คำแนะนำกว้าง ๆ สำหรับการหัดลง Ubuntu


ผมลองหัดใช้ Linux Ubuntu แล้วรู้สึกว่า เป็นระบบปฎิบัติการที่น่าสนใจและมีดีหลายอย่าง แต่จุดอ่อนเองก็มีไม่น้อย คิดว่า เล่าสู่กันฟังในฐานะมือใหม่ก็คงไม่เลว ตั้งใจจะไม่ลงลึก เน้นประเด็นทั่วไป โดยเฉพาะปัญหาหญ้าปากคอกที่ตัวเองเสียเวลามาก ๆ มาก่อน

 

จุดอ่อนของระบบนี้

  • ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้ หลายคำสั่ง ต้องรู้ลูกเล่นเอง เทียบแล้วก็เหมือนสมัย Windows 3.11 นั่นแหละ ผู้ใช้ต้องเข้าไปแทรกแซงหยุมหยิมเยอะพอสมควร (เอ่อ...ใครเกิดไม่ทันก็ขออภัยด้วยนะคร๊าบ ไม่ใช่ความผิดผม)
  • เครื่องมือจัดการ disk ที่เราคุ้นหลายอย่างใน Windows จะไม่มี เช่น defragment (เขาให้เหตุผลว่า เก็บแฟ้มแบบไม่มี fragment อยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะ defrag ไปทำไม), scandisk (เอ๊ะ หรือมี แต่ผมหาไม่เจอ)
  • โปรแกรมโคลน disk ยังประพฤติตัวน่าหวาดเสียว อาจไปแว้งเข้ากับระบบ boot ของฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Ubuntu ได้ (โดนมาเองแล้วครับ)
  • ยังทำงานกับแฟ้มใน USB ตัวอื่น (ที่ไม่ใช่ตัว boot) ได้ไม่ค่อยดี มี failure rate ที่สูงกว่า (สรุปจากประสบการณ์ส่วนตัว) เช่น เสียบแล้วมองไม่เห็น หรือ copy ไม่ทันเสร็จก็มองไม่เห็น
  • ระบบ folder ชวนให้เมา เพราะไม่ได้ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ ไม่ได้ตั้งเป็น A:, B:, C:, ... แต่พอเริ่มชิน ก็ไม่มีปัญหา
  • มีปัญหากับ notebook ง่าย โดยเฉพาะ notebook ที่ผ่านการแก้ bios มาแล้ว จะเพี้ยน ๆ ไปเลย
  • การต่อเชื่อมเป็น home network กันเอง มือใหม่จะอึ้งแบบมืดแปดด้าน (ใครรู้วิธีช่วยชี้แนะด้วยครับ) ผมเคยเลือกตัวบริหาร network มาลงแล้วทำให้ระบบเดี้ยงไปเลย เข้า net ไม่ได้อีก จนต้อง format ลงใหม่หมด
  • ที่น่าสนใจคือ ลง Ubuntu ใน thumbdrive USB จะทำให้คล่องตัวมาก นี่แหละ mobile computing ตัวจริง เพราะใช้ drive USB ตัวเดียว ใช้กับเครื่องอื่นได้ทั่ว
  • อาจมีปัญหาเข้าบางเว็บไม่ได้ เกิดกับบางเว็บที่เจาะจง IE หรืออาจเข้าได้ แต่ยกเว้นบางหน้า 

จุดแข็งของระบบนี้

  • แสนรู้เรื่องฮาร์ดแวร์มาก ประมาณว่า install ในเครื่องหนึ่ง ถอดตัว boot ไปใช้กับเครื่องอื่น มักทำได้อย่างราบรื่น ผู้ใช้ไม่ต้องปวดหัวมาก ตัวอย่างคือ ผมลองซื้อตัว wireless reciever แบบ USB สำหรับเสียบเครื่องตั้งโต๊ะมา หน้ากล่องเขาบอกว่า Support Vista บอกแค่นี้แหละ ผมลองเสียบกับเครื่อง Ubuntu มันเห็นเลย ไม่ต้องไปหา device driver มาลงอีก โห อะไรจะเก่งปานนั้น
  • รีดพลังของเครื่องออกมาได้เต็มที่ เพราะปรกติแล้ว เครื่องคอมพ์ที่ช้า เพราะต้องลง antivirus ซึ่งทำให้ความเร็วตกลงไปแบบหารสอง แต่ Ubuntu ไม่ต้อง
  • ซอฟท์แวร์ดีและฟรี มีให้ช็อปปิ้งเยอะมาก เรียกว่าใครดูหนังฟังเพลงท่องเน็ตเป็นหลัก ไม่ใช้งานอื่นเลย ลง Ubuntu อย่างเดียว เหลือเฟือ เพราะระบบ multimedia ดีมาก ทำ home entertainment ได้สบาย และมีเครื่องมือช่วยเยอะมาก
  • เป็นเครื่องมือจัดการไวรัส autorun ได้ ดุ ๆ ยังไง ใช้ตัวนี้จับลบทิ้งดื้อ ๆ ได้เลย
  • ผมใช้ตัวนี้ลง Klamav (antivirus ใน Ubuntu ก็มี แต่ก็ไม่ได้จำเป็นต้องลง) ทำให้ใช้เป็นตัวช่วยล้างไวรัสฉุกเฉินให้เครื่อง XP ได้

 

 

อยากจะหัดลง Ubuntu ควรทำอย่างไร

  • อ่านฟรี(อีก)หนังสือคู่มืออูบูนตู
  • ถ้าให้ร้านลงมาเลย ก็ได้ แต่ผมไม่มีประสบการณ์แบบนั้น มันมีหลายเวอร์ชัน บางเวอร์ชันดูเผิน ๆ จะนึกว่า Windows ด้วยซ้ำ
  • ลง dual boot ก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้มือใหม่ทำเอง เพราะเสี่ยงมาก ส่งร้านเถอะ แต่ถ้าอยากลอง ก็ควรทำใจให้พร้อมว่าอาจต้องฟอร์แมตเครื่องใหม่หมด
  • ผมได้ข้อสรุปว่า จะหัด Ubuntu ให้สนุก ต้องหัดแบบเริ่มจากศูนย์ เริ่มตั้งแต่ติดตั้งเอง แล้วสำรวจว่าอยากลงโปรแกรมอะไร เพราะมีให้เลือกเยอะมาก ฟรีทั้งนั้น ข้อสำคัญ เจ้าของไม่หวง !
  • ผมแนะให้ลงใน USB thumbdrive แบบ 16 GB เพราะระบบใช้ 2 GB แต่ถ้าลงแทบทุกอย่างที่ขวางหน้า ก็อาจเกิน 8 GB   ยังไง ๆ ต้องเหลือที่ไว้เก็บข้อมูลบ้าง ใส่บันเทิงไปบ้าง ใส่งานไปด้วย มีที่เหลืออีกนิดหน่อย พอหายใจหายคอได้คล่อง สะดวกมาก

 

คำเตือน

  • ไม่ควรลงในเครื่องที่ใช้งานประจำ เพราะระบบนี้อาจไปราวีกับระบบดั้งเดิมได้ อันตรายมาก เช่น ติดตั้งจาก CD ลง USB แท้ ๆ แต่มีการแว้งกัด Windows ที่ลงไว้จน boot Windows ไม่ได้
  • ทางออกไม่ยาก คือตั้งค่าใน Bios เพื่อทำให้ harddisk ล่องหนตั้งแต่ต้น หรือใครที่ถนัดแกะ ก็ถอด harddisk ที่ใช้งานระบบอื่นออกไปซะก่อน
  • ระบบนี้ มีการถาม login-password ดักอยู่เยอะหลายจุด ให้ความสำคัญกับตรงนี้ จะช่วยให้ระบบปลอดภัยขึ้นในระยะยาว อย่าทำแบบขอไปที

 

 

ลงอย่างไร

  • ขั้นแรก ค้นหา download แผ่นติดตั้ง Ubuntu ก่อน จากเว็บ (ค้นผ่าน google) เขียนลง CD
  • ถัดมา ก็ตั้ง bios ให้ CD เป็นตัว boot ตัวแรก
  • ถัดมา Boot CD แล้วดำน้ำไปเรื่อย ๆ ให้ติดตั้งลง USB drive จนเสร็จ ตรงนี้มั่วไม่ยาก เขาทำมาดี
  • หลังจากนั้น พอเสร็จ หยิบ cd ออก แล้วตั้ง BIOS ให้ boot จาก USB แทน
  • ถ้ามีปัญหา boot ไม่ขึ้น ลองลงใหม่หมดครับ (ผีหลอกรึเปล่านี่) ถ้าไม่ขึ้นอีก ก็ปลงซะ แต่ส่วนใหญ่ น่าจะราบรื่น
  • สำหรับคนที่จะใช้ OpenOffice แนะนำให้ปรับแก้ภาษาไทยใน Ubuntu

 

 

ก่อนใช้งาน ควรทำอย่างไร

  • เลือกเมนู System -> Preferences -> Network Proxy แล้วตั้งค่า proxy ตามที่ควรเป็น เช่น ใช้ ADSL ของ TOT ก็ไม่ต้องตั้งอะไรเลย แต่ถ้าใช้ในองค์กร ก็เป็นเรื่องกิจการภายในว่า แต่ละที่เขามีข้อกำหนดอย่างไร
  • ตั้ง System -> Administration -> Software source ซึ่งมีหลายหัวข้อย่อย พยายามคลิกเลือกให้หมดทุกรายการ (ตรงนี้สำคัญ เพราะแหล่งโปรแกรมที่น่าสนใจ มาจาก third party souce นี่แหละ ถ้าไม่เลือกแหล่งนี้ ระบบเองจะไม่มีโปรแกรมให้เลือกสะใจเท่าไหร่)
  • Software source นี่ เราสามารถเลือก Select Best Server ได้ ระบบจะสแกนทั่วโลก หา server ที่ว่างและทำงานเร็วให้ในขณะนั้น จะทำให้โหลดระบบต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นมาก (แต่ไม่แน่เสมอไป บางทีมันเร็วให้ดีใจเล่นไม่กี่นาที แล้วก็อืด เพราะคนทั้งโลกรุมใช้ตามอัธยาศัยแบบใจตรงกันพอดี) แต่ทั่วไปแล้ว ผมนิยมเลือกใช้ server ในประเทศไทย
  • Software source ในการเลือกครั้งแรก ควรเลือกจาก Main Server ก่อน จะทำให้ระบบแก่นหลักของ Ubuntu ลงได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน และทำให้ในขั้นต่อไปจะไม่ปวดหัวมาก
  • ขั้นตอนนี้ ทำให้เราเข้า internet ได้แล้ว
  • เวลามีปัญหา ก็ค้นผ่าน firefox ที่ติดมากับเครื่อง ค้นใน google โดยควบกับคำว่า ubuntu forum มักเจอทางแก้
  • ทางแก้ส่วนใหญ่ มักเป็นข้อความบอกให้เรารันประโยคยาว ๆ ที่เขาเขียนไว้ ปัญหาจะหมด ตรงนี้ มือใหม่จะงงว่า รันกับอะไรง่ะ อย่าเพิ่งตกใจ ให้ไปที่ Accessories -> Terminal แล้วจะเกิดหน้าจอรอรับข้อความ เราก็ไป copy (ลากเมาส์คลุมข้อความ กด คอนโทรล ควบกับ C) & paste (ลากเมาส์คลุมข้อความ กด คอนโทรล ควบกับ V) มาใส่ตรงที่เคอร์เซรอร์กระพริบรอ เคาะ ENTER ก็รันให้เอง
  • หลังจากติดตั้งแบบนี้แล้ว เราสามารถใช้ตัวนี้ boot เครื่องไหนก็ได้ ตอนนี้ไม่ต้องกลัวมันจะไปแว้งกัดกับระบบอื่นเจ้าของบ้านเดิมแล้ว (ยกเว้นกรณีที่ไปใช้โปรแกรมโคลน USB ซึ่งต้องใช้ Bios ปิดซ่อนฮาร์ดดิสก์เก่าให้ดี เพราะอันตรายมาก)

 

เพิ่มโปรแกรมใหม่ ๆ ทำอย่างไร

  • ไปที่ System -> Admistration -> Synaptic Package Manager จะมีรายการซอฟท์แวร์ให้เลือกติดตั้งอยู่เยอะ ลองคลิกรายการที่น่าสนใจมาติดตั้งดู

 

 

Upgrade Ubuntu version ใหม่ ทำอย่างไร

  • ใช้ Terminal สั่ง update-manager -d

 

จะอ่านข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ที่เป็น Windows หรือ MacOS ได้ยังไง

  • ปรกติแล้ว รูปแบบฮาร์ดดิสก์ (รวมถึง USB) จะเป็น FAT16/FAT32 สำหรับ WinME และ NTFS สำหรับ XP หรือ HFS+ สำหรับเครื่องแม็คอินทอช ส่วนตัว Ubuntu ใช้ระบบ Ext2/Ext3/Ext4 ต้องติดตั้งโปรแกรมที่ทำให้รู้จักรูปแบบเหล่านี้ก่อน ก็จะทำให้ Ubuntu อ่านเขียนเครื่องแม็คหรือวินโดวส์ได้ (ข้อดีคือเราใช้ลบ folder ไม่พึงประสงค์ใน Windows ได้)

 

ไม่รู้จะลงโปรแกรมอะไรดี มืดแปดด้าน เพราะเคยใช้แต่วินโดวส์

  • มีแหล่งแนะนำ software ทางเลือก โดยประกบคู่กับโปรแกรมรวมฮิตบนวินโดวส์ ที่ http://www.linuxalt.com/
  • แม้แต่คนที่ติดเอ็ม ก็มีตัวเลือก เช่นโปรแกรม aMSN, kopete, pidgin (ตัวหลังนี่ ควบ chat หลายค่ายได้)
  • คนที่ยังต้องใช้ IE สำหรับบางงาน แนะนำให้ลง IE4Linux

 

ไม่รู้จะลงโปรแกรมอะไรดี มืดแปดด้าน เพราะเคยใช้แต่ DOS 6.11 (เผลอหลับไปยี่สิบปีเอง) หรือไม่ก็ชินแต่กับ Windows ME ซะแล้ว (ใครอ๊ะ ฟังคุ้น ๆ ชวนหนิดหนมจัง)

  • มี emulator เยอะ ทำให้รันโปรแกรมระบบปฎิบัติการอื่นได้ด้วย รวมถึง arcade game รุ่นเก๋าส์สมัย DOS ก็ได้
  • ถ้าจำไม่ผิด พวก emulator Z80 หรือ อมิกา ก็มี (รุ่นที่ DOS เรียก พ่อ)
  • ถ้าเป็นโปรแกรมไม่ใหญ่ซับซ้อนมาก เอาโปรแกรมจากระบบปฎิบัติการอื่นมาลงได้ เช่น
  1. โปรแกรมใน DOS ใช้ผ่าน DOSBOX, DOSEMU, WINE
  2. โปรแกรมใน Windows ต้องลงผ่าน WINE โดยไปดูรายละเอียดที่ WINEHQ.COM
  3. ถ้าจะลง Windows ซ้อน ก็ให้ลง VirtualBox หรือ VMware ไว้ก่อน
  4. เครื่องเล่นเกมส์สารพัดที่เราเคยเห็น มี emulator เพียบ ค้นดูเองนะครับ 

 

โปรแกรมแปลก ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ...(สำหรับผม)

  • โปรแกรมสำหรับโคลน web url แบบยกมาทั้งพวง (ใช้อย่างระวังและดูกาละเทศะ เพราะรบกวนการทำงานของเครื่องต้นฉบับมาก เขาจะหาว่าเจตนาบ่อนทำลายเรื่องทำให้เครื่องเขาช้าจนล่มแล้วจะฟ้องเอา)
  • โปรแกรมสำหรับดึงหน้าเว็บแบบ offline มาเก็บไว้ในเครื่อง
  • โปรแกรมคณิตศาสตร์ AXIOM ประกบ Mathematica หรือ MathLab
  • โปรแกรมสถิติ PSPP ประกบ SPSS
  • โปรแกรม OpenOffice ประกบ Office Suite ของบริษัทอื่น
  • โปรแกรมสำหรับการศึกษา มีเยอะมาก เหมาะกับใช้สอนเด็ก (แหะ ๆ ไม่มีเด็ก เลยไม่ได้ลองใช้ครับ แต่เห็นแวบ ๆ ว่ามีเยอะจริง ๆ)
  • โปรแกรมทำภาพ Panorama จากภาพเล็กภาพน้อยให้มาต่อกัน
  • โปรแกรมสำหรับภาพ HDR สำหรับแต่งภาพศิลป์

 

(ยังเขียนไม่จบ ว่าง ๆ นึกอะไรได้จะค่อยมาต่อตรงนี้ หรืออยากรู้อะไรก็ถาม อย่าถามลึก เพราะผมก็ยังเป็นมือใหม่ แต่พฤหัส-ศุกร์นี้ ผมจัดประชุม คงไม่ว่างเข้ามาดู)

คำสำคัญ (Tags): #ubuntu
หมายเลขบันทึก: 263778เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • รออาจารย์เขียนหมดก่อน แล้วค่อยมาใช้ ฮ่าๆๆ
  • เอามาฝากครับ

ลองแล้วค่ะ เอาซีดีมาก็อปลง drive d แล้วเรียกลงผ่ากลางวินโดว์เลย ใจถึงอย่างแรง ผลคือ install ได้ไม่มีปัญหา reboot ออกไปแล้วระบบก็เริ่มเซ็ตอัพเองจนเสร็จ กลับออกไป windows แล้วไปสั่งให้อ่าน ubuntu เป็นลำดับแรก จากนั้นก็กลับมาตั้งค่าที่จะใช้ใน ubuntu เปลี่ยนค่าตัวหนังสือให้ตามถนัดเราแล้วก็ logout ไปเซ็ตภาษาใหม่ให้แสดงเป็นภาษาอังกฤษ เพราะมึนกับภาษาไทยค่ะ ตอนนี้กลับไป windows ก็ปกติดีนะคะ ลองเข้าออกหลายรอบแล้ว

เดี๋ยวลองใช้สักพักแล้วจะจัดการทดสอบ USB บ้าง จากนั้นก็จะอาจหาญลองกับเครื่องที่ใช้งานอยู่ ตอนนี้ backup ไว้หมดแล้วแม้แต่ของเล็กๆ น้อยๆ กลับมาเหมือนเดิมได้ทันทีถ้ามีปัญหา

ที่ยังเจออยู่คือรู้สึกมัน move อืดๆ ไม่รวดเร็ว เลยไปปิด visual effects ให้เป็น none ก็ดีขึ้น ไม่วูบๆ เวลาเลื่อนไป active menu แต่ก็ยังนับว่าตอบสนองต่อการคลิกช้ากว่า windows หรือว่ายังหา mouse setting menu ไม่เจอก็ไม่รู้ค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ P  ขจิต ฝอยทอง

  • เสียดาย เขาไม่ให้อาจารย์ขึ้นไปตัดเค้กบ้าง
  • เพราะอาจารย์มีคุณูปการในฐานะหนุ่มอารมณ์ดีเชียร์บล็อกมาตลอด
  • ไม่ได้ตัดเค้กไม่เป็นไร เพี้ยง ขอให้อาจารย์เจอเนื้อคู่เร็ว ๆ ด้วยเทิ้ด เพี้ยง

 

Susan

  • จะให้คล่อง ต้องลงใหม่บ่อย ๆ ครับ ^ ^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท