อนุทิน 104449


ชาญโชติ
เขียนเมื่อ

บทสัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีเมตตา พื้นฐานของผมไม่ได้เรียนเกษตร แต่พระองค์ทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร เพราะเป็นกิจกรรมที่พระองค์ทรงงานอยู่ ทรงสอนทุกอย่าง ให้เรารู้จักดิน น้ำ ลม ไฟ รู้จักธรรมชาติ รู้จักคน ซึ่งพระองค์ทรงสรุปให้ฟังในวันหนึ่งว่า ต้องเคารพภูมิสังคม ภูมิ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนสังคม คือ คน ซึ่งเป็นคนในมิติที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมของเขาด้วย พระองค์ทรงสอนให้เรารอบรู้หมดทุกอย่างในการทำงาน เช่น เวลาทำโครงการเราคิดแต่จะวางโครงการบนแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่เมื่อได้ถวายงานจึงได้รู้ว่า กิจกรรมหรือโครงการนี้จะต้องมีครบทุกมิติ แต่ก่อนเราดูแต่มิติกายภาพ ดูเป็นถนน เป็นสะพาน เป็นตึกอาคาร เราดูเพียงแค่นั้น แต่พระองค์ทรงสอนให้เห็นถึงมิติของคน หรือความจริงที่ว่า "คน" คือผู้ใช้ถนนเป็นสิ่งมีชีวิต คนใช้เขาพร้อมจะใช้หรือเปล่า การไปลาดยางถนนในขณะที่เขาใช้เกวียนเป็นพาหนะอยู่ ถ้าลาดยางแล้วเขาจะใช้หรือเปล่า เหมาะสมหรือไม่ เพราะฉะนั้น ทรงสอนให้มองมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน เวลาทำงานพัฒนาจึงต้องมองทุกมิติ ทุกอย่างต้องวางให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและสังคมที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ โครงการต่างๆ มีหลากหลายสาขา ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน เริ่มต้นจากการสร้างแหล่งน้ำ จากแหล่งน้ำก็ต้องมีอาชีพ เรื่องเกษตร ปศุสัตวเข้ามา หน้าที่หลักๆของ สำนักเลขานุการ กปร อีกประการหนึ่งคือ เป็นตัวกลางคอยประสานเพื่อให้งานลุล่วงด้วยดี ซึ่งจะทำให้ดีได้ต้องเข้าใจพระราชดำริอย่างแท้จริง พระองค์ทรงมีพระราชกระแสหรือพระราชดำริอะไรต้องจดให้หมด ดังนั้น ในการตามเสด็จฯ กลับมาแต่ละครั้งจะต้องทำรายงานว่าวันนี้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งอะไรบ้าง เป็นคัมภีร์ ใครจะมากล่าวอ้างเป็นอย่างอื่นไม่ได้ รวมทั้งต้องทำบันทึกให้ทีมงานนำไปประสาน ถ้าหากจำเป็นจะต้องตั้งเป็นคณะทำงานหรือเป็นกรรมการในระดับโครงการในพื้นที่ ก็ทำเป็นโครงการเล็กๆ และประสานการจัดสรรงบประมาณจนครบถ้วนกระบวนการตามพระราชดำริ บทสัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หน้าที่ประการต่อมาคือ ติดตามประมวลผลและถวายรายงานทุก ๓-๔ เดือน ต้องประมวล ติดตามผลกระทบเป็นอย่างไร ประชาชนเขาเปลี่ยนไปไหม รายได้เป็นอย่างไร สภาพแวดล้อม ป่า น้ำ ได้รับการฟื้นฟูไหม ต้องติดตามประมวลผลอย่างใกล้ชิด ทำเป็นระบบและทูลเกล้าฯถวาย จะทำแบบหละหลวมไม่ได้ เนื่องจากพระองค์ทรงติดตามเรื่องด้วยพระองค์เอง บางปีถัดมาเสด็จฯ ซ้ำในพื้นที่เดิม ในพระหัตถ์จะมีรายงานนั้นอยู่ จริงไม่จริงทรงรู้ โดยทรงตรวจติดตามความก้าวหน้าของโครงการอีกครั้งด้วยพระองค์เอง ตลอดจนพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการแก้ไขปัญหาของราษฎรเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ ใครๆ มักคิดว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไม่มีใครมาตรวจสอบ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราทำกันอย่างเข้มงวดมาก เพราะจะผิดพลาดไม่ได้ ต้องระมัดระวังเพิ่มอีกหลายเท่า เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ย่อมส่งผลต่อสถาบัน ต้องระวังทุกอย่างก้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กำชับให้หน่วยปฎิบัติห้ามอ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริ ต้องให้ประชาชนเขาทำด้วยความเต็มใจ ทุกโครงการต้องผ่านระบบราชการมีตรวจสอบไม่ได้มีอภิสิทธิ์อะไร จำได้ว่านำแบบฟอร์มให้คณะกรรมาธิการงบประมาณตรวจสอบ ซึ่งเขาเข้มงวดมากกับการติดตามประเมินผล เมื่อตรวจสอบแล้วคณะกรรมาธิการงบประมาณบอกว่า อยากให้การติดตามประเมินผลของสำนักงานเลขานุการ กปร เป็นต้นแบบให้กับหน่วยรายการทุกหน่วยดำเนินการตามนี้ด้วย นั้นคือ งานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงได้รับการเชื่อถือว่าทำอย่างรัดกุมรอบครอบที่สุด ไม่มีหน่วยราชการไหนจะทำละเอียดถี่ถ้วนทุกมิติเท่ากับที่สำนักงานเลขานุการ กปร.ทำ ทำให้ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้มาก ถือได้ว่างานประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานเริ่มต้น เหมือนกับอีกหลายหน่วยงานในประเทศที่แตกรากมาจากสภาพัฒน์ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท