"สันกู่" โบราณสถานเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บน "ยอดดอยสุเทพ" ด้วยแรงศรัทธา


หลังจากการเปิดตัวบันทึก สองล้อเก่า ๆ ตลุยตามรอย ดอยสุเทพ-ปุย สู่ ดินแดน Highland ... นางพญาเสือโคร่ง และ "ภาพมุมกว้าง" ย้าวยาว 1,000 พิกเซล ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ผ่านมา 2 - 3 วัน อีกบันทึกที่อยู่ในความตั้งใจมาตลอด คือ เรื่องราวของ "สันกู่" โบราณสถานเก่าแก่ที่ต้องอยู่บนยอดดอยสุเทพ (ได้อย่างไรกัน)

"สันกู่" ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ (จริง ๆ) ที่ไม่ใช่สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยสุเทพวรมหาวิหารที่มหาชนรู้จักกันดี หากแต่เลยมาจากจุดชมวิวดอยปุยที่เห็นหมู่บ้านแม้วดอยปุยมาอีกราว 5 - 6 กิโลเมตร ทางโค้ง สูงชัน ถนนแคบ รถสวนกันลำบาก

"สันกู่" ตั้งอยู่ทางด้านขวามือก่อนถึงทางขึ้น "ยอดดอยปุย" 1 - 2 กิโลเมตร มีถนนดินเข้าไป เฉพาะรถเครื่อง รถจักรยาน ส่วนรถใหญ่ควรจอดไว้บริเวณปากทางแล้วเดินเข้าไปไม่ถึง 500 เมตร

ไม่ค่อยมีใครทราบว่า "สันกู่" ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ จากระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,601 เมตร (ซึ่งยอดดอยปุยมีสูงจากระดับน้ำทะเล 1,658 เมตร)

ผมสันนิษฐานว่า คำว่า "สัน" หมายถึง สันเขา, ยอดเขา และคำว่า "กู่" เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง เจดีย์ ดังนั้น "สันกู่" คือ สันเขาที่เป็นที่ตั้งของเจดีย์

 

ชมเส้นทางเดินเข้าสู่ "สันกู่" ยอดดอยสุเทพแท้ ๆ

 

ภาพที่ 1 ... ทางเดินเข้าสู่ "สันกู่" ที่เต็มไปด้วยรากไม้ ฤดูฝนลื่นมาก

 

 

ภาพที่ 2 ... ป่าไม้รอบ ๆ "สันกู่" อากาศเย็นสบายตลอดปี มีพืชตระกูลก่อขึ้นอยู่เยอะ (ชาวบ้านเค้าจะเก็บลูกก่อไปคั่ว แล้วกินเม็ดข้างใน ที่กาดพยอมมี ครับ)

 

 

ภาพที่ 3 ... หันหลังกลับไป จะเป็นปากทางเข้ามา หากไปทางซ้ายมือของถนนจะไปสู่ "ยอดดอยปุย" หากไปทางขวามือจะลงดอย

 

 

เดินเข้าไปจะพบป้ายของหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ อธิบายประวัติและความเป็นมาของ "สันกู่"

 

ภาพที่ 4 ... ป้าย "สันกู่"

 

 

มีคำอธิบายดังนี้

"... เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ ได้ขุดแต่งบูรณะซากโบราณสันกู่ ในการทำงานครั้งนั้น เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงทราบฝ่าละอองพระบาทว่า โบราณสถานแห่งนี้ถูกขุดทำลายเป็นเวลานานแล้ว สมควรให้กรมศิลปากรสำรวจและบูรณะให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี

สภาพก่อนการขุดแต่ง เป็นเนินโบราณสถานที่ต้นไม้หนาแน่น เมื่อขุดลอกดินที่ทับถมออก พบซากเจดีย์และฐานวิหาร ได้ขุดลอกหลุมที่เกิดจากการลักลอบขุดที่ตรงกลางฐานเจดีย์ในระดับความลึก ๕.๓๐ เมตร พบโบราณวัตถุในกรุที่สำคัญ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปศิลปะแบบหริภุญไชย พระพิมพ์ดินเผาศิลปะแบบหริภุญไชย เศษเครื่องปั้นดินเผาเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กของจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๗) และการขุดแต่ส่วนอื่นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง

สันนิษฐาน โบราณสถานสันกู่มีอายุระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๒ ..."

 

หมายเหตุ ... ผมถอดความจากป้ายโบราณสถานสันกู่ทุกประการ

 

จากข้อสันนิษฐาน โบราณสถานสันกู่จึงมีอายุประมาณ 600 กว่าปี แล้วใครหนอช่างมีแรงศรัทธาที่จะเดินทางจากพื้นราบขึ้นมาก่อสร้างได้ หรือเป็นชาวลัวะที่เป็นตำนานของเมืองเชียงใหม่เป็นคนสร้าง ???

 

ชอบบริเวณรอบ ๆ สันกู่ ดูครับ

 

 

ภาพที่ 5 ... ลานดินข้างซากเจดีย์

 

 

ภาพที่ 6 ... จะมีแท่นบูชาเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน

 

 

ภาพที่ 7 ... ฐานวิหารที่หลงเหลืออยู่

 

 

ภาพที่ 8 ... ร่องรอยของการบูชาที่แท่นบูชาที่ติดกับฐานวิหาร มีใครมาตั้งศาลพระภูมิเอาไว้ไม่ทราบ

 

 

ภาพที่ 9 ... ฐานเจดีย์เริ่มพังทลายแล้วครับ ไม่ทราบว่า เป็นฝีมือมนุษย์ หรือ น้ำเซาะยามฝนตกหนักกันแน่

 

 

ภาพที่ 10 ... มีคนนำดอกไม้สดใส่ขวดน้ำหวาน ตั้งบูชาอยู่ฐานเจดีย์ ตรงมุมของเจดีย์

 

 

ภาพที่ 11 ... มีคนนำโมบายดินเผารูปปลา มาแขวนเอาไว้ข้าง ๆ เจดีย์

 

 

ภาพที่ 12 ... มีพิธีกรรมที่ผมไม่ทราบว่า คืออะไร มีการกางร่มสีดำ มีต้นไม้เหมือนต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง 2 ต้น แต่เหี่ยวแล้ว มีเศษไม้กองอยู่

 

ภาพที่ 13 ... ช้างไม้บูชา วางไว้ตรงแท่นบูชา 3 เชือก

 

 

ภาพที่ 14 ... ปิดท้ายบันทึกนี้ด้วยภาพมุมกว้างนิด ๆ ของเจดีย์และฐานวิหารสันกู่

 

 

"สันกู่" เป็นโบราณสถานที่ไม่มีนักท่องเที่ยวทราบมากนัก เพราะปากทางไม่ได้มีสิ่งใดบอกว่า นี่คือ "สันกู่" หรือไม่ "สันกู่" ไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่า สถานที่ที่นิยมอื่น ๆ บนดอยสุเทพ-ปุย

 

สำหรับผมแล้ว ... อยากทราบประวัติที่แท้จริงของ "สันกู่" เหลือเกินว่า เหตุใด แรงศรัทธาจึงได้มากมายขนาดนี้ ...

"คงไม่มีสิ่งใดสู้แรงศรัทธาของคนได้" ผมเชื่ออย่างนั้น

 

หากอยากแวะมาชม กรุณาเคารพสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วยครับ จอดรถไว้ปากทาง เดินเข้ามา พยายามเหยียบตะไคร่และต้นไม้ให้น้อยที่สุด โปรดรักษาเอาไว้ให้ลูกหลานเราได้ดูเถอะครับ

ภาพโหลดช้าหน่อย ขออภัยด้วยนะครับ :)

ขอบคุณสำหรับความศรัทธา

 

หมายเลขบันทึก: 234359เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2009 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

ผมเรียนที่ มช.มายาวนาน แต่ไม่เคยไปเที่ยวชม "สันกู่" เลยครับ ..

ต้องขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาคัดลอกข้อความดีๆมาเผยแพร่..เป็นการเที่ยวที่มีคุณค่าที่สำคัญภาพงามครับ : )

จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร ทำให้มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะแบบหริภุญไชยครับ แสดงความรุ่งเรืองที่ยาวนานของสถานที่แห่งนี้ครับ

อีกทั้งยังมีการโยงเรื่องราวกับทางพงศาวดาร / เรื่องเล่าเก่า ๆ ของทางเหนือ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมบันทึกที่ตั้งใจนี้ครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :) ... บันทึกที่เกิดจากความอยากรู้ของตัวเอง :)

 

ผมสนใจ ความเชื่อที่แสดงออกหลากหลาย บริเวณฐานเจดีย์....ที่มาของปรากฏการณ์เหล่านี้..

ภาพนี้น่าสนใจครับ

คืออะไร

ทำเพื่ออะไร

กระบวนการอย่างไร..

...

...

...

นั่นสิครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ... ผมก็สงสัย

อยากให้ "นักโบราณคดี" หรือ "นักประวัติศาสตร์" ผู้เชี่ยวชาญมาตอบจังเลยครับ

เป็นวัฒนธรรมความเชื่อของคนเหนือหรือเปล่าครับ ?

หรือมีคนอุตริ ... เอาร่มที่เสียแล้วมาวางไว้เฉย ๆ ?

สงสัย ๆ ๆ

  • สวัสดีค่ะตามมาเที่ยวสันกู่ค่ะ
  • แต่ให้ไปคนเดียว ไม่เอาค่ะ
  • แหะๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ภาพนี้ดูสิคะ.........................................สวยดีคะ  มีเงาเป็นเส้นๆด้วย

สวัสดีครับ น้องคุณครู เทียนน้อย :)

ช่วงเวลาบันทึกภาพราว ๆ 4 โมงเย็นแล้วครับ หน้าหนาวด้วย

เดินวนขวา เก็บภาพอยู่หลายรอบ ไม่มีใครสักคน

ถ่ายไป ขนลุกไป ครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn

  • บรรยากาศดูเงียบสงบ และเป็นธรรมชาติมาก ๆ นะคะ
  • ไม่รู้ว่ามีบ้านคนแถวนั้นรึเปล่า
  • คนสมัย 600 ปีที่แล้วเก่งนะคะ มีการวางโครงเหล็ก (รึเปล่า) ก่อนสร้างฐานเจดีย์ด้วย
  • ด้วยแรงศรัทธาจริง ๆ ...อยากรู้ประวัติของสันกู่บ้างแล้วล่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่พาไปเที่ยวอีก

 

สวัสดีครับ คุณพยาบาล  สีตะวัน :)

ไม่มีใครอาศัยอยู่ใกล้บริเวณนี้เลยครับ ใกล้สุดก็เป็นสถานีวิจัยเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยนและบ้านแม้วขุนช่างเคี่ยน ห่างจากบริเวณนี้ 7 - 8 กิโลเมตร ครับ

ที่นี่มีร่องการก่อกองไฟของพวกมาแอบกางเตนท์ครับ แล้วก็มีพระธุดงค์มาปักกลด

รอยที่เห็นที่สภาพฐานที่พังทลายครับ ที่คุณพยาบาล  สีตะวัน เห็นเป็นไม้ไผ่ครับ คิดว่า คงเป็นร่องรอยการบูรณะของกรมศิลปากรมากกว่าครับ ฐานเดิมที่พบมันฝังอยู่ในดินครับ เป็นศิลปะหริภุญไชย ลำพูน ครับ

แรงศรัทธาจริง ๆ ครับ :)

  • ตามมาเป็นแฟนคลับตรับ
  • น่าสนใจครับ
  • การชมซากปรักหักพังของโบราณสถานหรือวัตถุ แค่มองเห็นเฉยๆ จะไม่น่าสนใจ
  • หากได้ทราบประวัติความเป็นมา จะทำให้เกิดความประทับใจ
  • ไปปราสาทหินพนมรุ้งคร้งแรก ไปเที่ยวชมเอง ใช้เวลาม่ถึง ชม. ก็เสร็จ รู้สึกเฉยๆ
  • ครั้งหนึ่งมีโอกาสไปกับวีไอพี กรมศิลป์จัด ดร.มานำชม เล่าความเป็นมาของหินแต่ละก้อน
  • เรื่องราวสัปดนเล้กๆที่ช่างแกะสลักใส่ไว้ในก้อนหิน ฯลฯ
  • ใช้เวลาเกือบครึ่งวัน (แต่ไม่เบื่อเลย)
  • โห ..ทำไมมันมหัศจรรย์อย่างนี้
  • สันกู่ก็คงมีเรื่องราวน่าสนใจ
  • ฮ่า..ฮ่า หางานให้เจ้าของบันทึกดีกว่า
  • จะมาคอยอ่านนะครับ

 

ขออนุญาตท่าน ทหารอากาศขนาดยักษ์ ... กลับไปตรวจข้อสอบนักศึกษาก่อนก็แล้วกันนะครับ อิ อิ (ข้ออ้าง ไม่ยอมทำงานต่อไปนั่นเอง)

โบราณสถาน โบราณวัตถุ มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้น เพียงแต่หลายท่านที่ได้ไปเที่ยวชมมองแค่เพียงภายนอก ไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้ง ทำความรู้จักให้ดี

เหมือนเวลาที่คนเราชอบตัดสินการกระทำคนอื่นในสายตาของเราเอง มักจะเชื่อว่าคนนี้เป็นอย่างนี้ คนโน้นเป็นอย่างนั้น ยังไม่ได้ทำความรู้จักเขาให้ดีเลย จริงไหมครับ (ออกแนวจิตวิทยาแล้วครับเนี่ย)

ขอบคุณที่จะแวะมาเป็นแฟนคลับครับ แต่อย่าเลยครับ เดี๋ยวจะผิดหวัง ผมจะเสียใจแทน อิ อิ :)

ที่สันกู่นี้มีเรื่องเล่าหลายเรื่อง แต่เข้าไปแล้วรู้สึกอบอุ่นใจยังไงก็ไม่รู้ รู้สึกถึงความเป็นมิตร ชอบมาก ถึงแม้จะมีทั้งทากและเห็บอยู่ก็ตาม

ขอบคุณครับ ท่าน พี่น้องร็อค :)

ความเชื่อ ศรัทธาของมนุษย์ ก่อกำเนิดสิ่งมหัศจรรย์เสมอค่ะ

ยากจะหาที่มาที่ไป เพราะคนสร้างอาจจะไม่หวังให้ใครมาเยินยอก็เป็นได้

เราลูกหลานรักษาได้ก็ควรรักษา แต่มนุษย์ก็แปลกนะค่ะ ไม่ค่อยเห็นค่าสิ่งที่มีมัวแต่เรียกหาสิ่งที่ไม่มี จนทำให้สิ่งที่มีสูญหายไป

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ นักอนุรักษ์ตัวจริง เสียงจริง น้อง สี่ซี่ ครับ :)

บันทึกนี้ผ่านมาแล้ว 1 ฤดูกาล ครับ

มีผู้คาดว่าบริเวณสันกู่ในอดีตอาจเป็นสถานที่ใช้สำหรับรักษาโรค เพราะมีพืชสมุนไพรอยู่ด้วยค่ะ สงสัยจังเพราะดูจากลักษณะน่าจะเป็นวัดด้วย อาจเป็นวัดที่พระท่านมีการรักษาโรค หรือศึกษาด้านสมุนไพร แต่เอ...แล้วในสมัยโบราณท่านไปบิณฑบาตที่ไหนนะคะ อาจมีฆราวาสอยู่ทำอาหารถวาย หรือมีชุมชนอยู่ไม่ไกลมาก น่าสนใจดีค่ะ ชอบชอบ

ยิ่งถ้าวันไหนมีหมอกลงคลุมแถวนั้น บรรยากาศได้ใจมากค่ะ สงบแบบนิ่ง ๆ (ถ้าไม่มีเครื่องบิน-รถ ผ่าน) ถ้าเป็นสมัยโบราณที่มีต้นไม้ครึ้ม ไม่มีไฟฟ้าใช้ ที่สันกู่คงสงบมาก ๆ

ขอบคุณมากครับ คุณ ปลวกน้อย สำหรับข้อมูลเกร็ดที่ควรรู้เยอะแยะเลย ;)

เคยไปเที่ยวที่ดอยสุเทพมา แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่ จนมีเพื่อนที่ Hi5 นำภาพมาลงในไฟล์

ของเขาก็เลยได้เข้ามาดู สวยและแปลกดี ถ้ามีโอกาศจะต้องแวะไปดูให้ได้เลยล่ะค่ะ

ยินดีและขอบคุณครับ คุณ Kiddevil ;)

ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกจารึก และประวัติศาาตร์ที่บิดเบือนในยุคหริภุญชัยและล้านนา อาณาจักรดั้งเดิมของชาติลัวะที่ถูกรุกรานและเหยียบจมหายไป วันหนึ่งเราจะคืนความชอบธรรมให้บรรพชนบองลัวะ

ขอบคุณครับ คุณ รินลนา ;)...

เคยได้ทราบความเชื่อของชาวล้านนาโบราณมาว่าน้ำตกห้วยแก้วเปรียบเสมือนลำธารน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาหล่อเลี้ยงคนในเมืองเชียงใหม่ โดยผ่านวัดสำคัญๆจากเชิงดอยสุเทพขึ้นไปคือ วัดศรีโสดาแทนอริยสงฆ์ชั้นโสดาบัน วัดผาลาดแทนชั้นสกิทาคามี วัดร้างตรงข้ามหอดูดาวแทนชั้นอนาคามี ส่วนวัดดอยสุเทพหมายถึงอรหันต์ และสันกู่ในความเชื่อของผมอาจหมายถึงสถานที่แทนพุทธภูมิหรือไม่ก็หมายถึงพระพุทธเจ้านั่นเองครับ หากมีเวลาผมจะขึ้นไปดูศึกษาเช่นกัน

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ได้ให้มาครับผม คุณ ภูดิศ เพียรกุศล ;)...

ป.ล. รถที่ขึ้นไปเป็นรถยนต์เล็ก หรือ รถเครื่อง ก็จะสะดวกครับ

บรรพบุรุษชาวลัวะเคยอาศัยอยู่ในเชียงใหม่  และเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ดินแดนแถบนี้  ลัวะมีกษัตริย์ของตนเอง และองค์สุดท้ายคือขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งถูกพระนางจามเทวี กษัตริย์แห่งนครหริกุญไชย(ลำพูน) ตีแตกพ่ายไปอยู่บนป่าเขาลูกนี้สันนิฐาน เป็นเทือกเขาดอยสุเทพ สถูปนี้อาจเป็นที่เก็บอัฐฐิหลวงวิลังคะ ตามตำนานก็ได้ครับ โอววน่าติดตาม พลังศรัทธาของคนโบราณ น่าเคารพเป็นอย่างยิ่งครับ 


ขอบคุณครับ ท่าน ต้อง เมืองลำพูน ;)...

มี ท่านผู้รู้เล่าถึงสันกู่ว่า มีที่มาจากท่านพระฤาษีวาสุเทพ ขอรับบ พ่อ แม่ พี่น้องง คร้าบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท