สุนทรียสนทนา


ตอนการเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กกับเพื่อนใหม่

          สวัสดีค่ะสมาชิก "GoToKnow ทุกท่าน  วันนี้น้องใหม่จากเมืองเหนือมีเรื่องมาเล่าให้ฟังตามที่ได้บอกไว้ในฉบับที่ 1 ค่ะ  ฉบับนี้จะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง Dialogue  หรือหากแปลเป็นภาษาไทยอาจแปลได้มากมายหลากหลายคำ  แต่ในที่นี้ของแปลเป็นคำว่า "สุนทรียสนทนา"  เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน

          สุนทรียสนทนา เป็นกระบวนการสนทนาที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการพูดคุย มีปรัชญาและระบบคุณค่าที่แฝงฝัน ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม "หันหน้าเข้าหากัน" ผ่อนปรน ตลอดจนเยียวยาความขัดแย้ง ศักยภาพสูงสุดก็คือการคิดสืบค้นร่วมกัน และเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมองค์กรที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่อาจพลิกผันแปรเปลี่ยนในสังคมเคลื่อนเร็วอย่างโลกาภิวัฒน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน  (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู : 2548)    

          มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ได้นำกระบวนการสุนทรียสนทนามาเป็นโครงการหนึ่งในการจัดการความรู้  เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความเข้าใจตนเองในระดับที่สูงขึ้น เข้าใจองค์กรการทำงานและเข้าใจสังคม เปิดมิติและทัศนะใหม่ในการเชื่อมโยง การมองโลก การทำงานอย่างมีเป้าหมาย และมีความสุขในสภาวะปัจจุบัน  โดยเราได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และทีมงานสถาบันขวัญเมือง  เป็นผู้ดำเนินการจัดกระบวนการสุนทรียสนทนา  ซึ่งกิจกรรมแรกที่นำเข้าสู่กระบวนการคือ      

          การฝึกฟังโดยการเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กกับเพื่อนใหม่  ซึ่งมีรูปแบบของกิจกรรมคือ (จะขอเล่าในฐานะของผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ะ)  ให้ผู้เข้าร่วมทุกคน 1) นอนหลับตา และให้นึกย้อนถึงตัวเองในวัยเยาว์ ผ่านอะไรมาบ้าง ประสบความสำเร็จอะไรบ้าง หรือมีความเป็นมาอย่างไร  อะไรที่เราคิดถึงมากที่สุดในชีวิตวัยเยาว์  โดยผู้ดำเนินรายการจะเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีอารมณ์คล้อยตาม ซึ่งตรงนี้เราเห็นว่าเป็นการผ่อนคลายมาก ๆ ๆ และสามารถส่งอารมณ์ร่วมกับกิจกรรมได้มาก ๆ ๆ  แต่ที่เห็นนะคะ บางคนก็แอบนอนหลับไปเลยก็มีจากนั้น 2) ให้ผู้เข้าร่วมทุกคนจับคู่โดยความบังเอิญ และให้ผลัดกันเล่าเรื่องของตนเองในวัยเด็กให้กับคู่ของเราฟัง โดยให้คนที่เป็นผู้ฟังจะต้องฟัง(ห้ามพูด)อย่างเดียว ฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข  และผลัดกันพูดในสิ่งที่เราฟัง โดยให้ผู้ฟังบอกว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นข้อความหรือเรื่องเล่าขาดตกบกพร่องอย่างไรบ้าง  3) หลังจากนั้นก็ให้จับกลุ่ม 3 คน และหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ เพื่อเล่ากิจกรรมตามข้อ (2) มาถึงตรงนี้เห็นบรรยากาศของการเล่าเรื่องแล้วทำให้คิดว่าคนเรานั้นแตกต่างกันมาก ทั้งด้านความเป็นอยู่ ความคิด สติปัญญา และ อื่น ๆ  ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนเล่าเรื่องของตนเองไปด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส  มีความสุข  บางคนร้องไห้กับชีวิตของตนเอง  บางคนเฉย ๆ ๆ กับชีวิตที่ผ่านมา  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนได้รับรู้เหมือนกันคือ การรับฟังคนอื่นพูดโดยที่เราไม่โต้แย้งเขาในขณะนั้น รอฟังให้เขาพูดจนจบกระบวนความ หรือจบเรื่องเล่า  ทำให้เราได้รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเหมือนกับตัวเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย หรือที่เรียกว่า "การฟังโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด  และทุกคนเห็นฟ้องต้องกันว่าสามารถนำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน ชีวิตทำงาน และกับครอบครัว และคาดว่าจะต้องมีสิ่งดีดีตามมาอีกแน่นอน      

          เป็นอย่างไรบ้างค่ะ กับผู้เล่าเรื่อง (หัดเล่าใหม่) หวังว่าคงจะทำให้ทุกท่านได้รับรู้คุณค่าในกิจกรรมบ้าง และหากเล่าขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ต้องขอโทษด้วย  สำหรับฉบับต่อไป จะเล่าถึง สุนทรียสนทนา ตอน ผู้นำสี่ทิศ   แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ ...... สวัสดีค่ะ 

คำสำคัญ (Tags): #สุนทรียสนทนา
หมายเลขบันทึก: 44564เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท