อนุทิน 101657


พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ..
เขียนเมื่อ

 วันนี้นึกถึงโคลงในลิลิตพระลอ

๐ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง .............. อันใด  พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร ................... ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหล ................... ลืมตื่น ฤาพี่

สองพี่คิดเองอ้า ........................ อย่าได้ถามเผือฯ

(ลิลิตพระลอ)

..คำนี้คล้ายจะเป็นคำพูดของพระเพื่อนพระแพงคนใดคนหนึ่งซึ่งพูดกับ นางรื่นนางโรย ว่าในแผ่นดินนี้ประชาชนเขาร่ำลือ เอ่ยอ้าง ยกย่องใคร สองท่านมัวหลับใหล จนลืมตื่น ลืมเงี่ยโสตฟังหรือ สองท่านจงตรองดูเองเถิด อย่าได้ถามฉันเลย, พอได้ฟังดังที่พระเพื่อนพระแพงว่า นางรื่นนางโรยก็ทราบได้ทันที ว่าที่แท้เขากล่าวชมถึงพระลอนั่นเอง  เมื่อทราบความอย่างนี้แล้ว นางรื่นนางโรยยังอาสาคิดหาวิธีจะให้พระลอมาเป็นคู่ของพระเพื่อนพระแพง และปลอบใจพระเพื่อนพระแพงว่า พระน้องอย่าได้เศร้าใจไปเลย ฉันจักหาวิธีให้พระลอมาเป็นคู่ของพระน้องนางทั้งสองให้ได้ ไม่ว่าวิธีการใดก็ตาม ใช้ทั้งเล่ห์ทั้งกล ดังสำนวนบ้านเราว่า" ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนตร์ก็เอาด้วยคาถา" ดังหลักฐานว่า

๐ สิ่งนี้น้องแก้วอย่า ............... โศกา นะแม่

เผือจักขออาสา .................... จุ่งได้

ฉันใดราชจักมา ....................  สมสู่ สองนา

จักสื่อสารถึงไท้ ................... หากรู้เป็นกลฯ

 

     การใช้คำพูดของคนสมัยก่อน มักจะเรียกคนผู้เป็นที่รัก เปรียบเหมือนกับสิ่งมีค่า อย่างที่นางรื่นนางโรยเรียกพระเพื่อนพระแพงว่า "น้องแก้ว" น้องแก้วก็คือน้องผู้ประเสริฐนั่นเอง นึกถึงคนอีสานบ้านเราแต่ก่อน มักจะเรียกลูกหลานของตนเองด้วยความรักความเอ็นดูว่า "บักหล่า บักคำ " หรือ "บักหล่าคำแพง" อะไรทำนองนี้ ทุกวันนี้คำเรียกแบบนี้คงไม่มีแล้ว 

      พอพระเพื่อนพระแพงได้ฟังดังนางรื่นนางโรยพูด ด้วยความเป็นกุลสตรี กลับนึกละอายที่ผู้หญิงจะเป็นสื่อชักผู้ชายมาบ้านเมืองของตน ทั้งๆที่เขาก็ไม่อยากมา ดังที่พูดกับนางรื่นนางโรยว่า การที่ผู้หญิงชักชวนชายก่อน เป็นสิ่งที่ผิดจารีตประเพณี จะได้รับความอับอาย (เจ็บเผือว่าแหนงตาย ดีกว่า ไสร้นา) ทนเจ็บเพราะพิษรักจนตายจะไม่ดีกว่าหรือ ที่จะทำสิ่งที่น่าละอายอย่างนั้น  อีกนัยะหนึ่งก็คือทนเจ็บอยู่เดียวดายไม่ได้แต่งงานจนตายจะไม่ดีกว่าหรือ ที่จะทำในสิ่งที่น่าละอาย เพราะคำว่า "แหนง" มีความหมายเป็นสองนัยะ นัยหนึ่งคือ หมาง,อีกนัยหนึ่งเป็นภาษาถิ่นใต้ คือเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้แต่งงานตลอดชีวิต เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดทางถิ่นเหนือ คงไม่ได้หมายถึงความหมายที่สองตามถิ่นใต้,น้องมีความรักพระลอก็จริง แต่พระลอก็หาได้รู้จักน้อง ดังหลักฐานว่า

๐ ความคิดผิดรีตได้ .......... ความอาย พี่เอย

หญิงสื่อชักชวนชาย .......... สู่เหย้า

เจ็บเผือว่าแหนงตาย .......... ดีกว่า ไสร้นา

เผือหากรักท้าวท้าว ............ไป่รู้จักเผือฯ

นางรื่นนางโรย บอกว่าไม่ต้องนึกอาย นึกว่าจะผิดหรอก นี่มันกุศโลบายให้คนมารักกัน ไม่ใช่เรื่องเหลือความคิดเลย และก็ไม่ผิด ดังหลักฐาน ว่า

๐ ไป่ห่อนเหลือคิดข้า ................. คิดผิด แม่นา

คิดสิ่งเป็นกลชิด ........................ ชอบแท้

ยังย้ำด้วยว่า "คิดสิ่งเป็นกลชิด ชอบแท้" หมายถึงที่คิดอุบายเช่นนี้เป็นอุบายให้คนมาชิดใกล้กัน เป็นคู่กัน (เชยชิด) เป็นสิ่งที่ชอบธรรมถูกต้องแล้ว. นางรื่นนางโรยนี่ก็หวังดีกับเจ้านายตนเองดีแท้ ..ที่นี้ก็เป็นธุระหาแม่มดหมอผีที่เก่งกล้าศักสิทธิ์ มาทำพิธีดลใจพระลอ ถ้าปัจจุบันนี้ก็คงจะเรียกว่า ทำคุณไสย หรือ ใส่ของ พระลอถูกกระทำแล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ กระวนกระวายใจ

ฝ่ายพระเพื่อนพระแพง ต่างก็ได้ยินคนเขากล่าวร่ำลือถึงพระลอบ่อยๆ โดยพรรณนาความหล่อความงามให้ฟัง​ทุกเช้าค่ำ จิตใจก็อ่อนไหว จินตนาการถึงภาพพระลอ จนก่อเกิดเป็นความรัก รักทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ด้วยอำนาจแห่งความรักครอบงำ และทนต่อคำแนะนำของพี่เลี้ยงผู้หวังดีไม่ไหว หนักเข้า ถึงกับยอมโอนอ่อนผ่อนตาม อนุญาตให้นางรื่นนางโรยสองพี่เลี้ยง ใช้ให้หมอทำไสยศาสตร์ ไปดลจิตดลใจให้พระลอมาหาตนทั้งสอง จนเป็นโศกนาฏกรรมแห่งความรัก, ..ซึ่งเรื่องรักใคร่ชอบพอกัน ทั้งๆ ไม่เคยเห็นหน้ากันนี้ ไม่ใช่จะมีแต่สมัยอยุธยา (สมัยที่แต่งเรื่องพระลอ) สมัยพระพุทธเจ้าก็เคยมีเช่นกัน แต่เป็นความรักชอบพอกันระหว่างสหาย คือต่างคนก็ต่างนับถือน้ำใจกัน ทั้งๆที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน และก็ส่งคนไปมาหาสู่กัน ท่านเรียกสหายหรือเพื่อนชนิดนี้ว่า "อทิฏฐปุพพสหาย" คือสหายผู้ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน โคลงบทนี้ถือว่าเป็นบทชมความงาม​ตามรสแห่งวรรณคดีไทย ท่านเรียกว่า เสาวรจนี (ย์) และยังถือว่าเป็นโคลงต้นแบบในการแต่งโคลงสี่สุภาพอีกด้วย เพราะมีเอก-โท ถูกต้องตามผัง มีการสัมผัสอักษรระหว่างวรรคหน้ากับวรรคหลัง ซึ่งผู้เรียนเรื่องร้อยกรองต้องท่องให้ขึ้นใจ เพื่อนำมาเป็นบทครู ในการฝึกแต่ง ลิลิตพระลอนี้ได้รับอิทธิพลทางพระพุทธศาสนามาเยอะมาก ดังโคลงบทหนึ่ง ที่ปัจจุบันนิยมนำมาอ่านกันมากในงานศพ เพื่อเป็นบทเกริ่น เป็นบทเตือนสติ เตือนใจ  ว่า

๐สิ่งใดในโลกล้วน .............. อนิจจัง

คงแต่บาปบุญยัง ................ เที่ยงแท้

คือเงาติดตัวตรัง ................. ตรึงแน่น อยู่นา

ตามแต่บาปบุญแล้ .............. ก่อเกื้อรักษาฯ

      แต่พิธีกรไม่เข้าใจ มาแปลงของเขาใหม่ หรือต้นฉบับผิดเพี้ยนไป ว่า...

๐ ใดใดในโลกล้วน.............. อนิจจัง

    แต่ในแง่ของความหมาย ก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก เหมือนกันโดยอรรถ ต่างกันโดยพยัญชนะ ในเมื่อเอาของเขามาก็อย่าไปแปลง​ของเขา ควรให้เกียรติเขาบ้าง โคลงนี้บอกชัดเจนถึงคำสอนในพระพ​ุทธศาสนา แม้คำว่า "อนิจจัง" นำมาแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงเสียงเลย เปลี่ยนเพียงแค่รูป ความหมายเหมือนเดิม แสดงว่าพระพุทธศาสนาในยุคนี้เจร​ิญมาก เจริญจนมีอิทธิพลต่อวรรณคดี,

พระมหาวินัย ๑๙.๒๘ น. : ๒๙ พ.ย. ๕๔



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท