อนุทิน 101454


พระมหาวินัย ภูริปญฺโญ ..
เขียนเมื่อ

     วันนี้  (๒๔ พ.ย. ๒๕๕๔)  เวลาเที่ยงเดินทางจากวัดไปร้อยเอ็ด โดยขึ้นรถที่เสลภูมิ บนรถเขาฉายหนังเรื่องปัญญา เรณู ตอนที่ขึ้นไปนั้น เขาฉายไปได้หนึ่งแผ่นแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าดี เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของความเป็นอีสาน ที่มีความผูกพันอยู่กับวัด บ้าน,วัด,โรงเรียน, ตอนที่ดูนั้น เขาฉายถึงตอนที่ครูเรียก นร.มาประชุมกัน เพื่อแจ้งว่า เครื่องดนตรี ของโรงเรียนเราชำรุด เรื่องการไปแข่งขัน คงจะต้องหยุดลง เพราะไม่มีเครื่องดนตรี นร.แต่ละคนก็อาสาจะหาเครื่องดนตรีใหม่มาให้โรงเรียนของตน ในที่ชุมนุมนั้น ก็มีปัญญา-เรณู สองคนรวมอยู่ด้วย และคิดถึงปัญหานี้เช่นกัน จึงตกลงไปยืมปัจจัยกับหลวงพ่อที่วัด ตอนนั้นหลวงพ่อก็ยังไม่มีปัจจัยให้ยืม แต่มีความกรุณา อยากจะช่วย อยากสนับสนุน เมื่อรับทราบว่าจะเอาเงินไปทำอะไร พอมีคนเอาเงินมาทำบุญแล้ว หลวงพ่อก็เลยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาให้ปัญญา เพื่อนำไปใช้ในการซื้อเครื่องดนตรี

 

     จากกรณีนี้แสดงว่าวัดมีความผูกพันกับชุมชนมาก เมื่อมีปัญหาอะไร คนในชนบทอีสานก็มักจะนึกถึงวัด วัดไม่ได้เป็นที่พึ่งเฉพาะทางใจอย่างเดียว ยังเป็นที่พึ่งทางกายอีกด้วย ยังสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน-ชุมชนอีกด้วย เรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงครั้งพระพุทธเจ้าที่มีรับสั่งให้พระอานนท์ทำจีวร ให้เหมือนกับคันนาของชาวมคธ ด้วยทรงเห็นคุณค่าของการทำนา และสนับสนุนการทำนา ,

 

     เมื่อได้รับเงินมาแล้ว ทางโรงเรียนก็จัดหาเครื่องดนตรี หาครูสอนเต้น เพื่อฝึกซ้อม, ครูได้มอบหมายให้ปัญญา และเรณู เป็นนักร้องนำของวง โดยที่เด็กคนอื่นก็อยากจะเป็นนักร้องนำเช่นกัน เมื่อไม่ได้เป็นต่างก็ผิดหวัง เสียใจ ไม่มีใจอยากซ้อมกับเพื่อน ปัญญาจึงไปพูดทำความเข้าใจกับเพื่อนว่า “ไม่ได้มีความเกลียดชังอะไรกับเพื่อนหรอก เพื่อวงของเรา เรามาซ้อมกัน, ผลปรากฏว่า เด็ก นร.กลุ่มนั้นก็ยินดีซ้อมทุกคน เพื่อวงของโรงเรียนตนเอง, จากกรณีนี้ เห็นได้ข้อคิดว่า เรื่องเล็กๆ บางเรื่อง ของคนหลายๆ คน ถ้ามีความบาดหมาง น้อยใจ เสียใจ เกิดขึ้น ในหมู่คณะนั้น ก็จะผ่านพ้นไปด้วยการพูดจา การทำความเข้าใจ มองเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าความรู้สึกส่วนตัว แม้เขาเหล่านั้นจะเป็นเด็กก็จริง แต่ก็เป็นเด็กที่มีเหตุผล ไม่เอาแต่ใจตน ผลแห่งความสามัคคี หมั่นซ้อม พร้อมเพรียงกันซ้อม พร้อมใจกัน ทำให้ชนะการแข่งขัน ทุกคนก็มีความสุข นี่แล ที่ท่านว่า ความสามัคคีนำมาซึ่งความสุข,

 

     นั่งรถไป พอดีรถทัวร์คันนั้นก๊าชจะหมด เขาก็เลย แวะเติมก๊าชที่ปั๊มรอบเมือง คนขับรถแจ้งให้ผู้โดยสารทราบว่า   “รถจะจอดเติมก๊าช สักพัก ขอให้ผู้โดยสารลงจากรถก่อน”   ต่างก็ทยอยกันลงกันหมด ก็เหลือพระหลวงตาอีกรูปและตัวเราที่ไม่ลง เมื่อเวลาว่างๆ นั่งอยู่บนรถ แอร์ก็ไม่เปิด เพราะเขาดับเครื่อง เติมก๊าช ก็เลยเอาหนังสือจากย่ามขึ้นมาอ่าน รอเวลา หนังสือวรรณคดีสมัยอยุธยา รวบรวมโดย สันต์ สุวทันพรกุล และ ภัทรเศรษฐ์ แพงแสน ก็อ่านคำนำของหนังสือ แต่คำนำก็บรรจุไว้ซึ่งความสำคัญของวรรณคดี เขาบอกว่า   “วรรณคดีเป็นศิลปะอันล้ำค่าแขนงหนึ่งของชาติ แสดงถึงความรู้ ความคิดของผู้เขียน โดยถ่ายทอดออกมาเป็นรูปตัวอักษรในรูปแบบต่างๆ วรรณคดีถือว่าเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนภาพของประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น สังคม วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ”   จากนั้นก็อ่านเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา มีกษัตริย์กี่พระองค์ ราชวงศ์ไหนบ้าง แต่ละพระองค์มีพระนามว่าอย่างไร การแบ่งวรรณคดีในสมัยนี้ก็แบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ สมัยอยุธยาตอนต้น ตอนกลาง ตอนปลาย โดยการแบ่งแบบนี้ถือตามแนวของศาสตราจารย์กุหลาบ มัลลิกะมาส ก็อ่านไปช่วงต้นสมัยกษัตริย์องค์นี้ถึงองค์นั้น มีวรรณดีเรื่องนั้นๆ ก็พอดีก๊าชเต็ม รถจะออก ผู้คนก็ทยอยกันขึ้นมา ก็เลยหยุดอ่าน ถึงที่หมายก็ประมาณ บ่ายกว่า ๆ เดาเอาเอง เพราะไม่มีนาฬิกา โทรศัพท์ก็ไม่มี ตอนกลับจากร้อยเอ็ด ก็นึกถึงโคลงสุภาษิตของรัชกาลที่ ๖ ว่า

๐ ฝูงชนกำเนิดคล้าย ...................... คลึงกัน

ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ .................... แผกบ้าง

ความรู้อาจเรียนทัน ........................ กันหมด

ยกแต่ดีชั่วกระด้าง ........................... อ่อนแก้ฤาไหวฯ

 

     ก็พิจารณาถึงความหมายของโคลงบทนี้ ก็พอเข้าใจความหมายว่าคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีบางสิ่งที่คล้ายกัน แต่ก็มีบางสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น ใหญ่ เล็ก เพศ ผิวพรรณ ความรู้เป็นสิ่งที่เรียนทันกันได้ แต่ในบาทสุดท้าย บอกว่า   “ยกแต่ดีชั่วกระด้าง ..... อ่อนแก้ฤาไหว”   ความหมายในบาทนี้ คือยกเว้นไว้แต่ความดีชั่ว แข็งกระด้าง อ่อนโยน ที่แก้ไม่ได้, หรือสุดที่จะแก้ เพราะคำว่า   “ฤา”   ในที่นี้ บางทีก็แปลว่า ไม่ บางทีก็แปลว่าหรือ ในประสงค์ของพระองค์ท่านไม่ทราบว่าจะหมายถึงไม่ หรือหมายถึงหรือ คำว่า “ฤา” เป็นคำโบราณ ใช้ในบทร้อยกรอง อย่างในโคลงก็ใช้เป็นคำสร้อย คำว่า   “คำสร้อย”   ก็คล้ายๆ กับนิบาต ในภาษาบาลี อย่างในภาษาบาลีเวลาแต่งฉันท์ ก็เติมนิบาตลงไป เพื่อเป็นเครื่องยังบทให้เต็ม ในโคลงก็เหมือนนกัน สร้อยมีไว้เพื่อเป็นเครื่องยังบทให้เต็ม เมื่อความยังไม่สิ้นกระแส เกินไปหนึ่งพยางค์ก็เติมสร้อยใส่ เลือกคำสร้อยตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับเรื่องที่แต่ง รถโดยสารมาถึงป้อมตำรวจท่าแสบง มีมุมหนึ่งเป็นมุมส่งเสริมการรักการอ่าน เห็นเขาเขียนโคลงสี่สุภาพติดไว้ว่า

 

     ๐ ไปโรงเรียนมุ่งสร้าง .................. ปัญญา

ไปตลาดเพื่อหา ............................. กับข้าว

ไปพบแพทย์ปรึกษา ....................... การป่วย

ไปทั่วแคว้นแดนด้าว ..................... สุดท้ายไปสวรรค์ฯ

 

      อ่านดูรอบเดียว เพราะรถจอดไม่นาน แค่ให้ผู้โดยสารลง แล้วรถก็ออก แต่ก็ไม่ยากต่อการจำ เพราะมีความคุ้นเคยกับโคลงสี่สุภาพดี ก็เลยจำได้ แต่ไม่เห็นนามผู้แต่ง โคลงก็มีความหมายดี คงจะเป็นท่านผู้ใดผู้หนึ่งได้แต่งเอาไว้ ก็เลยกำหนดจำเอา ไว้เป็นคติสอนตน สอนนักเรียนในโอกาสต่อไป.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท