ชีวิตที่พอเพียง : 176. ปิยวาจา


       คนมักเข้าใจผิด ว่าผมเป็นคนมีปิยวาจา     ซึ่งที่จริงก็ไม่ผิดทั้งหมด มีส่วนถูกอยู่บ้าง       แต่ในส่วนของภรรยา ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดที่สุด  ผมเป็นคนที่บ่อยครั้งวาจาไม่ไพเราะ     แต่วันนี้ผมฝึกตัวเองได้สำเร็จหนึ่งเรื่อง     จึงนำมาบันทึกไว้สอนตนเอง ให้หมั่นปฏิบัติเช่นนี้อีก  

       ที่บ้านผม ทุกคนมีกุญแจบ้านคนละชุด      ตอนเช้ามืด ๔.๓๐ น. ผมออกไปวิ่งออกกำลัง ต้องเอากุญแจติดตัวไปด้วย    

เพราะต้อง ล็อกประตูบ้าน      แต่วันนี้ (๑๓ พย. ๔๙) กุญแจชุดของผมหายไปจากตำแหน่งที่ผมวางไว้ตามปกติ     ผมไปหาในลิ้นชัก และในกระเป๋าก็ไม่พบ     ถามภรรยา เขาบอกว่า ไม่เคยเห็นตั้งแต่เย็นวันศุกร์แล้ว

         ระหว่างวิ่ง ผมทบทวนความจำ ว่าเมื่อวานผมใช้กุญแจและวางไว้ตรงตำแหน่งประจำแน่นอน     แต่ตอน ๑๑ น. ออกจากบ้านไปด้วยกันภรรยาอาจหยิบติดไป เพราะเอาไปใช้     ผมรู้ว่าภรรยาขี้ลืม หยิบของใส่กระเป๋าแล้วลืมบ่อยๆ

         ผมตั้งสติเต็มที่     กลับมาจากวิ่งออกกำลัง ก็บอกภรรยาว่า ลองสำรวจในกระเป๋าได้ไหม     เพราะเมื่อวานเขาออกไปธุระตั้งแต่เช้า ผมอยู่บ้านคนเดียว ผมยังใช้กุญแจอยู่ และวางไว้ตรงที่ปกติข้างประตู     ตอนออกจากบ้านก่อนเที่ยงภรรยาอาจหยิบไปใช้  ผมพูดด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีคำตำหนิ ไม่มีน้ำเสียงแสดงความไม่พอใจ

        ภรรยาตามผมเข้าไปในห้องนอน     ค้นในกระเป๋าถือ     แล้วส่งพวงกุญแจของผมให้และยิ้ม     ผมกล่าวขอบคุณ     วันนี้ทั้งผมและภรรยาจะอารมณ์แจ่มใสทั้งวัน

        ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ผมไร้สติ  ผมก็จะโวยวาย     เมื่อพบผมก็จะตำหนิที่เขาขี้ลืม    ซึ่งจะทำให้ภรรยาอารมณ์เสีย     สมัยยังหนุ่มๆ เราเคยไม่พูดกันทั้งวัน ด้วยเรื่องเล็กๆ ทำนองนี้      น่าขันไหมครับ

        ผมเป็นคนมีโทสาคติเป็นเจ้าเรือน     จึงต้องหมั่นฝึกสติ เพื่อควบคุมโทสะ ที่จะพลุ่งออกมาในรูปแบบต่างๆ     รูปแบบหนึ่งคือวาจาที่ไม่เหมาะสม     กับคนทั่วไป ผมฝึกตัวเองไว้อย่างดี     แต่กับคนใกล้ตัว คนที่เรารักที่สุด     ผมกลับเผลอปล่อยให้ตนเองขาดสติ     แปลกแท้ๆ

วิจารณ์ พานิช
๑๓ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 68300เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

จริงแท้แน่นอนครับอาจารย์  กรณีตอนผมเป็นเด็กเช่นเดียวกันครับ เวลาอยู่กับเพื่อนๆจะพูดดี ทำดี เอาใจใส่เพื่อนมากกว่าพ่อแม่เสียอีก แต่ตอนนี้ไม่แล้วครับ ระลึกอยู่เสมอว่า พ่อแม่ลำบากมาเพื่อเรามากแล้ว แค่คิดดี พูดดี ทำดี กับท่านแค่นี้พ่อแม่ก็น่าจะภูมิใจในตัวเราครับผม

การคิดดี พูดดี ทำดี ผมเชื่อว่าถ้าทำได้กับคนทุกคนที่สนิทสนมหรือไม่รู้จักกันมาก่อน มันเป็นการสร้างความรู้สึก ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากๆเลยครับ ยกตัวอย่างเช่นเวลาผมไปออกกำลังกายที่สนามกีฬากลางจังหวัดพิจิตรทุกตอนเย็น ก็จะได้ยินคำสบถ (ไอ้นู้น ไอ้นี่) มากมาย ในสนามฟุตบอลยิ่งแล้วใหญ่ครับ สารพัดสัตว์ออกจากปากกันทั้งนั้น  คือผมเป็นคนเงียบไม่ค่อยพูด พูดน้อย เวลาพวกผู้ใหญ่ที่เล่นกีฬาด้วยกันด่าผมก็เฉย ไม่ตอบโต้ (ด่าได้ด่าไป) อีกไม่นานผมสังเกตว่าเค้าเริ่มเกรงใจเรา พูดกับเราดีขึ้น ฉะนั้นผมจึงคิดว่า "การตอบโต้ด้วยการเงียบ นิ่งเฉย ใช้การกระทำดีนำทาง นั่นแหล่ะคือชัยชนะต่อสิ่งนั้น" (แต่ใช้ได้ในกรณีที่ผมเจอนะครับ)

(^_________^)

อ่านไปยิ้มไปคะ....

ขอบคุณคะ

กะปุ๋ม

ขอบพระคุณครับ ภาพตัวอย่างเล็กๆ แต่มีความหมายยิ่งใหญ่มาก โลกจะไม่วุ่นวายและจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก ถ้าคนเราต่างมีสติ มีเมตตา เข้าใจเห็นใจ ไม่เพ่งโทษผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่มักเผลอเอาอัตตาตัวตนนำหน้า กล่าวคำตำหนิ ทันทีที่ใครทำอะไรไม่ถูกใจเรา ลึกๆแล้วก็เพื่อเอาชนะคะคาน เพื่อให้เห็นว่าเราเหนือกว่า เขาผิด เราถูก เขาขี้ลืม เราไม่ขี้ลืม สรุปก็ไม่พ้น "ตัวกู" ศัตรูร้ายที่แฝงเร้นอยู่ในตัวเรานั่นเอง แท้จริงการที่พยายามเอาชนะอยู่ในใจดังกล่าวคือการแพ้อย่างหมดรูปนั่นเอง แพ้ใจตนเอง แพ้กิเลส แพ้การหลงมัวเมาในตัวตน ... แต่จากกรณีตัวอย่างเล็กๆของท่านอาจารย์ ผมรู้สึกได้ถึงความงาม ความอิ่มใจ พอใจ ที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำดังกล่าว .. เป็นการชนะที่ยิ่งใหญ่ คือชนะกิเลส ชนะใจตัวเองครับ.

เรียน อาจารย์หมอที่เคารพ

  • การลืมเป็นเรื่องปกติของคนเราทุกคนครับอาจารย์ เนื่องจากการที่สมองของคนเราสั่งงานพร้อมกันหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน และเมื่อใจเราเพ่งไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ก็เลยทำให้เรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงไปไม่ได้ถูกบันทึกใว้ในหน่วยความจำ จึงทำให้เราลืมครับ
  • ดีใจด้วยครับที่อาจารย์พบพวงกุญแจดังกล่าว และพบในบ้านด้วย พร้อมกับการชนะใจตนเองครับ
  • ด้วยความเคารพ

ปิ้งแวป ว่า

สะท้อนคืนตรงๆ ก็ช่วยค่ะ

นั่งอยู่ในรถวันหนึ่ง พ่อขับรถอยู่ ลูกๆนั่งในรถ แม่พูดนิ่มๆ ว่า  "ขอพูดอะไร นิดหนึ่งได้ไหม" ทั้ง 4 คนในรถ นิ่งเงียบกันหมด เตรียม Deep listening

แม่พูดเรียบช้าๆ พยายามไม่ให้มีเสียงตำหนิ ไม่ใส่อารมณ์ 

 "แม่รู้สึกว่า เวลาขออะไรให้ใครช่วยในบ้าน มักจะทำให้ แต่ไม่เต็มที่และไม่ค่อยเต็มใจเท่าขอจาก เพื่อนร่วมงานที่สนิท" 

ทุกคนยังเงียบฟัง "ทำไมคนนอกบ้านถึงช่วยเราเต็มที่ เต็มความสามารถมากกว่าที่เราคาด โดยไม่บ่น ไม่หน้างอ  ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา"

ลูกสาวคนเล็กสบตาแม่ เอื้อมมือมากุมมือแม่ไว้ คนอื่นเงียบไปหลายอึดใจ

ไม่มีการตอบสนองที่เป็นคำพูดค่ะ แต่หลังจากวันนั้น(1 เดือนก่อน)จนถึง วันนี้มีการตอบสนองที่น่าอัศจรรย์ใจ ขออะไร ก็ได้ แบบเต็มใจ และเต็มที่ เกินความคาดหมายบ่อยๆอาการหงุดหงิด หน้างอ หายไปเลย แม่ดีใจที่ได้พูดขอบคุณ ขอบใจโดยรู้สึกดีมากกว่าเดิมไปอีก

ตอนนี้จะเรียนรู้ต่อ โดยอาจลองสะท้อนว่า เดี๋ยวนี้ ขอคนนอกบ้านน้อยลงมาก เพราะขอได้ไม่เต็มที่เท่าคนในบ้าน เป็น Appreciative Inquiry ต่อเนื่อง

ขอบคุณ อวิจารณ์ ทีจับประเด็นได้ตลอดเวลา แม้แต่เรื่องราว ประจำวัน ทำให้คิดทบทวนเรื่องดีๆต่อได้อีก

นับถือค่ะ

รวิวรรณ

    ผมมีดาวอังคาร ( โทสะจริต ) เป็นเจ้าเรือนเช่นกันรู้สึกตัวว่าผิดหลายครั้งหลังที่ได้ใช้คำพูดกระทบคนอื่นโดยเฉพาะกับคนที่เรารัก และมีพระคุณ เคยรู้สึกเสียใจก็หลายครั้ง ตั้งใจจะไม่ทำอีก แต่ก็เผลอตัวขาดสติทำอีกทุกทีโดยเฉพาะกับคนที่ใกล้ชิด การระมัดระวังคำพูดยากขึ้นอีก ได้อ่านตัวอย่างจากอาจารย์ ได้ข้อคิดว่าแม้นดวงชะตาจะกำหนดพื้นฐานให้เราเป็นคนมีโทสะจริต แต่ถ้าตั้งสติให้ได้คิดก่อนพูด ผลลัพธ์คงจบแบบ Happy Ending

 

ดิฉัน กำลังร้องไห้ รู้สึกไม่ดีที่เราทำงานทุกอย่างในบ้าน เหนื่อยทั้งวัน

แต่ถูกว่าด้วยเรื่องขี้ลืม แล้วพอเจอก็กลายเป็นเขาเองที่ลืม ไม่ใช่เราลืม

แต่ก่อนหน้าที่จะเจอ เขาว่าเราไปแล้วเต็มๆ

ซึมเศร้ามากตอนนี้ ทำไมต้องทนด้วย เขาก็มีอะไรไม่ดีเยอะ เราไม่เคยตำหนิเลย ..

แม้เมื่อกี้ที่เขาว่าเรา เราก็เงียบ เงียบ เงียบ ตอนนี้ นั่งร้องไห้ ตี 1.11 แล้ว แต่เขา

หลับไปไม่เหมือนมีอะไรเกิดขึ้น เราเองซิกลับสงสารตัวเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท