สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน ... (โยชิโนริ โนงุจิ)


"เวลาที่คนเราได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่นคือ เวลาที่อันตรายที่สุด"

หนังสือแปลเล่มหนึ่ง ชื่อ "มองด้วยใจ" ที่เขียนโดย "โยชิโนริ โนงุจิ" แปลโดย "ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ" ซึ่ง "โยชิโนริ โนงุจิ" เป็นผู้เขียนหนังสือขายดี เช่น กฎแห่งกระจก, EQ Note ความสำเร็จเริ่มต้นที่หัวใจ, กฎแห่งกระจก ฉบับการ์ตูน ฯลฯ

 

 

หน้าปกมีสีชมพูสด หากจะบอกตามตรงว่า ผมเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือแปลเลย เพราะยิ่งอ่านยิ่งไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยซึบซับความเป็นวัฒนธรรมของผู้เขียนเท่าไหร่ ยิ่งเกิดมีผู้แปล แปลก๊อก ๆ แก๊ก ๆ เปิดรอบเดียวก็จะไม่หยิบมาอ่านต่อ

แต่เล่มนี้ เกิดอะไรขึ้นกับผมก็ไม่ทราบ อ่านแล้วมันตรงเข้ามาในหัวใจเลย หรือว่าวัฒนธรรมตะวันออก มันคือ วัฒนธรรมเอเชีย ทีเราสามารถสัมผัสได้โดยตรงและง่ายต่อความเข้าใจก็ไม่ทราบนะครับ

ตอนหนึ่งในหนังสือที่จะยกตัวอย่างมาในบันทึกนี้ ผมประทับใจเป็นการส่วนตัว

เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้พบคนประเภทนี้แล้ว เนื้อหาในหนังสือตอนนี้มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราสามารถจะวิเคราะห์บุคคลลักษณะนี้ได้อย่างชัดเจน และมีความน่าจะเป็นค่อนข้างมาก และพวกเราเองนี่แหละที่กล่อมเกลาให้เขาเป็นคนเช่นนี้

 

ลองสัมผัสกับงานเขียนตอนนี้ดูนะครับ ...

 

 

สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน

 

ทุกวันนี้ผมได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากมาย ทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ หรือนักเขียน ไม่ว่าพวกเขาจะประกอบอาชีพใดก็ตาม ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนต่างก็มี "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" ด้วยกันทั้งสิ้น

ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ละสายอาชีพ มักเป็นคนที่ไม่ลุ่มหลงในความสามารถหรือตำแหน่งของตนเอง แต่พูดเพียงว่า "ตนยังอ่อนหัดนัก" ไม่มีใครโอ้อวดในความสามารถหรือผลงานของตนเองเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อได้สัมผัสกับความสงบเสงี่ยมเจียมตัวเช่นนั้น ผมก็เกิดความรู้สึกชื่นชม ในขณะเดียวกันก็รู้ซึ้งถึงความต่ำต้อยของตัวเองและอยากจะปรับปรุงตัวใหม่ทุกครั้งไป

(เมื่ออ่อนน้อมถ่อมตน ใครก็จะชื่นชมจริง ๆ ครับ เพราะจะเอาชนะใจเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี : ผู้เขียนบันทึก)

 

คำสอนที่มีชื่อเสียงของ "เหลาจื่อ" บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "ความดีอันสูงสุดเปรียบเสมือนกับน้ำ" ความดีอันสูงสุด หมายถึง การดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นก็เปรียบเหมือนกับน้ำ

โดยทั่วไปแล้วคนเรามักต้องการให้ผู้อื่นชื่นชมและยกย่องตนเอง ทุกครั้งที่เราพบปะผู้คนจึงพยายามแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่น

ทว่าตรงกันข้ามกับน้ำที่มักพาตัวเองไหลลงสู่ที่ต่ำ จึงไม่มีการแข่งขันกับใคร จุดเด่นของน้ำคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความพยายามที่จะพาตัวเองลงสู่ที่ต่ำ และมีความยืดหยุ่นพร้อมเปลี่ยนแปลงตนเองได้ทุกรูปร่าง และนั่นคือ วิถีการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ซึ่งเหลาจื่อสอนไว้

 

ตามปกติ เมื่อคนเราประสบความสำเร็จจากการทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือมีผลงานในระดับหนึ่งแล้ว ก็มักหยิ่งทะนงตนว่า "เราเก่งถึงได้ประสบความสำเร็จ" และอยากโอ้อวดความสามารถ ตำแหน่ง และผลงานเหล่านั้น

ทว่าเมื่อเราตกอยู่ในสถานภาพที่ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้เราไม่ย้อนกลับมามองวิธีการดำเนินชีวิตของตนเอง จนไม่อาจเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งได้

ในทางกลับกัน คนที่ก้าวไปถึงระดับชั้นแนวหน้าแล้วจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงย้อนกลับมามองตนเองอยู่เสมอ และสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 


แล้วความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ว่านี้เกิดขึ้นมาจากไหนกัน ผมคิดว่า ต้นกำเนิดของความอ่อนน้อมถ่อมตนมาจาก 2 สิ่งสำคัญ ต่อไปนี้

 

สิ่งแรกคือ "จิตวิญญาณแห่งการขอบคุณ" ซึ่งเกิดจาก "ความรู้สึกขอบคุณจากใจจริงที่เกิดขึ้นพร้อมกับความสงบเสงี่ยมเจียมตัว" คือการไม่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยกำลังของตนเอง" แต่คิดว่า "เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะน้ำ อากาศ และดวงอาทิตย์ เพราะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ และเพราะผู้คนมากมายที่มีโอกาสได้มาพบกัน"

ความรู้สึกขอบคุณนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ว่า "เพราะเกิดเรื่องดี ๆ แล้วถึงรู้สึกขอบคุณ" แต่เป็นความรู้สึกที่ว่า "การดำรงชีวิตอยู่ได้ในขณะนี้ก็นับเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณแล้ว" ซึ่งเป็นความรู้สึกขอบคุณที่ไร้เงื่อนไข เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกขอบคุณอันหาที่สุดมิได้

ผู้ที่มีจิตวิญญาณเช่นนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ก็จะไม่คิดว่าเป็นฝีมือของตนเองอยู่เพียงคนเดียว แต่จะรู้สึกขอบคุณเพราะคิดว่าสิ่งนั้นคือ หน้าที่หรือภารกิจของตนเอง และมีจิตสำนึกว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะปัจจัยหลาย ๆ สิ่ง การได้ทำหน้าที่ของตัวเองเช่นนี้ช่างมีความสุขจริง ๆ เราอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่เพื่อตอบแทนบุญคุณของสังคม"

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่คิดว่าคนอื่นเป็นคู่แข่ง หรือแม้จะได้เป็นที่หนึ่งแล้วก็จะรู้สึกพอและหยุดได้เพียงเท่านั้น อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่มีจิตสำนึกเช่นนี้ที่จะสามารถก้าวขึ้นไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

(มันเป็นการขอบคุณด้วยหัวใจของตัวเราเอง ไม่ใช่ ขอบคุณเพราะเป็นเพียงกุศโลบาย เพื่อหวังประโยชน์ในภายภาคหน้าเท่านั้น : ผู้เขียนบันทึก)

 


ต้นกำเนิดแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สอง คือ "ความมั่นใจอย่างแท้จริง"

เมื่อเราขาดความมั่นใจในตัวเอง เราก็จะพยายามแต่งเติมตัวเองด้วยความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นใช้ไม่ได้ จึงต้องการรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น

และคิดว่าหลักฐานเหล่านั้น (ยศถาบรรดาศักดิ์ ผลงาน และความสามารถ) เป็นส่วนหนึ่งของตัวเองโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ คิดว่าเอกลักษณ์ (ลักษณะที่แสดงความเป็นตนเอง) ของตน อยู่ที่ความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน

ดังนั้นจึงพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตนเอง และเมื่อได้สิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในมือ ก็จะจมอยู่กับภาพลวงตาที่ว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ในกรณีนี้เขาจะคิดว่า "เรามีคุณค่าเพราะมีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงาน" ทำให้เขาดูถูกคนที่ยังไม่สิ่งเหล่านั้น และห่างไกลจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจนกลายเป็นคนอวดดีไปในที่สุด

ในทางกลับกัน คนที่มีความมั่นใจอย่างแท้จริงจะรู้สึกว่า "ไม่ต้องพึ่งพาความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงาน เพราะคิดว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่วิเศษ" จึงไม่มองว่าตัวเองและความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือผลงานเป็นสิ่งเดียวกัน แม้จะประสบความสำเร็จ มีความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ และผลงานอยู่ในมือแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่หลงงมงายว่า "เราเป็นคนเก่งแล้ว" ตรงกันข้ามกลับรู้สึกขอบคุณว่า "น่าขอบคุณจริงที่เราได้รับสิ่งต่าง ๆ มากมาย"

ความมั่นใจอย่างแท้จริงนี่เองที่ทำให้เขามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกต่ำต้อย แต่เปล่งประกายอยู่ภายใต้ความสงบเสงี่ยมเจียมตัวที่คนรอบข้างสามารถรับรู้ได้

(เมื่อความสำเร็จมากองอยู่ตรงหน้าหลายครั้ง คนเรามักจะหลง เสพ และ ติดได้อย่างง่ายดาย และมักจะติดสินใจเหยียบหัวใครก็ได้ที่มาคิดไม่ตรง คิดขัดแย้งกับตนเอง : ผู้เขียนบันทึก)

 

 

ไนติงเกล กล่าวไว้ในผลงานของเธอว่า "เวลาที่คนเราได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่นคือ เวลาที่อันตรายที่สุด" และในคัมภีร์ไช่เกินถาน ก็มีคำกล่าวที่มีความหมายคล้ายคลึงกันว่า "ยิ่งชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีเท่าใด ก็ยิ่งต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวมากขึ้นเท่านั้น"

เวลาที่ชีวิตเราดำเนินไปได้ด้วยดีและได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนรอบข้าง เรามักจะลืมความอ่อนน้อมถ่อมตนไป ดังนั้น เราจึงควรตระหนักในข้อนี้ไว้อยู่เสมอ

(การยกย่อง สรรเสริญ เป็นสิ่งดี แต่หากเราให้มากเกินไป ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอ เพราะจะทำให้คนเรายกย่อง สรรเสริญนั้น หลงตัวเอง อวดดี ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ คิดแต่ว่าเพื่อให้กำลังใจเขา เพื่อให้เขาสบายใจในสิ่งที่เขาคิด ไม่ต่างอะไรไปจากการเลี้ยงลูกแล้วตามใจ ตามใจจนเสียความเป็นคนดีไป สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้เขาเปลี่ยนไป ไม่เหมือนคนเดิมที่เราเคยรู้จัก)

 

ทางตรงกันข้าม เมื่อเราพบกับความยากลำบากหรือภาวะวิกฤตในชีวิต อาจพูดได้ว่า นั่นเป็นโอกาสอันดีที่เราจะทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นโอกาสทำให้เราได้รู้ซึ้งว่าการมีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกตินั้นเป็นเรื่องน่าขอบคุณแค่ไหน และยังเป็นโอกาสให้เราได้ย้อนกลับไปมองวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง และเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่งด้วย

 

ในชีวิตจริง หากเรามี "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" ทั้งในเวลาที่ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีหรือแม้ในภาวะวิกฤตได้ เราก็อาจเป็นคนหนึ่งที่เรียกได้ว่า เป็นคนเก่งชั้นแนวหน้าเช่นกัน

 

................................................................................................................................................

 

ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ เครื่องหมายสำคัญของคนเก่ง คนดี ที่รู้จักถ่อมตน พร้อมที่จะเป็นน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมกับความรู้ใหม่ ๆ เสมอ

แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเก่งเหล่านั้นเปลี่ยนไป

นั่นแสดงว่า เขาได้เกิดความหลงในความเก่งของตัวเอง คิดว่า ตนเองเก่งที่สุดในโลก หูก็จะปิด ฟังใครไม่เป็น ใครพูดอะไรก็จะไม่ฟังอีกต่อไป เพราะเชื่อว่า ตนเองถูกที่สุด

คนแบบนี้สมัยก่อนเขาเป็นคนดีนะครับ เมื่อความหลงสิงอยู่ในตัวแล้ว เขาจะกลายเป็นอีกคนอย่างน่าตกใจ

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นนะครับ

เช่น เรามีเพื่อนที่เก่ง ๆ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมสักคนหนึ่ง เพราะเรายอมรับในความเก่งกาจของเขา เราจึงดูแลเขาเป็นอย่างดี เขาอยากได้อะไร เราก็หามาให้ หรือไม่ก็ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการทันทีทันใด เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ เข้า ความหลงในตน ย่อมเป็นเรื่องที่ติดอยู่ เชื่ออยู่ จึงเป็นเรื่องที่ง่ายต่อการหลงของตัวเขาเอง

นิสัยเขาจะเปลี่ยนไปครับ ใครขัดใจไม่ว่าจะเป็นใคร เขาจะตัดความสัมพันธ์นั้นทิ้งได้อย่างง่ายดาย ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันมากมาก่อนก็ได้นะครับ

 

คิดถึงเรื่อง "การให้กำลังใจ" ในโลกออนไลน์นะครับ

เราควรใช้ "สติ" ในการให้กำลังใจให้มากขึ้นไหมครับ

หรือมันติดมือ คลิกแป๊บเดียวก็ขึ้นแล้ว บางทีมันอาจจะทำร้ายคนที่เราให้อย่างไม่รู้ตัวด้วยความเคยชินแบบนี้ก็ได้นะครับ

 

"กำลังใจ" สร้างความสัมพันธ์ที่ดีครับ

แต่การสอนให้เพื่อน "เปิดใจ" ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จะดีกว่าหรือเปล่าครับ

การแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ตามความเป็นจริง ความรู้ย่อมขยายฐานออกไปอย่างกว้างขวางและมีแนวทางที่ถูกต้อง ไม่เกิดความหลงผิดอย่างง่ายดาย

เพราะมันอาจจะเกิดจากความมักง่ายของเราเองก็ได้นะครับ

ไม่ใช่เพียงแค่คลิก Like , ให้กำลังใจ หรือ ให้ดอกไม้ ???

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือดี ๆ

โนงุจิ, โยชิโนริ (ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ แปล).  มองด้วยใจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ How-To, 2553.

 

หมายเลขบันทึก: 453301เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะอาจารย์ 'Wasawat Deemarn'

อ่านปริทรรศน์หนังสือ 'สิ่งที่คนเก่งชั้นแนวหน้าทุกคนมีเหมือนกัน'

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นลักษณะนิสัยประจำตัวของชาวญี่ปุ่นโดยแท้ อ่อนน้อมเมื่อได้รับคำชมเป็นไปโดยมารยาท ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ใครอย่ามาแตะ...สู้หัวชนฝาเลยแหละ

มาถึงเรื่องการให้ดอกไม้ ......เวลาเข้าไปอ่านบันทึกของสมาชิกท่านอื่น เห็นมีตอบขอบคุณคนที่ให้ดอกไม้กำลังใจ ก็กลับมาตอบขอบคุณกลับไปบ้าง เพราะแต่เดิมก็ไม่เคยตอบกลับ ความรู้สึกไม่ยุ่งยากอะไรที่จะตอบ แต่ข้อความมันซ้ำกัน มีคำว่าขอบคุณฟุ่มเฟื่อยมาก ยังคิดอยู่ว่าจะไม่ตอบขอบคุณกลับในการให้ดอกไม้

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์...ขอมอบดอกไม้ให้ด้วยนะคะ แต่ไม่ต้องตอบกลับ  เพราะรู้ว่ายังไงอาจารย์ก็ต้องอ่านค่ะ... 

 

"จิตวิญญาณแห่งการขอบคุณ" + "ความมั่นใจอย่างแท้จริง"

คิดว่าการขอบคุณในระดับจิตสำนึก คือการยอมรับ เวลาทำงานร่วมกันคะ เรามั่นใจในศักยภาพบางอย่าง แต่หลายอย่างก็ต้องพึ่งพาคนอื่น

บทความนี้ดีจัง..อ้าวเผลอให้ดอกไม้ไปแล้ว


ขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์ ดร. พจนา - แย้มนัยนา ;)...

ไม่ฟุ่มเฟือยครับ ... ตอบทันที ;)...

อ้าว เผลอใจมาแล้วเหรอครับ คุณหมอ CMUpal ;)...

ยินดีน้อมรับด้วยความเต็มใจทันใดครับ

"เวลาที่คนเราได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้อื่นคือ เวลาที่อันตรายที่สุด"

...

เห็นด้วยกับวาทะประโยคนี้มากครับ

ขอบคุณมากครับ คุณ แผ่นดิน ;)...

วาทะนี้มีอายุหลายร้อยปีแล้วครับ

กล่าวโดย ฟลอเรนต์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดการพยาบาลของโลก

แต่เสียดายที่หลายคนขาดสติรู้ตัวเอง

ขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์ ดร.ภิญโญ ;)...

ดีจริง ๆ ด้วย ยิ่งอ่านยิ่งชอบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท