การ์ตูนชุดที่ไม่มีเล่มจบ: เรื่องราวของวรรณกรรมที่ผู้ใหญ่อย่างผม "ตกสมัย"


นักเขียนการ์ตูนเหล่านี้เขาบันทึกและบอกเล่าเรื่องราว ทั้งความจริง ทั้งจินตนาการ ความทุกข์ความสุขของชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อม จากสายตาและความคิดของเขาผ่านตัวการ์ตูนตลอดชีวิตทั้งชีวิตของเขาแต่ละคน!!!

เมื่อไม่นานมานี้ ครอบครัวผมทำกิจกรรม "สะสาง" บ้านกัน ด้วยการตัดใจทิ้ง" (บริจาค) เสื้อผ้า รองเท้า ข้าวของเครื่องใช้ ที่แต่ละคนมีอยู่คนละเป็นร้อยชุด อยู่กัน ๕ คน ตู้เสื้อผ้าใหญ่ๆ ๕ ตู้ยัดจนเต็มไม่พอใส่ รองเท้านับรวมกันได้มากกว่า ๕๐คู่ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน <p>เราต้องการจัดบ้านกันใหม่เป็นสไตล์โปร่งๆ โล่งๆ เบาๆ สบายๆ แบบที่เราไปเห็นกันมาตามโรงแรมและรีสอร์ทต่างๆ ซึ่งล้วนดูดีเพราะความโปร่งความโล่ง ไม่มีข้าวของมาก นอกจากนี้ยังจะเป็นการประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปในตัวด้วย เพื่อที่จะให้เราพอประมาณ" (ไม่เกินพอดี) และ "มีเหตุมีผล" (ไม่รู้จะมีมากไปทำไม ทั้งที่ใส่ที่ชอบอยู่ไม่กี่ตัว ไม่กี่คู่) เราช่วยกันคัดช่วยกันขนหนังสือออกมาบริจาคให้ห้องสมุดกันเป็นพันเล่ม </p><p>http://gotoknow.org/file/surachetv/ZingBook.jpg</p><p>ผมสงสัยว่าทำไมลูกชายผมเขาจึงมี Collection การ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ตู้หนึ่งที่เขาจัดอย่างเป็นระเบียบเป็นของรักของหวงมาก การ์ตูนนับร้อยเล่มในตู้นี้ห้ามทิ้งเด็ดขาด ทั้งๆ ที่อ่านหมดแล้ว แสดงว่ามันต้องมีคุณค่ามีความหมายกับชีวิตเขามาก คำอธิบายของเขาทำให้ผมทึ่งจริงๆ โลกของการ์ตูนสมัยป่าป๊าไม่เหมือนสมัยนี้แล้ว" </p><p>ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนแต็งแต็ง และการ์ตูนพีนัท ที่ผมเคยชื่นชอบสมัยเด็ก "การ์ตูนที่ซิงอ่านนี้มันเล่มที่ xxx แล้ว" เขาหยิบเล่มแรกๆ มาชี้ให้ดูปี ค.ศ. ที่แต่ง แล้วหยิบเล่มล่าสุดมาให้ดูว่ามันห่างกันเป็นสิบๆ ปี เขาเริ่มอ่านการ์ตูนนี้ตั้งแต่เล่มแรกออกมาหลังจากที่เขาเริ่มอ่านหนังสือเป็นเมื่อยี่สิบปีก่อน คนเขียนเขาก็ยืนหยัดเขียนเรื่องนี้เรื่องเดียวมาตลอดชีวิต เหมือนเขียนบันทึกประจำวัน (แบบที่เราเขียน g2k เลย) ประมาณสับดาห์หนึ่งจบตอนหนึ่ง ก็พิมพ์เป็นเล่มครั้งหนึ่ง และแฟนการ์ตูนเขาก็มีอยู่ทั่วโลก(อย่างเช่นลูกชายผมคนหนึ่งล่ะ) ก็พร้อมที่จะอ่านไปจนคนเขียนจากโลกนี้ไปโน่นแหละ ถึงตอนนั้นอาจจะเป็นตอนที่ 2000 ก็ได้ และไม่ใช่มีนักเขียนการ์ตูนแบบนี้อยู่คนเดียว มีเป็นกะตั๊กเลย แต่ละคนก็มีแฟนของตัวเอง!!! </p><p>นักเขียนการ์ตูนเหล่านี้เขาบันทึกและบอกเล่าเรื่องราว ทั้งความจริง จินตนาการ  ความทุกข์ความสุขของชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อม จากสายตาและความคิดของเขาผ่านตัวการ์ตูนตลอดชีวิตทั้งชีวิตของเขาแต่ละคน!!!</p><p>เป็นเรื่องราวของวรรณกรรมอีกแบบหนึ่งที่ผู้ใหญ่อย่างผม "ตกสมัย"เขาบอกผมว่า การ์ตูนญี่ปุ่นชุด Evangelian คือแรงบันดาลใจให้เขาเข้าเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ในสาขาแจ็ส จนเขาจบออกมาเป็นนักเปียโนแจ็สอาชีพในขณะนี้ </p><p>เขาบอกว่า "ทาง" ดนตรีเขามีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ใช่แจ็สดิบๆ" แบบอัฟริกันอเมริกัน หรือ "ซอฟท์แจ็ส" แบบยุโรป หรือ "ลาตินแจ็ส" แบบอเมริกาใต้ แต่เป็น "แจ็สการ์ตูน"!!!</p><p>นอกจากเล่นประจำกับวงแจ็สที่โรงแรมพลาซ่าแอททินี่สัปดาห์ละ ๖ คืนแล้ว เขายังเป็นครูสอนเปียโนแจ็สทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนสอนดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่สยามพารากอนทุกวันเสาร์ด้วย</p><p>ผมไม่แปลกใจเรื่องนี้เพราะเคยนั่งดูการ์ตูนชุดเรื่องนี้ทางโทรทัศน์ตั้งแต่เขายังตัวเล็กๆ ทั้งดนตรีและเพลงประกอบทั้งเรื่องล้วนเป็นดนตรีแจ็ส ซึ่งบางเพลงผมก็รู้จัก เช่น Fly Me to the Moon ร้องสไตล์แจ็สโดยนักร้องญี่ปุ่นและก็ทำให้เข้าใจถึงอิทธิพลในทางบวกของการ์ตูน ทำให้พวกเราทั้งบ้านไม่มีใครกล้าทำอะไรกับ "ตู้หนังสือการ์ตูน" ของเขา</p>

หมายเลขบันทึก: 92995เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2007 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ผมติดตามอ่านโคนันอยู่ ป่านนี้ยังไม่จบซะที แต่ก็สนุกดี

มีการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเล่มครับ ที่ยาวเหมือนไม่มีวันจบ

อย่างเช่น ก้าวแรกสู่สังเวียน  , วันพีช (One Piece), นารูโตะ (นินจาคาถา) เป็นต้น

ถ้าการ์ตูนฝรั่งก็ บรรดาฮีโร่ ทั้งหลาย

การ์ตูนไม่มีวันตายจริงๆ ครับ

สวัสดีค่ะ คุณสุรเชษฐ

 โอ้ แจ๊สการ์ตูน น่ารักจังค่ะ ฟังดูมีเอกลักษณ์เฉพาะดี เป็นแบบไหนคะ ---อยากทราบอย่างจริงจังค่ะ

แอนเคยทำโครงการหนึ่งกับเพื่อนนักดนตรีแจ๊สชาวอังกฤษชื่อ Mr. Sean Khan โครงการชื่อ Creating Stage and Screen Performance from the Inspiration of Sound and Music โดยทำ workshop สองวัน วันแรกเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบ sound สำหรับการแสดงต่างๆ วันที่สองเป็น workshop กับนิสิตเอกบัลเลต์ นาฏยศิลป์ไทย และนาฏยศิลป์พื้นบ้าน Mr. Sean เป่าแซ็กโซโฟน แต่เริ่มimprovise ทำนองด้วยเปียนโนก่อน จากนั้นก็เริ่ม improvise กับอาจารย์และนิสิตกลุ่มหนึ่งจากสาขาดุริยางคศิลป์ นิสิตในส่วน dance ก็จะเริ่มใช้ทำนองที่กำลัง improvise นี้ improvise การแสดงส่วนของตน

ในขณะนั้น Mr.Sean บอกว่าดนตรีแจ๊สที่ออกมาเป็นแนวแอฟริกัน แอนก็เลยพยามนึกตามที่คุณสุรเชษฐเล่าให้ฟังว่าแจ๊สการ์ตูนน่าจะเป็นแบบไหน จะแบบสนุกสนานสไตล์ Disney หรือเปล่า ไม่ได้แปลว่าเด็กๆนะคะ หมายถึงสดชื่น แจ่มใส มีเมโลดี้สไตล์แบบนั้นหรือเปล่า

 ส่วนการ์ตูนนั้น แอนก็อ่าน Tin Tin ค่ะ มีอยู่ไม่กี่เล่มอ่านแล้วอ่านอีก ตอนนี้ก็ยังจำภาพได้อยู่เลยค่ะ เพราะจะชอบเก็บการ์ตูนสีเป็นพิเศษ แล้วก็โดเรมอนฉบับที่ออกมาต่อๆกันเยอะ โคนัน เจ้าหนูซูชิ ไม่ทิ้งเหมือนกันค่ะ แต่ยกเป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง ให้น้องซึ่งเกิดทีหลังไป  :)

การ์ตูน เป็นรากฐานของชีวิต (ตั้งชื่อให้เป็นวิชาการ)

เคยดู อิ๊กคิวซัง เป็นการ์ตูนแก๊งค์เด็กแนว ที่ทุกคนโกนหัวหมด อาศัยด้วยกันอย่างเศณษฐกิจพอเพียง แต่โดนโชกุนกับพ่อค้าหน้าเลือดคอยหาเรื่องเป็นประจำ

ผมประยุกต์ใช้ประโยชน์ทุกวันนี้ นั่นคือ ทุกครั้งที่มีปัญหา ต้องใช้ปัญญาแก้ บางทีก่อนแก้ปัญหา ต้องทำใจให้สงบนิ่ง จดจ่อ(แต่ไม่จับเจ่า)ก่อน นั่นคือ ทำสมาธิ หลักมีแค่นี้ แต่ใช้ประยุกต์ได้ไม่รู้จบ

 แต่เพื่อนๆ ผมนี่สิ มีปัญหาทีไร ใช้สุรากับยาคลายเครียดแก้ ผมว่าไม่ดี แต่ก็ปล่อยๆ ไป ห้ามคงยาก คำว่า ลด-ละ-เลิก อาจต้องใช้เวลานานหลายสิบปี ก่อนนะผ่านกระโหลกเข้าไปในสมองได้

สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ

แจ๊สการ์ตูน ! เท่ห์มากเลยค่ะ

เบิร์ดก็อ่านการ์ตูนคนหนึ่งเหมือนกัน..แต่เป็นพวกไม่เป็นโล้เป็นพายค่ะ อ่านได้ทุกเรื่องที่อยากอ่านแต่ไม่ต่อเนื่องก็เลยไม่สามารถเอาดีทางด้านนี้ได้

ขอบคุณค่ะที่ทำให้รู้จักแจ๊สการ์ตูน..ชอบจริงๆ

คุณแอน
P ครับ
  • เรื่องแจ็สการ์ตูนเป็นแบบไหน ที่คุณแอน "อยากรู้จริงๆ" นั้น ผมจะขอให้ลูกชายอธิบายให้ดีกว่านะครับ เพราะผมก็ไม่ลึกซึ้งเท่าเขา เท่าที่ผมเข้าใจนะครับ ถ้าอาจารย์เคยฟังดนตรีแจ็สสไตล์ญี่ปุ่น หรือเคยดูการ์ตูนเรื่องเอวันเจเลียน ที่ใช้ดนตรีประเภทนี้ประกอบ (ตอนนี้ได้ข่าวว่าเขาเอาลงแผ่นดีวีดีแล้ว ๑๓ แผ่น) ก็คงมีทั้งสดชื่น แจ่มใส เศร้า หดหู่ และฮึกห้าวเหิมหาญ ตามเนื้อหาของเรื่องแหละครับ เพราะเป็นเรื่องของนักรบ  อย่างไรก็ตามโปรดอดใจนิดนึงครับ อยู่บ้านเดียวกันแต่ไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะเขาเลิกงานถึงบ้านตีหนึ่ง ผมนอนแล้ว เช้าผมก็ออกจากบ้านตั้งแต่เขายังไม่ตื่น ตอนเย็นผมกลับถึงบ้านเขาก็ออกไปทำงานแล้ว
  • เรื่อง workshop ที่คุณแอนเล่าน่าสนใจมากเลยครับ นักศึกษาเขาสามารถด้น(improvise) ท่าเต้นได้สดๆ กับดนตรีที่ด้นสดแบบแจ็สนอกจากต้องมีพื้นฐานเรื่องการเต้นเรื่องการฟัง(ดนตรี)อย่างลึกซึ้งแล้ว คงต้องฝึกตัวเองให้ทำอะไรที่ผ่าน "ใจ" ออกมาเป็น "การกระทำ" กันน่าดูเลยนะครับ ลูกชายผมเคยบอกว่าสิ่งที่นักดนตรีแจ็สต้องการมากที่สุดคือ "แรงบรรดาลใจ" ถึงจะ "ด้น" ออกมาได้ดี เพลงหนึ่งจะเล่นไม่กี่นาทีจบหรือจะให้เป็นชั่วโมงก็ได้ ผมว่าถ้าคุณแอนได้อัดวิดีโอไว้และนักเรียนตามโรงเรียนได้ดู คงจะ inspire พวกเขาให้มีดนตรีในหัวใจ (music appreciation) นี่ผมก็ "พูดจริงๆ" นะครับ ผมอยากให้เยาวชนได้เห็นได้ยินได้ฟังเรื่องแบบนี้ ถ้าคุณแอนอัดวิดีโอไว้ และอยากลองอย่างที่ผมว่ากับโรงเรียนในจังหวัดที่ตั้งมหาวิทยาลัยสักจำนวนหนึ่ง ผมจะช่วยสมทบทุนค่าแผ่น
  • วันก่อนเพื่อนบ้านผม ลูกชายเขาเรียนปริญญาโทดนตรีอยู่ที่เยอรมัน ส่ง DVD บันทึกการแสดงของนักเรียนทั้งเด็กเล็กเด็กโตหลายร้อยคน เต้นประกอบดนตรีที่เล่นโดยวงออเคสตรา ทั้งไพเราะทั้งสวยงามมากเลยครับ ชุดที่เขาใส่กันก็เรียบง่าย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษด้วย สิ่งเหล่านี้เยาวชนไทยเราไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เพราะมันไม่ใช่ดนตรีหรือการแสดงในเชิงพาณิชย์ที่ทำเพื่อขายโดยค่ายเพลง
  • การ์ตูนแต็งแต็ง (ออกเสียงตามต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส) และพีนัท ผมก็ยกให้ลูกหลานไปหมดแล้วเหมือนกันครับ จำได้ว่าเก็บไว้แต่หนังสือ ชื่อ โลกการ์ตูนของพีนัท ที่เขียนโดยพรพิไล เลิศวิชา ซึ่งวิเคราะห์งานการ์ตูนชิ้นนี้ในเชิงวิชาการไว้ดีมาก
  • ยินดีครับที่ได้คุยกันในบล็อก G2K

คุณ
bunpot
P เมื่อ ส. 28 เม.ย. 2550 @ 02:02 ครับ

คลิกตามลิงก์ก้าวแรกสู่สังเวียน ของคุณ bunpot เข้าไปดูแล้วครับ

"แม้เส้นทางสู่การเป็นนักมวยของ มาคุโนอุจิ อิปโป จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่อย่างน้อยอิปโปก็รู้แล้วว่าสิ่งที่ตนเองรักและต้องการที่จะทำที่สุดนั้น ไม่มีอย่างอื่นอีกแล้วนอกจาก มวย"

ประทับใจครับ เป็นเรื่องของคนที่ "ค้นพบฝันของตัวเอง" และมีมานะพยายามเพื่อบรรลุความฝัน

เมื่อเช้านี้ผมอ่านหนังสือพิมพ์มติชน มีบทความของบัณฑิต อึ๊งรังษี (คนไทยที่ประสบความสำเร็จ เป็น Conductor ของวงซิมโฟนีออเคสตราระดับโลก) ชื่อ Dare to Dream ความกล้าที่จะฝัน ยกคำพูดของเกอเธ่ (กวีที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมัน แบบเดียวกับสุนทรภู่ของบ้านเรา) มาโปรยนำว่า "Whenever you do, or dream you can, begin it." ในบทความมีข้อความหลายอันที่ผมอดจดไว้ไม่ได้ เช่น

  • "ในโลกนี้ไม่มีคนขี้เกียจหรอก มีแต่คนที่ยังหาความฝันที่แท้จริงของตนเองยังไม่เจอเท่านั้นเอง" ผมก็เลยคิดต่อว่า ในฐานะที่เราเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือลุงป้าน้าอา หรือครูบาอาจารย์ของใคร หน้าที่หนึ่งของเราคือ ช่วยให้ลูกหลานหรือลูกศิษย์หาความฝันของแต่ละคนให้เจอ ไม่ใช่คอยด่าว่าเขาขี้เกียจ
  • "ประเด็นใหญ่ในบทความนี้ไม่ได้อยู่ที่คำว่า ฝัน แต่อยู่ที่คำว่า กล้า"
  • "มีเหตุผลหลายประการที่คนไม่กล้าฝัน ...กลัวความผิดหวัง ...ข้อแก้ตัวสารพัด ...ผมแก่เกินไป หนูเด็กเกินไป ผมไม่หล่อ บ้านผมไม่รวย ไม่มีเส้น ข้อแก้ตัวเหล่านี้มีคนเอาชนะมาแล้ว เด็กหนุ่มอเมริกันคนหนึ่งเกิดมาไม่มีแขนไม่มีขาเลย แต่สามารถเอาชนะข้อจำกัดทุกอย่าง เป็นนักกีฬามวยปล้ำที่เป็นเลิศ เอาชนะคนที่มีแขนมีขาครบและตัวใหญ่กว่าด้วยซ้ำ ถ้าคนอย่างเขาทำได้ ผมไม่คิดว่าคนส่วนใหญ่มีข้อแก้ตัวอะไรอีก"
  • "การที่คุณตั้งเป้าไว้ที่ดวงดาว แต่ไปได้แค่ภูเขา ก็ยังดีกว่าที่พื้นดินตอนนี้มากมายนัก ก็ไม่ได้เรียกว่าเป็นความล้มเหลวเลยด้วยซ้ำ"
  • "สิ่งเดียวที่ผมมี ที่ช่วยให้ความสามารถอย่างอื่นตามมา ก็คือความกล้าที่จะฝัน"
  • "เมื่อใดที่เราแค่กล้าเดินตามความฝัน ความสามารถต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้ว่าเราเคยมี ก็ปรากฏออกมาเอง"
  • "ทุกอย่างเริ่มต้นจากความกล้าฝันและกล้าลงมือทำ เท่านั้นเอง" 

คนอื่นพูดคำเหล่านี้อาจไม่น่าเชื่อถือเท่าคุณบัณฑิตที่เขียนจากประสบการณ์ความสำเร็จของตัวเอง

เขาเป็นคนไทยไม่กี่คนที่ไปยืนอยู่ในเวทีอินเตอร์ได้ขนาดนั้น เท่าที่ผมนึกออกมีคนเอเชียไม่กี่คนที่ได้รับการยอมรับให้กำกับการแสดงดนตรีของวงออเคสตราระดับโลก มีเกาหลีคนหนึ่ง ญี่ปุ่นคนหนึ่ง และอินเดียอีกคนหนึ่ง ตอนนี้มีคนไทยแจ้งเกิดแล้ว คือ คุณบัณฑิต

ยินดีที่ได้รู้จักครับ คุณ bunpot

คุณ pra.cha ครับ

  • ผมเองก็พยายามอยู่ทุกวันครับกับการ "จดจ่อ" เพราะผม "วอกแวก" ง่าย
  • ผมก็ดูอี๊คิวซังมาเหมือนกันครับ ยังชอบตุ๊กตาผ้าเช็ดหน้าที่อี๊คิวซังแขวนไว้ดูต่างหน้าแม่ รวมทั้งท่าเอานิ้วชี้เคาะกะโหลกตัวเองเพื่อใช้ความคิด และท่านั่งสมาธิ
  • สถานีโทรทัศน์บ้านเราน่าจะเอาการ์ตูนเรื่องนี้ออกมาฉายให้เด็กบ้านเราได้ดูใหม่นะครับ
คุณ
เบิร์ด  
P ครับ
  • ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่มานี้ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือการ์ตูน และทั้งไม่ได้ดูการ์ตูนโทรทัศน์อย่างสมัยเด็กมากนัก เว้นแต่ที่เกี่ยวกับงาน ที่ผมยังดูและขาดไม่ได้อยู่ก็คือภาพยนตร์การ์ตูนที่เป็นหนังโรง ที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี เช่น Pinocchio, Beauty and the Beast (โฉมงามกับเจ้าชายอสูร), Lion King, Pocahontas, Mulan, Ant, A Bug's Life, Ice Age ฯลฯ
  • การ์ตูนที่เข้าฉายโรงพวกนี้ ลงทุนสูงจึงออกมาดีมาก เพลงเพราะมาก ภาพก็สวยงาม ทั้งการสร้าง(วาดฉาก) และตัวละคร ผมยังจำติดตาฉากเต้นรำของหุ่มไม้พินน็อกคิโอ, ฉากเต้นรำในห้องโถงของเบลล์กับเจ้าชายอสูรในเรื่อง Beauty and the Beast, ฉากที่ลิงอาวุโสชูลูกสิงโตตัวน้อยขึ้นสุดแขนให้สัตว์อื่นๆ ที่มาชุมนุมกันอยู่หน้าชะง่อนหินในหุบเขาราชันต์ในวันที่ซิมบาเกิด ฉากนี้สุดยอดที่สุด(ในความคิดผม) ตั้งแต่มนุษย์เราทำหนังการ์ตูน(ฉายโรง)กันมา
  • ผมชอบการ์ตูนที่วาดด้วยมือมีเส้นขอบ(outline) แบบดั้งเดิมอย่าง Lion King หรือ Beauty and the Beast นี้ มากกว่าการ์ตูนที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์อย่างเช่น Toy Story หรือ A Bug's Life แต่ไม่ได้ไม่ชอบนะ เพียงแต่ชอบน้อยกว่า
  • เขียนไปเขียนมา นึกขึ้นมาได้ว่าบ้านเราไม่ค่อยได้เห็นภาพยนตร์การ์ตูนเคลื่อนไหว(อนิเมชั่น)ที่สร้างโดยคนไทยที่เป็นหนังโรงเท่าไร ตั้งแต่ตั้งประเทศมาน่าจะมีประมาณ ๕ เรื่องได้กระมัง เรื่องที่ผมจำได้เรื่องแรกที่คนไทยและฉายโรงคือการ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์เรื่องหนุมาณ(ถ้าจำชื่อเรื่องไม่ผิด) แล้วก็มีสุดสาคร (ที่อาจาย์ประยุทธ ปรมาจารย์ด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวเป็นคนทำ) จากนั้นก็หายไปหลายสิบปี จนกระทั่งมามีเรื่องปังปอนด์ และเรื่องก้านกล้วยที่ทำกับคอมพิวเตอร์ ส่วนการ์ตูนทีวีที่วาดด้วยมือก็มีเห็นเนืองๆ แต่ที่ครองเวลาในโทรทัศน์ช่วงรายการเด็กเกือบร้อยเปอร์เซ็นก็ยังเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น (ส่วนที่เป็นหนังโรงฝรั่งครอง)
  • คำถามครับ (แต่ไม่ได้ถามคุณเบิร์ดหรอกครับ คิดขึ้นมาแล้วนิ้วพาไป) ถ้าการ์ตูนดีๆ มีอิทธิพลต่อความฝันและความกล้าของเด็กและเยาวชนแล้ว ทำไมประเทศนี้จึงมีคนน้อยมากที่สนใสสร้างสรรค์งานประเภทนี้?

การ์ตูนที่ลูกชายอาจารย์อ่านชื่อเรื่องว่าอะไรครับ

เดี๋ยวว่างๆ ผมจะไปลองหามาอ่านบ้าง

P
bunpot เมื่อ อ. 29 เม.ย. 2550 @ 23:30
ตัวเขาไม่อยู่บ้าน ผมดูที่ตู้เห็นมีหลายเรื่อง เช่น โดราเอมอน (เยอะมากที่สุดเลย) ขุนศึกสะท้านปฐพี นินจาคาถา ล่าข้ามศตวรรษ Vagabond ฯลฯ

สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ

คำถามนี้เป็นคำถามแจ็คพอตได้เลยนะคะ

" ถ้าการ์ตูนดีๆ มีอิทธิพลต่อความฝันและความกล้าของเด็กและเยาวชนแล้ว ทำไมประเทศนี้จึงมีคนน้อยมากที่สนใจสร้างสรรค์งานประเภทนี้? "

เอาทีละเรื่องเลยนะคะ ...

ในแง่การลงทุน  ถ้าเป็นหนังเบิร์ดมองว่าตลาดไม่กว้างพอ..เจ้าของค่ายหนังจึงไม่ค่อยยอมลงทุนให้..หนังการ์ตูนในไทยเท่าที่จำได้ก็มีไม่กี่เรื่องและที่ประสบความสำเร็จรู้สึกจะมีก้านกล้วย..กับหนุมานล่ะมั้งคะ  สุดสาครก็หายไปเค้าอาจดูว่ามันไม่คุ้มทุน..สู้พวกหอแต๋วแตกไม่ได้ !

ในแง่ความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการ...

ด้านการผลิต...เรามักทำการ์ตูนในแนวเดิมๆ เช่นขายหัวเราะ จี้เส้น มีน้อยที่จะคิดรายละเอียดของเรื่องแบบ Lion King ...Beauty and the beast..คือเค้าเอานิทานมาทำจริงแต่รายละเอียดที่ใส่เข้าไปทำให้ภาพมีชีวิต มีมุมที่มีชีวิตดูน่ารัก น่าสนใจ   ( แต่ก้านกล้วยของเราก็ทำได้ดีค่ะ..นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าคนไทยถ้าจะทำให้ดีก็ทำได้ )..หรือแฝงแง่คิดแบบโดเรมอน..เณรน้อยเจ้าปัญญา..โคนัน..ก้าวแรกสู่สังเวียน.. รินตินติน  ฯลฯ ที่แฝงแง่คิด กระตุ้นให้เกิดพลังฝัน..เป็นตัวอย่างที่ดี..ถ้าเราก้าวออกจากบล็อกเดิมๆที่เราเคยผลิตได้ก็น่าจะดีค่ะ ( มีการ์ตูนธรรมะน่ารักๆอยู่ทางช่อง 3 ช่อง 7 เหมือนกันค่ะแต่น้อย )

ด้านวัตถุดิบ..คนไทยส่วนมากไม่ค่อยกล้าฝัน  กล้าจินตนาการน่ะค่ะ..เราเป็นประเภทยอมตาม ไม่กล้าเสี่ยง  ชอบที่เป็นสำเร็จรูปมากกว่าก็เลยเดินตามทางเดิมๆ ที่คุ้นเคยหรือมีคนเดินก่อนหน้าแล้ว เค้าถึงว่าเราเป็น C & D...Copy & Develop ซึ่งคุณธรรมาวุธบอกว่าเป็น C & P ...Copy & Paste มากกว่า ( หนักกว่าเดิมอีก ^ ^ )

ในด้านการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ

เราปากว่าตาขยิบค่ะ..บอกว่าจะส่งเสริมเรื่องดีๆให้เด็กๆดู แต่เวลาไพร์มไทม์กลายเป็นละคร..การ์ตูนดีๆมีน้อยถ้าเทียบเป็นเปอร์เซนต์รู้สึกว่าจะน้อยกว่าหนึ่งอีกนะคะ..

เราไม่เชื่อในคนไทยด้วยกัน..มักเห็นว่าของที่อื่นดีกว่า ( ซึ่งจริงๆคนผลิตก็ไม่ค่อยเชื่อในตัวเองเหมือนกัน )

จริงๆคนไทยเก่งค่ะ..ทำได้และทำได้ดีด้วยถ้าจะทำและได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง..แต่รู้สึกว่าเป็นเงื่อนไขที่เหมือนติดปลักยังไงก็ไม่ทราบค่ะอาจารย์

การ์ตูน  หนัง เป็นโมเดลที่ดีให้เด็กๆได้เดินตาม และสร้างความเป็นชาตินิยมได้เป็นอย่างดี..อเมริกาปลูกความเชื่อให้คนในชาติและคนทั้งโลกเชื่อว่าอเมริกาคือฮีโร่ก็ผ่านหนังฮอลลีวู้ด..รัฐบาลเค้าส่งเสริมมากนะคะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์..แต่เราล่ะคะ..ดูแล้ววังเวงจัง

แล้วอาจารย์ล่ะคะมีความเห็นอย่างไรบ้างคะกับประเด็นนี้..

ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับคำถามที่ทำให้เบิร์ดได้มาบ่นงึมงำให้อาจารย์ฟัง

 

 

คุณ  P pinkyannie ครับ

วันนี้ได้ถามลูกชายให้แล้วครับ ข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างล่างนี้เป็นคำอธิบายของเขาครับ

"การ์ตูนอนิเมชั่นของญี่ปุ่นจำนวนมากใช้เสียงแบบแจ็สประกอบในเรื่อง แต่จะเป็นลักษณะเฉพาะแบบญี่ปุ่น ประมาณเสียง "กาโม่" ที่จะมีเสียงสูงๆ สอดขึ้นมาเป็นระยะ ถ้าเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนี้จะนึกออก แนะนำให้ฟัง Original SoundTrack ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น เช่น Chobit, R.O.D, Rahxephone, Evangelian  ฟังแล้วจะสัมผัสได้ทันทีว่าสำเนียงเป็นเอเชีย มีกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก โดยเฉพาะการออเคสเตรชั่นของเครื่องสาย ซึ่งเด่นมากๆ เรียกว่าลอยออกมาเลย ในดนตรีญี่ปุ่นดั้งเดิมก็ใช้เครื่องสายมาก เสียงของเครืองสายจะไหลขึ้นไหลลงสอดประสานอยู่ตลอดเวลา ความเด่นของออเคสเตรชั่นแบบนี้ฟังแล้วจะรู้ทันทีว่าไม่ใช่ดนตรีที่ทำโดยนักดนตรีตะวันตก ลายของเครื่องสายจะพริ้วไหว ต่อเนื่อง และสวยงามมาก"

ผมขอให้เขาช่วยเลือกเพลงจากซีดีซาวน์แทร็กสักแผ่นมา rip เป็นท่อนสั้นๆ ประมาณสักครึ่งนาที (เอาทั้งเพลงไม่ได้เพราะจะมีปัญหาลิขสิทธิ์ เจตนาเพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา) เพราะบางทีฟังแล้วไม่ต้องอธิบายอะไรเลยก็ได้ เขาเลือกเพลงบรรเลงเพลงหนึ่งจากออริจินัล ซาวน์แทร็กของการ์ตูนเรื่อง R.O.D และอีกเพลงที่มีคำร้องด้วยจากการ์ตูน Evangelian คือ Fly Me to the Moon แต่ผม upload ขึ้นเฉพาะอันแรกเพราะมีขนาดเล็กดี ถ้าคุณแอนอยากลองฟังอันหลัง ผมจะ attach file ไปกับอีเมล์ ลองคลิกฟังดูนะครับ http://gotoknow.org/file/surachetv/OrchestrationCartoonJazz.mp3

วันนี้ได้นั่งคุยยาวๆ กับเขาหน้าเปียโน ก่อนเขาออกไปทำงาน ได้ความรู้เรื่องดนตรีแจ็สเพิ่มขึ้นอีกเยอะ เล่าไปก็เล่นเป็นท่อนสั้นๆ เปรียบเทียบการเล่นแบบดิบๆ แบบป็อป แบบการ์ตูน ประกอบการเล่าไปด้วย

ในทัศนะของเขา ก็ยังเห็นว่าดนตรีคลาสสิกของตะวันตกยังเป็นตนตรีที่ยิ่งใหญ่ไร้เทียมทาน นักศึกษาดนตรีจะเรียนสาขาอะไรก็แล้วแต่ต้องมีพื้นฐานคลาสสิกจึงจะไปได้ไกล ส่วนแจ็สเป็นเพียงอะไรเล็กๆ แต่สวยงาม เขาบอกว่านักดนตรีแจ็สคือคนที่เล่นให้เสียงดนตรีมี "surprise" สร้างความประหลาดใจให้คนฟัง บ้านเรายังมีนักเปียโนแจ็สอาชีพที่เป็นคนไทยอยู่เพียงไม่กี่คน และก็รู้จักกันเกือบหมด มันขาดแคลนขนาดเขาต้องทำงานตั้งแต่เข้าเรียนปี ๑ รุ่นเขามีเขาคนเดียวที่เรียนเปียโนแจ็ส รุ่นพี่ก็ปีละคน พอจบปุ๊บมหาวิทยาลัยก็จะเชิญเป็นอาจารย์สอนรุ่นน้องต่อ แต่รุ่นหลังๆ เริ่มมากขึ้น และก็เก่งขึ้นด้วย เขาเองอยากไปทำงานหาประสบการณ์และเรียนต่อในสาขานี้ที่อเมริกา อันเป็นแหล่งกำเนิดของแจ็ส

ที่สาขาดุริยางคศิลป์ของอาจารย์มีเอกอะไรบ้างครับ?

P
เบิร์ด เมื่อ จ. 30 เม.ย. 2550 @ 21:22

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • นอกจากเรื่อง ทุน ความคิดสร้างสรรค์ และการสนับสนุนจากรัฐ ที่คุณเบิร์ดว่ามาแล้ว ไม่ทราบว่ายังเกี่ยวกับผู้บริโภคสื่อด้วยหรือเปล่า 
  • คำว่า "หอแต๋วแตก" ที่คุณเบิร์ดเขียน กระตุกต่อมคิดผม ทั้งที่ผมไม่เข้าใจว่าคืออะไรกันแน่ เดาเอาว่าถ้าไม่เป็น "ชื่อ" ละครทีวี ก็เป็น "ประเภท" ของละครทีวี ที่ rating สูง
  • เคยอ่านคำแถลงของรัฐมนตรีวัฒนธรรมของจีนแผ่นดินใหญ่ในที่ประชุมสภาประชาชนหรือที่ประชุมอะไรสักอย่าง ที่เขาวิเคราะห์วรรณกรรมและสื่อทั้งของจีนและสากล เมื่อนานมาแล้ว(ยี่สิบกว่าปีได้กระมัง) แต่ไม่รู้ทำไมแนวคิดของเขายังจำติดหัวอยู่จนถึงทุกวันนี้
  •  เขาบอกว่า วรรณกรรม ละคร ภาพยนตร์ ต่างๆ เหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์ของคนในท้องถิ่นหรือประเทศนั้น
  • ผมจำไม่ได้ว่ายี่สิบสามสิปปีที่แล้วมีละครหรือมีหนังอะไรในจีน ในอเมริกา ในยุโรป ในญี่ปุ่น ในไทยบ้าง (ใครอยากรู้คงต้องเข้าไปดูเว็บไซต์การประกวดภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส ย้อนหลัง) แต่พอนึกได้ว่า หากเป็นสักสี่สิบปีที่แล้วที่ผมยังเด็กๆ อยู่อเมริกามีหนังคาวบอย คนขาวดวลปืนกันเองกลางถนน และชวนกันขี่ม้าไล่ยิงอินเดียนแดง (ถ้าใครมาสร้างหนังแบบนี้ในตอนนี้อาจถูกนักสิทธิมนุษยชนประท้วง)  หลังจากนั้นก็มี Rambo ซึ่งถ้าสร้างออกมาตอนนี้ไม่รู้จะมีคนดูหรือเปล่า หมดยุค Rambo ก็มี Terminator ซึ่งเน้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์-หุ่นยนต์เท่าที่คนเขียนบทจะจินตนาการขึ้นมาได้ เรียกว่าเป็นตัวแทนของโลกทัศน์ "ทันสมัย" แบบ peak สุดๆ เลย ก่อนที่จะปรากฏหนังแบบ Matrix ที่มีกลิ่นไอของวิธีคิดแบบ "หลังยุคทันสมัย" หรือ "หลังสมัยใหม่" (post modern) เข้ามาผสมผสาน แต่ก็ใช่ว่าโลกทัศน์ของอเมริกันชนรวมทั้งยุโรปซึ่งเป็นโลกตะวันตกจะเปลี่ยนเป็นแบบหลังสมัยใหม่ กระแสหลักยังคงเป็น "สมัยใหม่"
  • หันมาดูละครทีวีไทย (ซึ่งจะว่าไปแล้วผมไม่เคยดูเป็นเรื่องเป็นราว) ก็พอคิดได้ว่าละครแบบ "หอแต๋วแตก" ถ้ามี rating สูงกว่า "ก้านกล้วย" ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับคุณเบิร์ด

 

เขียนถึงตรงนี้อยากเขียน short note เชิงวิชาการที่นึกขึ้นมาได้ตอนนี้หน่อยหนึ่ง คุณเบิร์ดไม่ต้องอ่านได้นะครับ อยากโน๊ตความคิดที่เกิดขึ้นไว้อ่านเองเท่านั้นครับ (ขอใช้พื้นที่ - อ้าว จริงๆ แล้วก็ยังอยู่ในบล็อกผมนี่ครับ ผมจะบันทึกอะไรไว้ตรงไหน ก็น่าจะได้)

Note :

  1. พูดถึงคำว่า "สมัย" ย่อมเกี่ยวพันกับ "ช่วงเวลา" เมื่อมี "สมัยใหม่" "หลังสมัยใหม่" ก็ต้องมี "ก่อนสมัยใหม่" มาก่อน ก่อนสมัยใหม่ยังแบ่งย่อยเป็น "สมัยกลาง" และ "สมัยโบราณ" ซึ่ง "ก่อนสมัยใหม่" ก็คือก่อนการกำเนิดของวิทยาศาสตร์ (กาลิเลโอ - บิดาแห่งวิทยาศาสตร์) ที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของโลกตะวันตก โลกแบนเป็นโลกกลม โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล ดวงอาทิตย์ต่างหาก ถอยหลังไปอีกผ่านยุคเทวศาสตร์รุ่งเรือง(สมัยกลาง) อ้อ ก่อนสมัยใหม่ยังมีเรอแนซองค์(ยุคฟื้นฟู - ฟื้นฟูอะไร?) มาคั่นก่อนขึ้นสมัยใหม่หน่อยหนึ่ง ไล่ไปจนถึงสมัยกรีกโบราณ ที่มีอริสโตเติลศิษย์ของเพลโตซึ่งเป็นศิษย์ของโสกราตีสอีกที
  2. ไทยเราไม่แน่ว่าพัฒนาการของสังคมจะเทียบเคียงกับตะวันตกได้หรือไม่ และเราเป็นสมัยไหนหากจำแนกตามข้อ ๑. (เกณฑ์ของตะวันตก) เพราะเรามีทั้งดิสโก้เทค,  NECTEC, BIOTEC, NANOTEC, และเครื่องรางของขลังที่บูมสุดๆ อยู่ร่วมสมัยกัน อ.ไชยันต์ ไชยพร (รัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ตั้งคำถามใน นสพ.สยามรัฐ ว่า ของเราจะข้ามไปเป็นหลังสมัยใหม่ได้ไหมโดยไม่ต้องเป็นสมัยใหม่ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีคำตอบ นักวิชาการสังคมศาสตร์ของไทยก็ยังมี่ความเห็นไม่เป็นเอกภาพกันว่า สังคมไทยเป็นสม้ยใหม่ หรือว่าก่อนสมัยใหม่ หรือโบราณ ถ้าเป็นสมัยใหม่ เราเป็นสมัยใหม่โดยถูกอิทธิพลโลกาภิวัฒน์บังคับ แต่สมาชิกของสังคมเราส่วนใหญ่ยังมีโลกทัศน์แบบโบราณอยู่ หรือว่าจริงๆ แล้วเราเป็นสังคมโบราณที่มีสมาชิกที่เป็นสมัยใหม่อาศัยอยู่มาก ทั้งคนสมัยใหม่และคนโบราณอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน อันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทย ที่เปิดรับทุกอย่าง ทั้งคนสมัยใหม่ ก่อนสมัยใหม่ และสมัยเก่า ต่างใช้ "มือถือ" อันเป็นเครื่องมือสื่อสารของสมัยใหม่คุยกันได้ คุณยายนุ่งโจงกระเบนก็คุยมือถือไปเคี้ยวหมากไปได้

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์สุรเชษฐ

 ตามเข้าไปฟังใน file ที่อาจารย์กรุณา upload ไว้ให้ ขอบคุณมากนะคะ ได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้นมากเลยค่ะ แอนจะขอนำความรู้เรื่องนี้ไปแชร์นี้กับนิสิต และอาจารย์ที่คณะฯนะคะ เพราะน่าสนใจมาก

 อย่างแอนเอง โดยส่วนตัวเวลาเรียน Costume Design อาจารย์ผู้สอน(อาจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์)มักจะ comment ว่า สี รูปแบบ และลักษณะงานของแอนจะคล้ายการ์ตูน Disney ซึ่งก็เป็นไปได้มากทีเดียวว่าแอนอาจจะได้รับอิทธิพลจากความชื่นชอบ Character ของตัวการ์ตูน Disney

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาดุริยางคศิลป์ แบ่งออกเป็น ดุริยางคศิลป์ไทย ดุริยางคศิลป์พื้นบ้าน ดุริยางคศิลป์ตะวันออก และดุริยางคศิลป์ตะวันตก ค่ะ http://www.music.msu.ac.th/web

นิสิตของสาขาวิชานี้ ใช้ได้เลยทีเดียวค่ะ แอนเคยชมการแสดง เห็นการสอนและฝึกซ้อมของอาจารย์และนิสิตสาขานี้ คิดว่าเป็นสาขาพัฒนา ขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเลยค่ะ มีโรงเรียนสอนดนตรีสำหรับนักเรียนมัธยมที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อ อยากทดลองเรียนก่อนล่วงหน้าเพื่อจะได้ค้นหาความถนัด หรือ เพื่อเสริมทักษะด้านดนตรี

นิสิตที่นี่มักมีโอกาสได้ร่วมแสดงในงานต่างๆ ทั้งในลักษณะการแสดงเพื่อสอบ การแสดงภายใน-ภายนอกมหาวิทยาลัยในลักษณะการบริการทางวิชาการและการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการรับงานแสดงในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นการหารายได้พิเศษนอกเวลาเรียนค่ะ ซึ่งก็จะได้ทดลองทำงานแสดงฝีมือกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลย

ในขณะที่แอนทำโครงการก็ได้ความร่วมมือจากสาขาดุริยางคศิลป์ มาทำ workshop ด้วยกัน ซึ่งสนุกมากค่ะ เพราะทั้งนักแสดงและนักดนตรีก็เริ่มจากศูนย์ พัฒนางานไปพร้อมๆกัน จนออกมาเป็นชุดการแสดง

แอนลองใช้เทคนิค improvisation กับนิสิตที่เอกนาฏยศิลป์ค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการสอน basic acting ให้นิสิต dance  โดยแอนพยามจะนำดนตรีซึ่งเป็นสื่อที่นิสิตคุ้นเคยมากกว่าบทละคร เอามาเชื่อมโยงให้นิสิตได้ทดลองหาความหมายของการ improvise ด้วยตัวเอง เป็นการลองเล่นกับสถานการณ์เฉพาะหน้า ปล่อยให้ร่างกายเกิด reaction กับเสียงที่ได้ยิน เริ่มจากคนเดียว จนกลายเป็นคู่ เป็นกลุ่ม อาจจะไม่มีเรื่องราวชัดเจน เน้นการถ่ายทอด เคลื่อนไหวร่างกาย ตามความรู้สึกจากดนตรีที่ได้ยิน

จริงๆแล้วก็มาจาก exercise ตอนแอนเรียนบัลเลต์ แอนลองคิด เพื่อมาประยุกต์ใช้สอนเทคนิค acting ให้นิสิต dance ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจทีเดียวค่ะ ดนตรีจึงเป็นทั้งสื่อ ทั้งแรงบันดาลในขณะเดียวกัน

 

สำหรับเรื่อง DVD ของโครงการ ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ ที่เสนอจะกรุณาสนับสนุนเรื่องการทำแผ่นเผยแพร่ในโรงเรียนในเขตพื้นที่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ประสบการณ์และแรงบันดาลใจเด็กๆ เกี่ยวกับดนตรี

แอนได้คิดเรื่องนี้เช่นกันค่ะ แค่ได้ไอเดียและแรงสนับสนุนก็เป็นความกรุณามากแล้วค่ะ ส่วนทุนนั้นแอนคิดว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง สามารถค่ะ

การเรียนดนตรีคลาสสิคเพื่อเป็นพื้นฐาน คงจะคล้ายกับการเรียนบทละครกรีกและshakespeare นะคะ ผู้ที่ศึกษาบทละครเหล่านี้ก็จะสามารถนำองค์ความรู้ไปเลือกใช้ ประยุกต์ใช้ กับการเขียน การแสดง การกำกับละครสมัยใหม่ ตอนที่แอนเรียนแรกๆ บางทีก็รู้สึกว่ายากจังเลย อะไรไม่รู้มากมายเต็มไปหมด แต่ต่อมา ก็ตระหนักได้ว่า ไม่ว่าจะไปทำละครแนวทดลอง ร่วมสมัย หรือ โมเดิร์นแค่ไหน ก็ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากการศึกษาบทละครคลาสสิคเหล่านี้ทั้งนั้น หนีกันไม่พ้นค่ะ ดังนั้นถ้าพื้นคลาสสิคแน่น ไปต่อยอดแนวอื่นๆจะช่วยเสริมกันอย่างยิ่ง แอนทดลองแล้วก็เป็นเช่นนั้นค่ะ

ยินดีมากเลยนะคะ ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน blog นี้

หอแต๋วแตก เป็นภาพยนตร์ตลกค่ะ คงไม่ใช่ comedy หรือ สุขนาฏกรรม

แต่ออกเป็นประเภทที่เรียกว่า Farce หรือ ตลกโปกฮา เสียมากกว่า ค่ะ

ลักษณะละคร และภาพยตร์ไทยก็สะท้อนและเอาใจผู้บริโภคคนไทย กลุ่มผู้ชมที่ยอมซื้อตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์ไทย หรือ ยอมซื้อ vcd และ dvd มาเก็บไว้ดู 

การสร้างภาพยนตร์ หรือ ละคร ใประเทศไทย ผู้สร้างต้องอาศัยมากกว่าสมองและประสบการณ์ เพราะไม่มีทุนก็สร้างไม่ได้ ผู้ให้ทุนก็หวังว่าหากลงทุนแล้วก็ต้องคุ้ม หรือ ได้กำไร หากเห็นอยู่แล้วว่า มีประโยชน์แต่ขาดทุนในแง่ธุรกิจ ก็ไม่มีใครเอาด้วย

ถ้าภาพยนตร์ไทย สะท้อนรสนิยมของผู้บริโภคซึ่งเป็นคนไทย ก็น่าสังเกตุว่าเพราะอะไรเราจึง "นิยม" เสพย์งานลักษณะนี้ --หนังผี หนังตลก หนังรักกุ๊กกิ๊กวัยใสฯ

แต่ก็มีภาพยนตร์บางเรื่องที่แสดงพัฒนาการ และความพยามที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภค เช่น มนต์รักทรานซิสเตอร์ โหมโรง ฯ และเรื่องอื่นๆที่เป็นภาพยนตร์ได้กล่องแต่ไม่ได้เงิน ขาดทุนเละเทะหรือ แม้แต่ห้ามฉายในเมืองไทย แต่ไปได้รางวัลในเมืองนอก

หากผู้สร้างต้องการคนดู การพึ่งระบบ star system ก็คล้ายกับรับประกันความปลอดภัย คือ ดารานำเป็นที่รู้จัก อยู่ในกระแส ก็รับประกันจำนวนคนอยากเข้ามาชมได้ในระดับหนึ่ง

นางแบบโน๊ะเน๊ะน่าใหม่ หรือ เซ็กซี่ขาดใจ ก็จะมาดึงความสนใจ ทำให้ plot เรื่องพื้นๆ ธรรมดาๆ นักแสดงตลกเซ็ทเดิม ดูครึกครื้นขึ้น เพราะคนดูตีตั๋วมาดูดาราที่อยู่ในกระแสขณะนั้น แสดงในบทบาทที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น เรื่องหอแต๋วแตกที่ดาราสาวสวยเซ็กซี่มารับบทเป็นผีสาวประจำหอพัก

ไม่ได้แปลว่า แสดง ไม่ดีนะคะ ดาราอาจจะมีความสามารถ ใช้ได้ทีเดียว plot ก็อาจจะน่าสนุก แต่เมื่อตัดสินใจจะต้องจ่ายเงิน และบังคับตนเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ ติดต่อกันเป็นชั่วโมง หากมีภาพยนตร์ต่างประเทศให้เลือกอีกหลายเรื่อง ซึ่งน่าจะให้ประสบการณ์กับคนดูในระดับที่ต่างออกไป ภาพยนตร์ไทยก็คงจะเจาะกลุ่มลูกค้าหน้าเดิม ที่ต้องใจกับดารา รู้สึกว่าตนเชื่อมโยงประสบการณ์ได้ และแฮปปี้ที่จะจ่ายค่าตั๋วเข้าไปดู

ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ ภาพยนตร์ไทยจะเล่าเรื่อง ด้วยการพูด พูด พูด และพูด หาก foward ภาพไปอย่างเร็ว จะเห็นว่า มีฉากที่ตัวละครอยู่กับที่นานมาก และแทบจะพูดกันตลอดเวลา dialogue ที่ใช้ในภาพยนตร์ตลกโปกฮาก็มักจะเต็มไปด้วยคำหยาบคาย สองแง่สองง่าม คำด่าผรุสวาท น่าสนใจที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นมุขตลก เรียกเสียงหัวเราะ--ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็เป็นจุดขายของภาพยนตร์เรื่องนั้น

ในส่วนของละครโทรทัศน์ ปัจจุบันมีพัฒนาการไปมาก ในแง่ของการตีความตัวละคร ที่เริ่มเป็นสีเทามากกว่าขาวดำ คือ แม้จะแบ่งพระเอก นางเอก ตัวร้าย อยู่เช่นเดิม แต่ในตัวพระเอก นางเอก ก็มีข้อผิดพลาดบกพร่อง เช่นกัน ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปเสียหมด ในขณะที่ตัวร้าย ก็มีเหตุผลในการกระทำของตนมากขึ้น ไม่ได้กรี๊ดไร้เหตุผลไปเสียทีเดียว

แม้ plot เรื่อง หรือ ความขัดแย้งจะเกิดแบบ pattern --อาทิ แม่ผัวลูกสะใภ้ เมียหลวง-เมียน้อย อาการตบจูบระหว่างคู่พระ-นาง แต่การหาเหตุผล แรงจูงใจให้ตัวละครก็ทำให้เรื่องมีมิติขึ้น คนดูก็จะคิดเปรียบเทียบประสบการณ์ในชีวิตตนได้มากขึ้น เพราะมนุษย์ จริงๆแล้วก็ไม่ได้มีนิสัยสุดขั้วแบบ ดีเลว ขาวดำ คนดีก็ทำสิ่งที่เลวได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น เรื่องบัวปริ่มน้ำ รังนกบนปลายไม้ ฯลฯ

อาจต้องอาศัยเวลาในการนำพา หรือ สร้างรสนิยม ในการเสพย์งานให้กับผู้ชม อย่างไรก็ดี คงจะต้องมีจุดเริ่มต้น ซึ่งละครโทรทัศน์ก็น่าจะอยู่ที่จุดเริ่มต้นนั้นค่ะ หากพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องบท plot เรื่อง การตีความบท ความสามารถทางการแสดงของนักแสดง และรสนิยมของผู้ชมได้ ละครโทรทัศน์ไทยก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีค่ะ

 

P

สวัสดีครับคุณแอน

  • ฟังจากที่คุณแอนเล่า สาขาดุริยางคศิลป์ของ มมส. น่าจะเป็นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเรียนการสอน คุณแอนเล่าละเอียดขึ้นเป็นบันทึกเดี่ยวของคุณแอนได้เลยครับ เผื่ออาจารย์สถาบันอื่นมาอ่านเจอเขาอาจได้แรงบันดาลใจไปทำบ้าง
  • ผมคลิกลิงก์เข้าไปที่ http://www.music.msu.ac.th/web ไม่ได้ครับ แต่พอลบคำว่า web ออกเข้าได้ แต่ก็ได้หน้านั้นหน้าเดียว ดูดีครับ เห็นปุ๊บรู้ทันทีว่าเป็น artistic website
  • ผมก็เพิ่งทราบครับว่า ผู้ที่เรียนทางการแสดงต้องเรียนการแสดงคลาสสิคเป็นพื้นฐานเหมือนผู้เรียนดนตรี ความจริงผมไม่ได้มีความรู้เรืองดนตรีหรือการแสดงอะไรมากเท่าลูกชาย ก็อาศัยที่เขาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง อ้อ ผมเคยเป่าฟลุตสมัยเป็นนักเรียน และเล่น duo กับเปียโนกับลูกสนุกๆ ที่บ้านเป็นบางครั้งเมื่อลูกเริ่มเรียนดนตรีใหม่ๆ พอเขาโตแล้วก็ไม่ได้เล่นด้วยกันอีก เขาคงไม่สนุกที่จะเล่นกับผมอีก เพราะเพลงยากผมก็เล่นไมได้ แจ็สก็เล่นไม่เป็น เพราะ improvise ไม่ได้ อาศัย score อย่างเดียวเล่นแจ็สไม่ได้ และก็อ่อนซ้อมอีกต่างหาก
  • เมื่อวันก่อนสิ้นปี ๔๙ ผมมีประชุมรายงานความก้าวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มีคุณหมอประเวศ วะสี อยู่ด้วย ท่านแนะนำหลายเรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่เราตีโจทย์กันไม่ค่อยแตกคือท่านแนะนำให้นำเสนอเรื่องดีของโครงการผ่านศิลปะรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้มากกว่า จนถึงตอนนี้เลยยังไม่ได้ทำอะไรกันเลยในเรื่องนี้ เมื่อได้อ่าน comment ของคุณแอนที่มีต่อหนังต่อละครบ้านเราแล้ว ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า เราอาจให้นักศึกษาของเรา "เล่าเรื่อง" ดีๆ จากการเข้าเป็นนักศึกษาในโครงการนี้ ด้วยการแสดง ด้วยละคร ด้วยหมอลำ หนังตะลุง มโนรา หรือแม้แต่การแต่งเพลงขึ้นมาร้องกัน (อายุเฉลี่ยนักศึกษาผมคือ 41 ปี)

ความทรงจำ ความประทับใจ เป็นส่วนสำคัญของแรงบันดาลใจ แอนเชื่อว่าหากแอนมีโอกาสได้ เล่น ดนตรี duo กับที่บ้าน ก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่ติดอยู่ในใจตลอดไปค่ะ 

คุณพ่อแอนเดินทางบ่อยและมักจะมีของฝากเป็นชิ้นงานศิลปะ เช่น ภาพวาด งานแกะสลัก งานช่างทองเหลือง รูปปั้น พรมทอมือฯ จากประเทศที่เดินทางไปอยู่เสมอ แม้เราจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวด้วยกันบ่อยนัก แต่เรื่องเล่าจากชิ้นงานเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่สร้างความชอบ ความนิยม และความสนใจด้านศิลปะ 

หรือ เวลาที่คุณแม่ไปเฝ้าแอนเรียนบัลเลต์ เปียโน เราไม่มีโอกาสได้เต้น หรือ เล่นดนตรี duo กัน:) แต่ก็เป็นความรู้สึกอุ่นใจที่เสริมให้ยิ่งรู้สึกว่า เราสามารถทำได้ มีผู้ที่เชื่อในตัวเราอยู่เสมอ

หากนักศึกษาในโครงการของอาจารย์มีวัยวุฒิมาก การทำกิจกรรมการแสดงก็น่าจะยิ่งคึกคักนะคะ อาจจะเลือกถ่ายทอดเรื่องราวเป็นการแสดงสดชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือ record แบบหนังสั้น มิวสิควีดีโอ ก็น่าสนใจนะคะ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่อาจจะเขิน หากแสดงสด อยากจะได้ทดลอง เลือก ตัดต่อ ให้ได้อย่างใจก่อน การนำเสนอลักษณะนี้ก็ช่วยได้ค่ะ

 

 

 

 

โปรด ช่วย กรุณา วาน ขอ นำนิทานที่อ่าน7-10นาทีจบ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หายาก มีคำบรรยายเนื้อเรื่อง+ตัวละครมี4ตัว-10ตัว(รวมตัวประกอบฉาที่สำคัญด้วยน้า)+ทุกตัวละครหลักๆมีบทพูด มาแสดงที่เว็บนี้ด้วย

*0* T~T" ๓3๓

จากชาวTR+กษัตริย์เฮนรี่แห่งTR

ถึงProgramerของเว็บนี้จ้า

ปิเอโร่อุตส่าห์ให้เกียรติวานมาน๊ะจ๊ะ ขอให้คุณมีความสุขเถิด

ภาวนา

ให้เราภาวนา ขอให้ข้ามีความสุขเถิด โปรดสดัดฟังเถิดพระเจ้าข้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท