อนุทิน 103623


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๙๑. ระยะห่างและการรักษาความเชื่อมั่นงานทางวิชาการเชิงสังคมของการทำงานเชิงพื้นที่

ในแหล่งที่มีความขัดแย้งกันสูง และแหล่งที่มีขั้วทางสังคม ที่มีความแข่งขันและช่วงชิงการได้เปรียบกันหลายขั้ว รวมทั้งในสภาพที่อยู่ท่ามกลางความไม่นิ่งของสังคมและการเมืองนั้น การเดินเข้าไปทำงานเชิงพื้นที่ในหลายแห่งของประเทศทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่นของหลายภูมิภาค ได้ให้บทเรียนอย่างหนึ่งสำหรับการรักษากระบวนการทำงานในระยะยาวให้ดำเนินไปได้โดยได้รับความเชื่อถือและวางใจต่อกระบวนการทางวิชาการเป็นอย่างดีจากผู้คนหลากหลายกลุ่มในชุมชน ที่สำคัญคือ ในสภาพการณ์ดังที่กล่าวมานั้น ผู้คนจะหวาดระแวงว่าใครจะเป็นพวกใครและฝ่ายไหน และเมื่อมีส่วนร่วมในการทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆแล้ว จะเป็นอันตรายต่อตนเอง, จะถูกดึงไปเป็นพวก, หรือจะตกเป็นเป้าถูกจับตามองของใครอย่างไรหรือไม่ ทำให้ริเริ่มและเข้าถึงการทำงานเชิงลึกที่เป็นเรื่องชีวิตการเป็นอยู่ต่างๆของคนในพื้นที่ไม่ได้

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญไปด้วยอยู่ตลอดเวลาก็คือ การมีกระบวนการที่สามารถแสดงให้เห็นได้อยู่ในตนเอง ที่จะมีผลต่อการปกป้องประชาชน ปัจเจก และชุมชน ให้พ้นออกจากสถานการณ์ในระดับความขัดแย้งและแบ่งเป็นขั้ว จัดกระบวนการเรียนรู้ค้นหาความเป็นส่วนรวมที่มีความเป็นเรื่องของทุกคนในชีวิตประจำวันและในอนาคตที่ไกลกว่าความขัดแย้งเฉพาะหน้า ทั้งนี้ ก็เนื่องจากในพื้นที่ซึ่งผู้ทำงานมีเครือญาติและตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีกิจการ ตลอดจนมีการทำประโยชน์ต่างๆอยู่ในถิ่นนั้น จะสามารถตกเป็นเป้าหมายความหวาดระแวง ถูกบิดเบือนให้ความหมายการทำงานในพื้นที่ว่าเป็นการทำเพื่อสร้างฐานมวลชน สร้างพวกพ้อง สร้างผลประโยชน์เพื่อตนเองและทำลายโอกาสของผู้มีผลประโยชน์ที่แตกต่างฝ่ายอื่น ได้โดยง่าย คนทำงานจะต้องระมัดระวังในการรักษาระยะห่างและมุ่งการสนับสนุนเชิงวิชาการมากกว่าการปฏิสัมพันธ์ที่จะถูกให้ความหมายอย่างไม่สร้างสรรค์ได้อย่างง่ายดาย

ส่วนในพื้นที่การทำงานอื่นที่คนทำงานอยู่ในฐานะคนภายนอกพื้นที่หรือต่างถิ่น ก็ต้องหาโอกาสแสดงตนถึงความเป็นคนนอก ทำความเป็นคนนอกให้เป็นจุดแข็งโดยมุ่งทำงานอย่างทุ่มเทจริงใจ เพื่อให้เนื้องานและวิถีปฏิบัติต่างๆ ได้แสดงตนเองให้ชุมชนและคนอื่นๆเห็นได้ถึงการมีความลึกซึ้งต่อเรื่องราวต่างๆแบบคนที่อยู่ในชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้คนที่หวาดระแวงกัน มีความวางใจว่ากระบวนการทำงานของเรานั้นจะไม่เป็นขั้วการเมืองที่กำลังสร้างพวกพ้องและสั่งสมฐานการเมืองอีกพวกหนึ่ง เพราะมีความจริงใจต่อการปฏิบัติและเป็นคนนอกที่ไม่ได้มีขั้วผลประโยชน์อย่างที่คนอื่นเขาขัดแย้งกัน

ขณะเดียวกัน กระบวนการทำงานความรู้เชิงสังคมในพื้นที่และวิธีการทางวิชาการต่างๆ ก็จะได้ความเชื่อมั่น ผู้คนอุ่นใจ และถือเอาเป็นกลไกเพื่อการทำงานส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และก้าวข้ามผลประโยชน์ระดับการแบ่งขั้วกันได้

ดังนั้น วิธีหนึ่งที่ดีคือการมีหลักทำงานเชิงพื้นที่ให้ยืดหยุ่นเหมาะสมต่อเงื่อนไขอันแตกต่างกันในข้างต้น โดยในชุมชนอันเป็นถิ่นเกิดและถิ่นอาศัยของเรานั้น ต้องมุ่งรักษาระยะห่างและสร้างความวางใจให้หันเหออกจากความหวาดระแวง มุ่งไปสู่กระบวนการทางวิชาการให้เด่นชัดกว่าด้านอื่น ส่วนในถิ่นอื่นที่เราสามารถมีบทบาทในฐานะกลไกภายนอก ต้องทำในทางตรงข้าม โดยต้องมุ่งเข้าถึงอย่างทั่วถึงทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อได้ความมั่นใจว่าคนทำงานนั้นสามารถคิด มีความซาบซึ้งต่อความเป็นชุมชน และรู้สึกร่วมต่อสิ่งต่างๆได้อย่างคนในชุมชน สร้างความวางใจในความเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างและมีความเป็นสาธารณะสำหรับทุกคน

หลักการทำงานดังกล่าวนี้ เป็นหลักปฏิบัติที่ให้ความสำคัญต่อบริบทจำเพาะของชุมชนกับคนทำงานที่ผมได้บทเรียนจากพื้นที่หลายแห่งของประเทศเป็นครูในระยะกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา หลายแห่งที่ไม่ละเอียดอ่อนต่อธรรมชาติอย่างนี้ของสังคมไทย ก็มักปรากฏให้เห็นอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยว่าการทำงานเชิงพื้นที่กลายเป็นถูกดึงให้เข้าไปเป็นองค์ประกอบของปัญหาต่างๆเสียเอง ทำงานเชิงลึกและสร้างความสืบเนื่องในระยะยาวไม่ได้ รวมทั้งเครือข่ายคนทำงานมักตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ต่างๆได้อย่างง่ายดาย ทำให้สังคมเสียโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆ  อังคาร ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท