่างที่ผมได้ทำเป็นบันทึกให้นี้ หากทำสื่ออย่างง่ายที่สุด เช่น แผ่นพับและสื่อสิ่งพิมพ์ ก็จะต้องใช้งบประมาณในการจัดทำไม่ต่ำกว่า ๓ - ๕ หมื่นบาท หากรวมกำลังคน การใช้เวลา ค่าจัดส่ง ค่ากระบวนการก่อนการผลิต และระบบจัดการหลังการผลิตต่างๆด้วยแล้ว ก็จะเป็นต้นทุนที่ต้องใช้มากกว่า ๑ แสนบาท เมื่อจัดทำและเผยแพร่ไปแล้วก็ไม่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก รวมทั้งจะส่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างจำกัด

ผมเคยศึกษาและวิเคราะห์จากข้อมูลต่อเนื่องรายปีในการออกหนังสือการจัดประชุมวิชาการต่างๆ พบว่า หากต้องการได้กลุ่มเป้าหมาย ๒-๓ ร้อยคนนั้น ก็จะต้องส่งจดหมายไปยังหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ ๒-๓ พันฉบับ ๒ รอบในระยะ ๒-๓ เดือนก่อนถึงงาน ดังนั้น การลงทุนทำสื่ออย่างนี้ ในครั้งหนึ่งๆ จึงได้ผลที่จะคาดหวังการตอบรับได้ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซนต์ของจำนวนที่ลงทุนทำและแพร่กระจายสู่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ชุมชน องค์กรสาธารณะ และหน่วยงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถมีสื่อที่ดีอย่างต่อเนื่อง และโดยรวมแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบข้อมูล ระบบจัดการความรู้ และการสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารเรียนรู้ของสังคมอ่อนแอ แม้ในสังคมโลกจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากมายมาช่วยแล้ว ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

การได้ทราบผลที่เกิดขึ้นอย่างนี้ แม้เพียงเล็กย้อย แต่ก็เป็นสัญญาณที่มีความหมายอย่างยิ่ง ผมเพียงแต่ทำให้การได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มีความหมายต่อการสร้างความรู้และการสร้างพลังการสื่อสารเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสให้สังคมได้เห็นสิ่งดีๆในตนเองมากยิ่งๆขึ้น โดยใช้กระบวนการเดินเข้าหากันเพื่อเรียนรู้ ถอดบทเรียน แล้วนำมาสื่อสาร บันทึก ถ่ายทอด ใช้วิธีการทางความรู้ทำงาน บนระบบที่ผู้คน ดังเช่น GotoKnow ก็ได้ช่วยกันสร้างให้กับสาธารณะ ก็สามารถลดต้นทุนและข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ดังในข้างต้น ที่ยากจะทำอย่างนี้ได้อย่างในอดีต ลงไป และสามารถทำให้หลายแห่งทั้งระดับบุคคคล หน่วยงาน และชุมชน ปรากฏสิ่งดีๆที่สังคมทั่วประเทศไทยและทั่วโลก จะสามารถรู้และเข้าถึงได้หลายรอบมากกว่าแผ่นพับซึ่งเผยแพร่ได้รอบเดียวอย่างเทียบกันไม่ได้



ความเห็น (5)

แต่อาจารย์ขา ขนาดชวนคนกลุ่มเล็ก ๆ ในโรงพยาบาลมาเขียนที่นี่ยังยากเลยนะคะ ฝ่าด่าน Facebook ไม่ได้

น้อง ๆ ชอบส่งภาพกันทาง FB ไม่ค่อยชอบเขียนกันน่ะค่ะ

ชื่นชมกับดอกผลของความเพียรครับอาจารย์ และหวังว่าจะเป็นแสงส่องทางให้กับผู้เดินตามรอย

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

ตรงที่คุณหมอว่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมชื่นชมคนที่พากเพียรเขียนบันทึกในบล๊อกและทำสื่อออนไลน์ ผมเคยชื่นชมอาจารย์ธนิตย์ แห่งโรงเรียนบ้านกร่าง พิษณุโลก และอีกหลายท่าน ที่บันทึกใน GotoKnow และนำเอาเรื่องราวต่างๆของที่ทำงาน รวมทั้งเรื่องราวของชุมชน คนรอบข้าง และกลุ่มเด็กๆนักเรียน มาบันทึก พร้อมกับได้ถ่ายทอดสื่อสารกับสังคมให้แพร่หลาย เรื่องอย่างนี้ เมื่อมองจากทั่วๆไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก

ในมุมมองผมนั้น คนที่เขียนบันทึกสื่อสารการทำงาน รวมทั้งนำเอาเรื่องราวต่างๆมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันใน GotoKnow และที่อื่นๆ ในแง่หนึ่ง ก็กำลังเป็นเครือข่ายสื่อ เครือข่ายสร้างข้อมูล ความรู้ และเครือข่ายเขียนสังคม ที่ทำให้ความเป็นจริงของสังคมมากมายปรากฏขึ้นมาให้เข้าถึงและสัมผัสได้ มากกว่าสภาพที่เคยเป็นมาในอดีต หน่วยงาน องค์กร ชุมชน และปัจเจก ที่แทบจะเป็นสุญญากาศในโลกของระบบความรู้และสื่อสารข้อมูลเพื่อให้สังคมได้อยู่ด้วยกัน ก็สามารถมีสื่อและช่องทางถ่ายทอดสื่อสารกับสังคมวงกว้าง นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะให้มีวัฒนธรรมความรู้ที่ทัดเทียมกับความซับซ้อนต่างๆ ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง

ขอบคุณครับคุณสุทธิพงศ์ พวกเราทางศิลปากรและมหิดล สุขสบายดีนะครับ
มีไฟและได้ทำสิ่งต่างๆที่อยากทำอยู่เสมอๆนะครับ คิดถึงทุกคนเลย

ขอบคุณคุณ ตัณฑุลาวัฒน์, คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา, อาจารย์หมอ ป. คุณสุทธิพงศ์ สภาพอัตถ์ และ อาจารย์ ดร.โอ๋-อโณ ครับ ที่ได้เข้ามาอ่าน ทักทาย ให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท