อนุทิน 104420


ชาญโชติ
เขียนเมื่อ

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น ณ.ศาลาผกาภิรมย์ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ " ....คำว่า "พัฒนา" ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับ ตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข ฉะนั้น จึงเข้าใจได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ และความพอใจของแต่ละบุคคลในประเทศ...." "พระองค์ทรงรับสั่งว่า การแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานยาก การเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา เหมือนกับการเข้าสงครามแต่เป็นการทำสงครามที่ไม่ใช้อาวุธ เป็นการต่อสู้กับปัญหาเพื่อนำไปสู่ชัยชนะ โดยใช้กระบวนการพัฒนานำไปสู่ความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของชื่อ "มูลนิธิชัยพัฒนา" ... ...เพราะพระองค์ทรงรักแผ่นดิน ทรงรักประชาชน จึงทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างให้แผ่นดิน ให้ประชาชนมีความสุข" หมายเหตุ: สัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยคณะผู้บริหาร สศช และทีมงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเผยแพร่ในหนังสือ "พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขปวงประชา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นผู้ที่ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท โดยเมื่อครั้งปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) ได้รับผิดชอบเรื่องการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสำนักงาน กปร ท่านได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯคนแรกและในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ท่านได้กรุณาให้ผู้บริหารและทีมงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติเข้าพบเพื่อเรียนสัมภาษณ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ ณ.สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา แรกเริ่มเดิมทีผมรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกสั้นๆว่า สภาพัฒน์ ในตำแหน่งหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ และปฏิบัติภารกิจในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง ในเขตกองทัพภาคที่ ๑-๔ จึงทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสงานในพื้นที่ในเขตกองทัพภาคต่างๆ โดยทำหน้าที่เป็นเลขาของแม่ทัพภาคต่างๆ และแม่ทัพท่านหนึ่งที่ผมเคยไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขาอยู่นั้นคือ ฯพณฯพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้นท่านมียศเป็นพลโท ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ ๒ ก่อนหน้าปี ๒๕๒๔ นั้น ไม่มีองค์กรใดๆที่จะเป็นหน่วยงานประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชดำริ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับสนองพระราชดำริ จนบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อน หรืออาจจะไม่มีพระราชดำริก็ไปอ้างว่ามีพระราชดำริ ในชั่วงนั้น จึงเกิดความสับสนพอสมควร พลเอก เปรม ในฐานะที่ท่านเคยเป็นแม่ทัพซึ่งคุ้นเคยกับงานในพื้นที่รับรู้ และทราบว่ามีปัญหานี้อยู่ เมื่อท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงมีดำริที่จะจัดตั้งสำนักงานเพื่อถวายงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ดำเนินการไปอย่างราบรื่น ท่านจึงมอบหมายให้ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ในขณะนั้น ศึกษาและกำหนดว่าควรจะเป็นองค์กรรูปแบบใดและมีระบบงานอย่างไร กปร องค์กรระดับชาติ กลไกเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดร.เสนาะ ได้มอบหมายให้ผมศึกษา ด้วยสมมุติฐานง่ายว่า โครงการพระราชดำรินั้นส่วนมากอยู่ในเขตชนบทและแหล่งทุรกันดาร ซึ่งขณะนั้นผมรับผิดชอบงานพัฒนาชนบทอยู่ และบังเอิญอีกว่าผมมีประสบการณ์เรื่องการพัฒนาองค์กรความมั่นคง ผมจึงดำเนินการโดยยึดตามแนวระบบที่เคยดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรความมั่นคง คือออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการควบคุมดูแล โดยจะต้องมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานอันเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ เนื่องจากงานโครงการพระราชดำริมีลักษณะเหมือนการพัฒนาความมั่นคงที่ต้องการความฉับไว รวดเร็ว รวมทั้งได้ถอดแบบระบบบริหารการเงินมาด้วย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครใช้มาก่อนคือ งบลอย (Floating Fund) เป็นงบที่ตั้งไว้ก่อนเหมือนงบของการพัฒนาเพื่อความมั่นคง เมื่ออาจารย์เสนาะนำไปให้ พลเอก เปรม พิจารณา ท่านบอกว่าดีแล้วและให้พิจารณาหาตัวบุคคลมารับงานนี้ อาจารย์เสนาะ จึงเสนอชื่อผมและเริ่มจัดตั้งองค์กรขึ้นตาม "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ.๒๕๒๔" ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๔ กำหนดให้มีองค์กรระดับชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกว่า "คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เดิมเราคิดกันไว้ว่าจะใช้ชื่อคณะกรรมการโครงการตามพระราชดำริ ตามที่เราคุ้นเคยกัน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงและรับสั่งว่า ไม่ได้หรอก เป็นเผด็จการ พระเจ้าแผ่นดินจะมาสั่งอะไรต่อมิอะไรไม่ได้ หน้าที่เราคือต้องคิด เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หน่วยงานราชการสามารถทำได้เต็มที่ ซึ่งทรงแสดงความเป็นประชาธิปไตย และทรงเน้นย้ำในระยะต่อมาหลายครั้งหลายหนว่า "หน้าที่ของพระองค์ทรงเป็นที่ปรึกษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ กระทรวง ทบวง กรม พระองค์ไม่ทรงมีอำนาจอะไรที่จะมาสั่งงาน ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือประเทศชาติในฐานะที่ปรึกษา" เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งองค์กรในระบบราชการมาก็ดีแล้ว ก็ลองพิจารณาเห็นด้วยก็ทำ ผลสุดท้ายชื่อจึงกลายมาเป็น "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" แล้วทรงมีรับสั่งว่าต่อไปนี้ให้ใช้ชื่อในลักษณะนี้อย่างเดียว จึงได้มีการจัดตั้ง"คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) ขึ้นในปี ๒๕๒๔ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผมเป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่ดำเนินการควบคุม อำนวยการ กำกับ ดูแล ติดตามผลประสานการดำเนินงาน นอกจากนั้นเป็นหน่วยปฏิบัติทั้งหมด กรรมการได้แก่ ปลัดกระทรวงสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชดำริ โดยมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการ กปร) สังกัดสภาพัฒน์ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท