ตีความ คุณภาพของใจ ถ้อยคำของครูอึ่ง


เรื่องเล่าจากขอนแก่น

การเจอครูอึ่งและคณะครูจากมงคลวิทยาที่สวนป่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังคงเป็นการเจอกันที่สุดแสนจะประทับใจ โดยเฉพาะหัวหน้าคณะที่การมาคราวนี้ได้ช่วยให้ผมเอาสิ่งที่ครูอึ่งพูดมาคิดต่อ  คิดๆๆๆ จนตอนนี้ยังคงคิดอยู่

ที่คิดขนาดนี้  จะว่าคิดมากก็คงใช่ แต่ความจริงในใจตั้งใจอยากให้ความคิดนี้มันตกผลึกก็เท่านั้นเอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง คุณภาพของใจ ถ้อยคำนี้เป็นถ้อยคำที่ครูอึ่งหยิบมาเป็นประเด็นให้น้องนักศึกษาครูพันธุ์ใหม่ได้นำไปคิดทบทวนและคิดต่อ

เมื่อเจอคำถามว่าทำไม เลือกเรียนวิชาชีพครู นักศึกษามักตอบว่าเพราะใจรัก  นี่จึงเป็นการย้อนถามกลับแบบให้คิด ผมคิดว่าครูอึ่งไม่ได้ต้องการคำตอบ ณ ปัจจุบันขณะ แต่ต้องการให้น้องนักศึกษาคิดต่อ คิดทบทวน คิดวิเคราะห์เรื่องใจรักที่น้อง ๆ ว่า ว่ามีคุณภาพของใจขนาดไหน

ผมไม่เก่งเรื่องใจคนอื่นสักเท่าไหร่ ในวิชาชีพด้านศิลปะมุ่งให้นักศึกษาประโลมใจตนเอง ไม่ค่อยให้คิดถึงใคร แม้แต่คนดูงานศิลปะของตนเอง แต่ทุกวันนี้หลายสถาบันได้เปลี่ยนแนวคิดด้านการสอนศิลปะไปบ้างโดยให้มีดุลยถาพระหว่างการคิดสร้างสรรค์และคิดถึงคนอื่นในฐานะคนดูงานศิลปะของเรา

ผมเองแม้จะผ่านมาหลายวันแต่ก็ไม่ตกผลึกเรื่องคุณภาพของใจสักเท่าไหร่ ใจหนึ่งมัวนั่งคิดเรื่องเครื่องมือวัด(เฉพาะตัว) ว่าตัวเองมีใจกับสิ่งนั้นขนาดไหน(สิ่งที่ทำ สิ่งที่เกี่ยวเนื่อง)  แต่ถึงอย่างไรก็พบว่าตนเองได้ใช้มาตราฐานอย่างหยาบ ๆ เช่น มีใจเล็กน้อย  ก็พอมีใจ  มีใจมาก มีใจมากที่สุด ซึ่งเมื่อมาประมวลแบบนี้ก้พบว่าตนเองมีใจต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

เมื่อได้คิดแบบนี้ก็พอจะทำให้เห็นคุณค่าของถ้อยคำของครูอึ่งที่มุ่งให้พินิจคุณภาพใจของตนเอง  เอ้อแบบนี้น่าคิดนะครับว่าเราทุกคนมีคุณภาพของใจต่อสิ่งต่าง ๆ เพียงไรและเราจะปรับ ลด ใจต่อสิ่งต่าง ๆ แบบใด  ผมว่านี่เป็นการบริหารจัดการใจของเราเอง

อิอิ ไม่รู้ผิดรู้ถูกหรือเปล่านะครับเพราะแต่ละวิชาชีพมุ่งสอนเรื่องใจที่ต่างกัน แต่ผมว่าก็ไม่แตกต่างกันในเรื่องคุณค่า

หมายเลขบันทึก: 172225เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2008 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • มายิ้มๆๆคุณภาพของใจ
  • คุณภาพใจของคนต่างกัน แต่คุณภาพแบบนี้ฝึกฝนได้
  • มีหลายบริบทและปัจจัยที่ทำให้มีคุณภาพ
  • อยากรู้กระจ่าง
  • ต้องเชิญพี่ครูอึ่ง มาอีก
  • อิอิๆๆ

  พี่ครูอึ่งยังไม่มา "น้องครู Handy" จะขอว่า ขัดตาทัพไปพลางๆ ดังนี้

  • การ มีใจ หรือ ใส่ใจ กับสิ่งที่กระทำนั้น มีได้หลายระดับจริงๆ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรามีระดับของ ความจริงจัง ที่ให้กับเรื่องต่างๆ ไม่เท่ากัน
  • เมื่อเรา มีใจ ให้กับเรื่องใดก็แปลว่ามีความ รัก-พอใจ ในเรื่องนั้น หรือการกระทำอย่างนั้น
  • ทำไมถึง รัก-พอใจ .. ก็เพราะเรา เห็นประโยชน์หรือ คุณค่า ของมันนั่นเอง รัก-พอใจ ในการกระทำ คือ ฉันทะ
  • ตามความคิดของพี่ ฉันทะ มีทั้ง แท้ และ เทียม
  • รัก-พอใจ อันเกิดจากเครื่องล่อตื้นๆ  เช่นขยันเรียนเพื่อเกรดสูงๆ - ได้เกียรตินิยม หรือทำงานวิจัยเพราะอยากได้ รศ. เอาสื่อสวยๆ สนุกๆมาล่อ ให้เด็กอยากเข้ามาเรียน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็น ฉันทะเทียม ทั้งนั้นครับ  ทำเพื่อสนองกิเลสเป็นหลัก พอได้รับสิ่งที่เป็นเครื่องล่อ ความ รัก-พอใจ ที่เคยมีก็มอดดับลง เข็นเท่าไรก็ไม่ไป
  • รัก-พอใจ อันเกิดจากเห็นคุณค่าอย่างแท้จริงของสิ่งที่ทำ เห็นชัดว่าผลจากการกระทำนั้น จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งตนเองและผู้อื่น .. ตนเอง เป็นเรื่องเล็ก เพราะมีคนเดียว ส่วนเพื่อคนอื่นนั้น เรื่องใหญ่ เพราะมีอยู่มาก จึงไม่แปลกที่เห็นคนไม่น้อย ทำอะไรอย่างมุ่งมั่น ต่อเนื่องแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็เห็นว่าผู้อื่นจะได้ประโยชน์นั่นเอง .. แล้วคนทำก็เป็นสุข .. สุขจากการให้ ไม่ใช่การรับ สรุปก็คือทำไปด้วยใจที่ "รักผู้อื่น" นั่นเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม นั่นแหละ "ฉันทะแท้" ที่ผมพูดถึง
  • ถ้าไม่มีตัว"ฉันทะแท้" นี้ นักศึกษา ว่าที่ครูพันธุ์ใหม่  21 คน ไม่มีทางได้พบ  ท่านทั้งหลาย ในเครือข่ายเฮฮาศาสตร์ ที่กระเสือก กระสน ดิ้นรน เดินทางมาสวนป่าในระหว่าง 15-17 มีค. ที่ผ่านมาเป็นแน่นอน
  • มีอีก แต่เอาไว้แค่นี้ก่อนดีกว่า .. เทะ แค นะ.. ตัวเอง.

 

  • ตามมาค่ะ
  • คุณภาพใจ...ถ้าคิดแบบพี่..พี่มองที่การรู้ใจตัวเองว่าขณะนั้นมีความยินดีต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่ได้ทำ กับสิ่งที่เกื้อกูล อย่างไรและมากน้อยแค่ไหน
  • เช่นว่า ที่น้องๆเขาช่วยทำกับข้าวเตรียมอาหาร ขณะทำเขามีปิติต่อการที่จะได้ "ให้"กับคนอื่นได้แก่ครูบาอาจารย์ และอยากให้ออกมาดีที่สุด ก็คือการที่เขามีคุณภาพของใจในทางที่ดี แต่ถ้าเขาทำไปทุกข์ไป ทำไมต้องเป็นฉันนะที่ต้องมาทำแม่ครัวทำไมไม่ทำ ทำไมคนนั้นไม่ทำคนนี้ไม่ทำ แล้วเกี่ยงกันทำ หรือว่าทำแล้วก็อยากได้แต่คำชม ใครไม่ชมก็โกรธ คุณภาพของใจก็จะด้อยลงไป
  • และถ้าทำแล้ว ก็มองเห็นความดีงามของคนอื่นที่มาช่วยกัน ขอบคุณคนที่ไปจ่ายตลาดให้ ยินดีกับคนที่ปลูกผักไว้ให้ ฯลฯ ก็จะยิ่งพัฒนาคุณภาพของใจขึ้นไปอีก  จิตใจก็จะสูงขึ้น ถ่อมตัวมองเห็นความสัมพันธ์ของคนกับสรรพสิ่งในธรรมชาติและโลกมากขึ้น ลดความหยิ่งผยองที่ผิดๆลง
  • บางเรื่องเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่คนทำรู้คนเดียว แต่เกิดความสุขที่ได้ทำ พี่ก็คิดว่าดีแล้วค่ะ ...
  • สำหรับพี่แล้ว คุณภาพของใจตัวเองเกิดได้จากการที่ตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ว่ากำลังคิดกำลังทำอะไรอยู่ ขณะนั้นใจเรารู้สึกอย่างไร ...ถ้าหลุดบ่อยๆ ก็คงไม่ค่อยดีแล้วต้องรีบทบทวน...

น้องออตมาเชียงใหม่บอกพี่ด้วยนะคะ จะพาไปดูโรงเรียนพี่อึ่ง และไปนั่งคุยยาวๆ กับพี่อึ่งและคุณครู...ดีไหมคะ

  • ซึ่งเมื่อมาประมวลแบบนี้ก็พบว่าตนเองมีใจต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เท่ากัน 
  • ทำไมงานที่เราชอบ  เราทุ่มเท  งานที่เราไม่ชอบก็เลยทำไปแกนๆ  แล้วทำไมเราไม่ชอบทุกๆงานที่เราทำ
  • ทำไมคนที่เรารัก  เราเทใจให้  คนที่เราไม่รัก  เราไม่อยากเข้าใกล้  ไม่อยากคุยด้วย  ไม่อยากทำอะไรให้   ทำไมเราไม่รักทุกๆคนเหมือนกัน
  • อ. สร้อยมาสวนป่า  ล้างจานก็ตั้งใจล้าง  ผ้กผักก็ตั้งใจผัด  เวลาคุยกับน้องๆหรือกลุ่มเฮฮาศาสตร์ก็ตั้งใจคุย  อิอิอิ  ทำอะไรๆก็เหมือนปฏิบัติธรรม
  • สวัสดึค่ะน้องออต
  • มาช้าหน่อยนะคะ
  • พี่ใช้คำว่า "คุณภาพของใจ" เป็นคำกว้างๆ ที่จะชวนให้น้องๆ ได้สังเกตตนเองและสังเกตสรรพสิ่งรอบตัว ด้วยเชื่อว่า การสังเกตที่ละเอียดอ่อน ชัดเจน จะนำไปสู่การเรียนรู้และการเชื่อมโยงความรู้สู่ชีวิต
  • เพราะเป็นคำกว้างๆ จึงสามารถอธิบายได้หลายแง่มุม แล้วแต่จะนำมาใช้ในสถานการณ์ใดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาความรู้ พัฒนาความเข้าใจซึ่งกันและกัน
  • ใจที่พร้อมจะเรียนรู้ ย่อมจะยินดีรับฟังและคิดใคร่ครวญทั้งสิ่งที่เหมือนและแตกต่างจากสิ่งที่เคยรู้มาก่อน
  • ใจที่อ่อนน้อม ย่อมพร้อมจะเรียนรู้จากทุกสรรพสิ่ง
  • ใจที่อ่อนโยน ย่อมมองเห็นคุณค่าของทุกสรรพสิ่ง และพร้อมจะชื่นชมยินดีในความดีงามทั้งของผู้อื่นและของตนเอง
  • ใจที่เพียงพอ ย่อมพร้อมที่จะลดในส่วนของตน เพื่อเพิ่มในส่วนของผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
  • ใจที่เปี่ยมด้วยความรัก ย่อมพร้อมจะให้ พร้อมจะเข้าใจผู้อื่น
  • ใจที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจโลกและชีวิต ย่อมใช้ชีวิตอย่างเกิดประโยชน์และเป็นสุข
  • และอื่นๆ อีกมากมาย
  • พี่มักจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่ล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นเรื่องของ"ใจ" ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้เสมอ
  • เชื่อว่า "ใจ" ที่มีคุณภาพเช่นนี้ สามารถจะเรียนรู้ และ พัฒนาความรู้ได้ไม่รู้จบ และจะเป็นความรู้ที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
  • ซึ่งในความเป็นครู จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจเหล่านี้อย่างมาก จึงใช้คำว่า "คุณภาพของใจ" เป็นถ้อยคำที่อยากนำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
  • เรื่องราวของชีวิต คงยากจะหาคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ หรือมีคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว  คำตอบของพี่จึงเป็นเพียงอีกหนึ่งมุมมองของคนที่ยังอยู่ในระหว่างเส้นทางของการเรียนรู้เท่านั้นค่ะ
  • มาสวนป่าครั้งนี้ พี่ได้รับประสบการณ์ และมีประเด็นการเรียนรู้ที่ยังต้องคิดใคร่ครวญต่ออีกเช่นกัน
  • พี่จะยินดีอย่างยิ่ง หากออตมาเชียงใหม่และได้มาเยียมเยียนกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันค่ะ
  • ขอบคุณออต สำหรับคุณภาพของใจอันงดงามที่พี่สัมผัสได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันที่สวนป่านะคะ
  • ขอบพระคุณทุกข้อคิดเห็นครับ
  • ทุกข้อคิดเห็นล้วนแล้วแต่สร้างมุมมองใหม่ ๆ เติมเต็มมุมมองต่อ ใจ ให้สมบูรณ์ขึ้น
  • จะค้นหาและตรวจสอบ คุณภาพของใจ ตนเองต่อไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท