อนุทิน 102283


krunuch
เขียนเมื่อ

โลแกน และโลแกน ( เยาวพา เดชะคุปต์. 2528 : 40 ; อ้างอิงมาจาก Logan and Logan.1974:207) ได้แบ่งพัฒนาการทางภาษาออกเป็น 7 ขั้นดังนี้

1. ระยะเปะปะ อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ในระยะนี้เด็กจะเปล่งเสียงดังๆ ที่ยังไม่มีความหมายการเปล่งเสียงของเด็กเพื่อบอกความต้องการของเขา

2. ระยะแยกแยะ อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี เด็กจะเริ่มเข้าสู่ระยะที่สอง ซึ่งเด็กสามารถแยกแยะเสียงต่างๆที่เราได้ยิน แล้วเด็กจะรู้สึกพอใจที่ส่งเสียงถ้าเสียงใดที่เขาเปล่งออกมาได้รับการตอบสนองในทางบวก เขาก็จะเปล่งเสียงนั้นซ้ำอีก ในบางครั้งเด็กจะเลียนเสียงสูงๆต่ำๆที่มีคนพูดคุยกับเขา

3. ระยะเลียนแบบ อายุ 1-2 ปี ในระยะนี้เด็กจะเริ่มเลียนเสียงต่างๆที่เขาได้ยิน เช่นเสียงของพ่อแม่ ผู้ใหญ่ใกล้ชิด เสียงที่เปล่งออกมาอย่างไม่มีความหมายจะค่อยๆหายไป และเด็กจะเริ่มฟังเสียงที่ได้รับการตอบสนองซึ่งนับว่าพัฒนาการทางภาษาจะเริ่มต้นอย่างแท้จริงในระยะนี้

4. ระยะขยาย อายุ 2-4 ขวบ ในระยะนี้เด็กจะหัดพูด โดยเริ่มจากการหัดเรียกชื่อ คน สัตว์ และสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว เขาจะเริ่มเข้าใจถึงกาใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย ซึ่งเป็นการสื่อความหมายในโลกของผู้ใหญ่ การพูดของเด็กในระยะแรกๆจะเป็นการออกเสียงในคำนามต่างๆเป็นส่วนใหญ่ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ฯลฯ และคำคุณศัพท์ต่างๆที่เขาเห็น รู้สึก ได้ยิน

5. ระยะโครงสร้าง อายุ 4-5 ขวบ ในระยะนี้เด็กจะพัฒนาความสามารถในการรับรู้และการสังเกต เด็กจะเริ่มเล่นสนุกกับคำและรู้จักคิดคำและประโยคของตนเอง โดยอาศัยการผูกคำวลี และประโยคที่เขาได้ยินคนอื่นพูด เด็กจะเริ่มคิดกฎเกณฑ์ การประสมคำและหาความหมายของคำและวลี โดยเด็กจะเริ่มรู้สึกสนุกกับการเปล่งเสียงโดยเขาจะเล่นเป็นเกมกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว

6. ระยะตอบสนอง อายุ 5-6 ขวบ ในระยะนี้ความสามารถในการคิดและพัฒนาการทางภาษาของเด็กจะสูงขึ้น เขาจะเริ่มพัฒนาภาษาไปสู่ภาษาที่เป็นแบบแผนมากขึ้น และการใช้ภาษานั้นกับสิ่งต่างๆรอบตัว พัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยนี้จะเริ่มต้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นอนุบาล โดยเด็กจะเริ่มใช้ไวยากรณ์อย่างง่ายได้ รู้จักใช้คำเกี่ยวข้องกับบ้านและโรงเรียน ภาษาที่เด็กใช้ในการสื่อความหมายในระยะนี้จะเกิดจากสิ่งที่เขามองเห็นและรับรู้

7. ระยะสร้างสรรค์ อายุ 6 ปีขึ้นไป ในระยะนี้ได้แก่ระยะเด็กเริ่มเข้าสู่โรงเรียน เด็กจะเล่นสนุกกับคำ และหาวิธีสื่อความหมายด้วยตัวเลข เด็กในระยะนี้จะพัฒนา วิเคราะห์ และ สร้างสรรค์ ทักษะการสื่อความหมายโดยใช้ถ้อยคำสำนวนเปรียบเทียบ และภาษาที่พูดเป็นนามธรรมมากขึ้น และเขารู้สึกสนุกกับการแสดงความคิดเห็นโดยการพูดและการเขียน

 

     ส่วนหนึ่งของ รายงานการวิจัยในชั้นเรียน นายชาญประพน  สวัสดิ์เดช  ผู้วิจัยกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทยโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัด ฉะเชิงเทรา

 

 



ความเห็น (2)

น่าสนใจดีนะคะ และยิ่งดีมากที่ใส่ที่มาไว้ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่แนะนำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท