อนุทิน 108251


กชพงศ์ สารการ
เขียนเมื่อ

ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ ประสิทธิผลของโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (Effectiveness of a Transitional Care Program for

Persons with Schizophrenia)

ผู้เขียน นายกชพงศ์ สารการ พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2553 Email: [email protected]

คณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

รองศาสตราจารย์ ดร. ดาราวรรณ ต๊ะปินตา ประธานกรรมการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริรัตน์ ปานอุทัย กรรมการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไมเคิล จี เคเนดี กรรมการ

บทคัดย่อ

โรคจิตเภทเป็นการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่เรื้อรังและต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทควรมีความรู้และทักษะการจัดการตนเองเพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนเพื่อบรรเทาอาการทางจิตและส่งเสริมคุณภาพชีวิต การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภท กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่เป็นโรคจิตเภทที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 80 คน โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้าสู่กลุ่มทดลอง จำนวน 41 คนและกลุ่มควบคุม จำนวน 39 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งพัฒนาขึ้นโดยผู้วิจัยจากการผสมผสานแนวคิดการบำบัดทางการพยาบาลของ ชูมาเคอร์ และ เมลลิส (1994) และแนวคิดการดูแลในระยะเปลี่ยนผ่านของ แพรี่ และคณะ (2003) ส่วนกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ รวบรวมข้อมูลหลังเข้าร่วมโปรแกรมในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 โดยใช้เครื่องมือวัดได้แก่ แบบวัดความร่วมมือในการรับประทานยา แบบวัดกลุ่มอาการบวกและลบ ฉบับภาษาไทย แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย และแบบประเมินการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล แบบวัดทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงแล้ว และผู้วิจัยหาค่าความเชื่อมั่นในระดับที่ยอมรับได้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ

ผลการวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของความร่วมมือในการรับประทานยาและอาการทางจิตระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองในช่วงหลังการทดลองทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 อย่างไรก็ตามพบว่า ความร่วมมือในการรับประทานยาของทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 8 และลดลงในสัปดาห์ที่ 12 รวมทั้งอาการทางจิตในกลุ่มทดลองลดลงทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 แต่ในกลุ่มควบคุมลดลงในสัปดาห์ที่ 8 และเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 12 ส่วนคุณภาพชีวิตพบว่า คุณภาพชีวิตของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีความแตกต่างกันทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยคุณภาพชีวิตของกลุ่มทดลองสูงขึ้นทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 ขณะที่กลุ่มควบคุมลดลงทั้งในสัปดาห์ที่ 8 และสัปดาห์ที่ 12 สำหรับการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล พบว่า กลุ่มควบคุมมีจำนวนการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลสูงกว่ากลุ่มทดลองในสัปดาห์ที่ 12 แต่ในสัปดาห์ที่ 8 ไม่มีจำนวนการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของความร่วมมือในการรับประทานยาและอาการทางจิต แต่พบความแตกต่างของคุณภาพชีวิตในการศึกษาครั้งนี้ ดังนั้นควรมีการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่และมีการติดตามผลระยะนาน เพื่อตรวจสอบผลการวิจัยอีกครั้งและได้ผลการวิจัยที่นำไปสู่การอ้างอิงในประชากรกลุ่มนี้สำหรับการช่วยให้ก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลสู่บ้านต่อไป

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท